กรุงเทพฯ--7 ก.พ.--IR PLUS
บมจ. ชโย กรุ๊ป หรือ CHAYO ผู้เชี่ยวชาญด้านลงทุนบริหารสินทรัพย์และติดตามทวงถามหนี้ เตรียมขยายการเติบโต ควงที่ปรึกษาทางการเงิน จากบล.เออีซี ประกาศความพร้อมเดินหน้าเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ เสนอขายหุ้น 140 ล้านหุ้น พาร์หุ้นละ 0.50 บาท เงินที่ระดมทุนได้ส่วนใหญ่จะใช้ในการประมูลซื้อกองสินทรัพย์ด้อยคุณภาพทั้งที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกันเข้ามาบริหาร ส่วนที่เหลือ จ่ายชำระคืนเงินกู้ยืมสถาบันการเงิน และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงาน เพื่อสร้างการเติบโตธุรกิจอย่างโดดเด่นและมั่นคงในอนาคต โดยคาดว่าเข้าจดทะเบียนภายในกลางปีนี้
นายชนะชัย จุลจิราภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เออีซี จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินของบริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CHAYO กล่าวว่า หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) ได้เริ่มนับหนึ่งแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (ไฟลิ่ง) ของ CHAYO เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2561 ที่ผ่านมา ขณะนี้บริษัทฯ มีความพร้อมเป็นอย่างยิ่ง ในการเข้ามาระดมทุนเพื่อขยายการเติบโตในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ซึ่งคาดว่าจะสามารถเข้าซื้อขายได้ภายในกลางปี 2561 นี้
ปัจจุบัน บมจ.ชโย กรุ๊ป มีทุนจดทะเบียนที่ออกและเรียกชำระแล้ว 210 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 420 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนครั้งนี้จำนวน 140 ล้านหุ้น (คิดเป็นร้อยละ 25 หลังจากการจำหน่าย) บริษัทฯจะมีทุนจดทะเบียนที่ออกและเรียกชำระแล้วเป็น 280 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 560 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท โดยมีตระกูลยศะสินธุ์ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ถือหุ้นสัดส่วนร้อยละ 94.98 และภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO สัดส่วนการถือหุ้นลดลงเหลือร้อยละ 71.24
CHAYO บริหารงานโดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจหลักที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนและการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ รวมถึงการให้บริการติดตามและทวงถามหนี้ ให้แก่สถาบันการเงินและหน่วยงานต่างๆ โดยสามารถแบ่งธุรกิจเป็น 3 ประเภท ประกอบด้วย ธุรกิจลงทุนและบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ธุรกิจเจรจาติดตามทวงถามและเร่งรัดหนี้ และธุรกิจศูนย์บริการข้อมูลลูกค้า ซึ่งรวมถึงการจำหน่ายสินค้าและบริการให้กับบริษัททั่วไป และบริษัทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารชั้นนำของประเทศ
"ทีมผู้บริหารของบริษัทฯ มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในธุรกิจติดตามหนี้มาเป็นระยะเวลากว่า 20 ปี ก่อนที่จะขยายธุรกิจมาลงทุนซื้อหนี้ด้อยคุณภาพเข้ามาบริหารในปี 2557 ทั้งหนี้ที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน จากนั้นในปี 2559 บริษัทฯ ได้จัดตั้งศูนย์บริการข้อมูลลูกค้า หรือ Call Center เพิ่มเติม เพื่อขยายขอบเขตการให้บริการให้ครอบคลุมความต้องการลูกค้าของบริษัทฯ รวมทั้ง ให้บริการแก่บริษัททั่วไปที่ต้องการทีม Call Center มืออาชีพเข้ามาช่วยดูแลสนับสนุนการขายและการตลาด จึงมองว่า CHAYO ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก การเข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ mai ครั้งนี้ จะเป็นการปลดล็อคในเรื่องเงินทุน และเพิ่มขีดความสามารถในการเข้าซื้อกองหนี้ด้อยคุณภาพเข้ามาบริหาร สร้างความเชื่อมั่นต่อสถาบันการเงินและหน่วยงานต่างๆ อีกทั้ง ยังเป็นธุรกิจที่มีอัตรากำไรดี จึงมองว่า CHAYO จะเป็นอีกหุ้น Growth Stock ที่น่าสนใจสำหรับการลงทุนที่มีคุณภาพ" นายชนะชัย กล่าว
ด้านนายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CHAYO เปิดเผยว่า บริษัทฯ
มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจเจรจาติดตามทวงถามและเร่งรัดหนี้มาอย่างยาวนาน มีทีมงานที่มีความรู้ความสามารถ และบริหารจัดการด้วยระบบคุณธรรมเพื่อมุ่งหาทางออกให้ลูกหนี้เป็นสำคัญ เป็นจุดแข็งในการต่อยอดความสำเร็จ และเข้าไปรุกในธุรกิจลงทุนและบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ รวมทั้งธุรกิจศูนย์บริการข้อมูลลูกค้า สร้างความมั่นคงแข็งแกร่งให้แก่ CHAYO มากยิ่งขึ้น โดยมีบริษัทย่อย 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท บริหารสินทรัพย์ ชโย จำกัด (Chayo AMC) และ บริษัท ชโย คอลเซ็นเตอร์ จำกัด (Chayo Call Center)
เพื่อขยายการเติบโตอย่างยั่งยืน บริษัทฯ จึงนำหุ้นเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน (IPO) จำนวน 140 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท คิดเป็นร้อยละ 25 ของจำนวนหุ้นที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO ในครั้งนี้ โดยเสนอขายต่อประชาชนทั่วไปจำนวน 105 ล้านหุ้น เสนอขายต่อผู้มีอุปการคุณของบริษัทฯ จำนวนไม่เกิน 21 ล้านหุ้น เสนอขายต่อผู้บริหาร (ที่ไม่ใช่กรรมการ) และพนักงานของบริษัทฯ จำนวนไม่เกิน 7 ล้านหุ้น และเสนอขายต่อบุคคลที่มีความสัมพันธ์กับบริษัท จำนวนไม่เกิน 7 ล้านหุ้น โดยมีบริษัทหลักทรัพย์ เออีซี จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงินของบริษัทฯ
เงินที่ได้จากการระดมทุนนำไปใช้ประมูลซื้อกองสินทรัพย์ด้อยคุณภาพทั้งประเภทที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกันประมาณร้อยละ 65 - 80 ส่วนที่เหลือนำไปจ่ายชำระคืนเงินกู้ยืมสถาบันการเงินราวร้อยละ 15 - 25 และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานราวร้อยละ 5 - 10 ของจำนวนเงินที่ได้จากการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ประชาชนทั่วไปในครั้งนี้ หลังหักค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งระยะเวลาในการใช้เงินอยู่ภายในปี 2561
ผลประกอบการในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา 2557- 2559 บริษัทฯ มีรายได้จากการดำเนินงานทั้งสิ้น 53.90 ล้านบาท 141.23 ล้านบาท และ 197.14 ล้านบาท ตามลำดับ คิดเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นร้อยละ 162.01 ในปี 2558 และร้อยละ 39.58 ในปี 2559 ล่าสุดงวด 9 เดือน ปี 2560 บริษัทฯ มีรายได้จากการดำเนินงานรวมทั้งสิ้น 155.35 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.21 จากงวดเดียวกันของปีก่อน โดยรายได้จากการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นมีสาเหตุมาจากการให้บริการติดตาม เร่งรัดหนี้สินที่เพิ่มขึ้น รวมไปถึงธุรกิจศูนย์บริการข้อมูลลูกค้าซึ่งเริ่มดำเนินงานหลังจากไตรมาสที่ 3/2559 เป็นต้นมา สำหรับสัดส่วนรายได้หลักของบริษัทฯ ในงวดดังกล่าว มาจากธุรกิจลงทุนและบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพร้อยละ 78.43 ธุรกิจให้บริการเจรจาติดตามทวงถามและเร่งรัดหนี้ ร้อยละ 17.59 ธุรกิจศูนย์บริการข้อมูลลูกค้าร้อยละ 3.74 ส่วนที่เหลือเป็นรายได้อื่นๆ ขณะที่กำไรสุทธิย้อนหลังนับตั้งแต่ปี 2557-2559 อยู่ที่ 18.81 ล้านบาท 68.94 ล้านบาท 70.89 ล้านบาท และล่าสุดกำไรสุทธิจากการดำเนินงานในงวด 9 เดือน ปี 2560 อยู่ที่ 45.27 ล้านบาท ตามลำดับ และมีอัตรากำไรขั้นต้นในปี 2557 – 2559 อยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 61.81 ร้อยละ 72.90 และร้อยละ 68.75 ตามลำดับ ส่วนงวด 9 เดือน 2560 อยู่ที่ร้อยละ 65.58
"CHAYO มั่นใจว่าการเข้าจดทะเบียนในครั้งนี้ จะสร้างความเชื่อมั่นต่อลูกค้าของเรา และสนันสนุนการเติบโตในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะธุรกิจลงทุนบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีอัตรากำไรที่ดี และมีแนวโน้มการเติบโตต่อเนื่องในอนาคต
โดยบริษัทฯ ตั้งเป้าจะซื้อหนี้ด้อยคุณภาพประเภทมีหลักประกันประมาณร้อยละ 70–75 และเป็นหนี้ที่ไม่มีหลักประกันประมาณร้อยละ 25–30 ของเงินลงทุนในธุรกิจบริหารหนี้ ปัจจุบันพอร์ตบริหารหนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้ด้อยคุณภาพประเภทไม่มีหลักประกัน
อย่างไรก็ตาม ก็ขึ้นอยู่กับโอกาสทางธุรกิจ เพื่อสนับสนุนรายได้และกำไรให้เติบโตอย่างมีนัยสำคัญในอนาคต" นายสุขสันต์ กล่าว
ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมาบริษัทฯ วางงบลงทุนราว 200 – 300 ล้านบาท สำหรับซื้อสินทรัพย์ด้อยภาพทั้งที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกันเข้ามาบริหาร ซึ่งยังไม่รวมเงินที่ได้จากการระดมทุนในครั้งนี้ จึงเชื่อว่า จะยิ่งเพิ่มขีดความสามารถในการซื้อหนี้ด้อยคุณภาพเข้ามาบริหารได้มากยิ่งขึ้น สำหรับพอร์ตหนี้ด้อยคุณภาพภายใต้การบริหารของบริษัทฯ มีแนวโน้มการเติบโตที่ดี โดยมูลหนี้ก่อนหักหลักประกันในช่วง 3 ปีย้อนหลัง ในปี 2557 – 2559 มีจำนวนประมาณ 20,330 ล้านบาท 25,930 ล้านบาท และ 26,680 ล้านบาทตามลำดับ ส่วนในงวดไตรมาส 3/2560 มีมูลหนี้รวมประมาณ 28,430 ล้านบาท