กรุงเทพฯ--29 ต.ค.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ลาดเชิงเขาของภาคใต้ ระวังสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก เนื่องจากฝนตกหนักในระยะ 5-6 วันนี้ ( วันที่ 26- 30 ต.ค 50 ) เบื้องต้นได้สั่งการเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์ในพื้นที่เสี่ยงภัยตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเตรียมการป้องกันและช่วยเหลือผู้ประสบภัย หากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบสภาพอากาศในระยะนี้ พบว่า ร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่านภาคใต้ และอ่าวไทย ส่งผลให้ในบริเวณดังกล่าว มีฝนตกชุกหนาแน่นกับฝนตกหนัก ขณะนี้ภาคใต้มีพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมแล้ว 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชุมพร 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอสวี และหลังสวน และที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอดอนสักไชยา ท่าฉาง พระแสง คีรีรัฐนิคม และท่าชนะ และคาดว่าฝนจะยังตกหนักต่อเนื่องอีกระยะหนึ่ง จึงขอเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยทั้งที่ลาดเชิงเขาและใกล้ทางน้ำไหลผ่านให้เพิ่มระมัดระวังอันตรายจากน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม รวมทั้งภัยที่อาจเกิดจากฝนตกหนักและลมกระโชกแรงในระยะ 5-6 วันนี้ (วันที่ 26 — 31 ตุลาคม 2550) โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงภัยจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และพัทลุง โดยให้หมั่นติดตามการรายงานพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาและสังเกตสัญญาณการเปลี่ยนแปลง เช่น ฝนตกหนักติดต่อกันเป็นเวลานาน สีน้ำเปลี่ยนเป็นสีแดงขุ่น ระดับน้ำในลำห้วยขึ้นสูงอย่างรวดเร็ว มีเสียงดังจากต้นน้ำ ให้รีบขนย้ายทรัพย์สินและอพยพไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย
สำหรับการเตรียมการรับมือสถานการณ์ฝนตกหนักในพื้นที่ภาคใต้ เบื้องต้น กรม. ปภ.ได้สั่งการศูนย์ ปภ. เขต และสำนักงาน ปภ.จังหวัด ในพื้นที่เสี่ยงภัย เร่งให้การให้ช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมทั้งให้จัดตั้ง
ศูนย์ป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย ดินถล่ม โดยให้แจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยระมัดระวังอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากธรรมชาติ จัดเตรียมวัสดุ เครื่องจักรกล ยานพาหนะ เรือท้องแบน และเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ เพื่อช่วยเหลือและอพยพประชาชนออกนอกพื้นที่ และจัดเตรียมเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังในพื้นที่เสี่ยงภัยตลอด 24 ชั่วโมง และกำชับมิสเตอร์เตือนภัยให้ติดตามข่าวพยากรณ์อากาศและเฝ้าระวังสถานการณ์ และตรวจสอบข้อมูลปริมาณน้ำฝนและระดับน้ำอย่างใกล้ชิด หากพบสิ่งผิดปกติทางธรรมชาติให้รีบแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ เพื่ออพยพไปยังพื้นที่ปลอดภัย สำหรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวทางภาคใต้ให้ตรวจสอบภาพอากาศ การรายงานสถานการณ์และปฏิบัติตามคำเตือน ป้ายเตือน อย่างเคร่งครัด สุดท้ายนี้ หากประชาชนในพื้นที่ใดได้รับความเดือดร้อนจากสาธารณภัยสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่ สายด่วนสาธารณภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อประสานและให้การช่วยเหลือ โดยด่วนต่อไป