“ผ้าก๊อตน้ำสับปะรด” ปิดแผลหายไว ไม่ปวด-ต้นทุนต่ำ-เพิ่มมูลค่าผลิตผลเกษตร

ข่าวเทคโนโลยี Tuesday October 9, 2007 15:44 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 ต.ค.--iTAP
ปัจจุบันประเทศไทยยังคงต้องนำเข้าเทคโนโลยีในการผลิตวัสดุและอุปกรณ์ทางการแพทย์จากต่างประเทศแทบทั้งสิ้น วัสดุและอุปกรณ์ที่จำเป็นทางการแพทย์บางอย่างยังมีราคาสูงมาก จึงเกิดแนวความคิดใหม่ด้วยการพัฒนาวัตถุดิบจากธรรมชาติอย่าง “สับปะรด” มาใช้ร่วมกับเทคโนโลยีชีวภาพ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์
บริษัท ไทยนาโนเซลลูโลส จำกัด ผู้ผลิตเซลลูโลสชีวภาพเพื่อใช้ในธุรกิจสุขภาพและเสริมความงามรายแรกของไทยมีนวัตกรรมใหม่ด้วยการนำวัตถุดิบหลักคือ น้ำสับปะรด ที่หาได้ง่ายในพื้นที่มาเป็นอาหารเลี้ยงเชื้อแก่จุลินทรีย์ (A.xylinum) จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย เพื่อให้จุลินทรีย์สร้างเส้นใยเซลลูโลสชีวภาพที่บริสุทธิ์เหมาะต่อการใช้ในงานทางการแพทย์และเวชสำอาง
โดยเกิดเป็น “โครงการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เซลลูโลสชีวภาพ” จากการสนับสนุน โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย(iTAP) ภายใต้กำกับของศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี(TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมด้วยพันธมิตรอย่างศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ,สำนักนวัตกรรมแห่งชาติ และ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.)
เภสัชกร สมบัติ รุ่งศิลป์ ผู้วิจัยในโครงการนี้ และ กรรมการผู้จัดการบริษัท ไทยนาโนเซลลูโลส จำกัด กล่าวว่า “ เซลลูโลส หรือเส้นใยจะเป็นสารโพลิเมอร์ธรรมชาติที่มีจำนวนมากที่สุดในโลก เนื่องจากเป็นองค์ประกอบหลักของเซลล์พืชทุกชนิด มนุษย์จึงนำเซลลูโลสมาใช้ในชีวิตประจำวันตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เช่น อาหาร เสื้อผ้า กระดาษ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องเรือน ยา เครื่องสำอางและงานอุตสาหกรรม ปัจจุบันเราพบว่ามีจุลินทรีนย์บางชนิดสามารถสร้างเส้นใยขนาดเล็กกว่าใยฝ้ายได้ 100-200 เท่า เราเรียกเส้นใยนี้ว่าเซลลูโลสชีวาพ ”
คุณสมบัติเด่นของเซลลูโลสชีวภาพ คือ สีขาวนวล เรียบนุ่ม เหนียว บริสุทธิ์ โปร่งแสง มีรูพรุนขนาดเล็ก 200-300 นาโนเมตร ทำให้อุ้งน้ำได้ดี ทนกรด ด่าง รังสีและความร้อน ความเหนียวใกล้เคียงอลูมิเนียม ให้ความรู้สึกเย็นเมื่อสัมผัส ปัจจุบันจึงได้มีการนำเซลลูโลสชีวภาพมาใช้ทางการแพทย์ โดยเฉพาะที่ประเทศสหรัฐอเมริกา หรือยุโรป โดยใช้ในรูปของวัสดุปิดบาดแผล แผ่นโครงเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ และเป็นส่วนผสมในอาหารและยา อีกทั้งในประเทศฝรั่งเศส เกาหลี และไต้หวันมีการผลิตเป็นหน้ากาก(facial mask)เสริมความงาม
เภสัชกร สมบัติ กล่าวอีกว่า สำหรับบริษัทฯได้ผลิตผลิตภัณฑ์จากเซลลูโลสชีวภาพ จากน้ำสับปะรดมาผลิตเป็นวัสดุปิดบาดแผล ภายใต้ชื่อการค้า ‘ Nanocell ’ ผลิตภัณฑ์นี้ถูกผลิตด้วยกรรมวิธีเทคโนโลยีชีวภาพโดยการใช้น้ำสับปะรดของจังหวัดพัทลุงเป็นวัตถุดิบ เส้นใยผ่านกระบวนการทางเคมีและกายภาพ เพื่อให้มีความบริสุทธิ์ และผ่านกระบวนการปราศจากเชื้อด้วยความร้อนสูง
สำหรับการผลทดสอบทางด้านคลินิก วัสดุปิดบาดแผลเซลลูโลสชีวภาพจากน้ำสับปะรดนี้ ได้ผลดังนี้
ทีมทดสอบการใช้งานจาก คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้นำไปทดลองใช้ในผู้ป่วย 13 รายเป็นชาย 3 ราย และหญิง 10 ราย ที่มีบาดแผลเฉียบพลัน ระดับ 2 โดยปิดแผลด้วยวัสดุปิดบาดแผล Nanocell และปิดทับด้วยผ้าก๊อตและแผ่นใสกันน้ำเป็นเวลาประมาณ 1 อาทิตย์ ปรากฏว่าไม่มีผู้ใดเกิดการแพ้ นอกจากนี้วัสดุปิดแผลดังกล่าวสามารถนำมาใช้รักษาแผลเฉียบพลันได้อย่างปลอดภัย ผู้ป่วยไม่ต้องทำแผลทุกวัน ทำให้สะดวก ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาโรงพยาบาล นอกจากนี้ความชุ่มชื้นของวัสดุดังกล่าวทำให้ รู้สึกเย็นเมื่อสัมผัสและลดอาการปวดบาดแผล วัสดุไม่ติดแผลขณะแกะออก ทำให้ผู้ป่วยไม่เจ็บและบาดแผลหายเร็วขึ้น
เภสัชกร สมบัติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมีประเทศผู้ผลิตเซลลูโลสชีวภาพเพื่อใช้ในงานด้านสุขภาพ และเสริมความงามจำนวนน้อยมากไม่ถึง 10 ประเทศ ซึ่งบริษัทฯถือเป็นหนึ่งในจำนวนนั้น และบริษัทฯมีข้อได้เปรียบทั้งด้านวัตถุดิบ ภูมิอากาศ และพื้นที่ นอกจากนี้ยังสามารถกำหนดกรรมวิธีการผลิต และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ไม่ต้องพึ่งเทคโนโลยีจากต่างประเทศในการผลิต ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ฝีมือไทยในราคาประหยัด ผลิตภัณฑ์ปิดแผล Nanocell สามารถปิดบาดแผลทุกชนิด ยกเว้นในบาดแผลไฟไหม้ระดับ 3 โดยผลิตภัณฑ์มีขนาด 10x10, 6x7, 3.5x6 เซนติเมตร หรือขนาดตามสั่ง
การพัฒนานวัตกรรมในครั้งนี้ ทำให้บริษัทฯ คว้ารางวัลจากการประกวดสิ่งประดิษฐ์ในงานคนเก่งไทยแกร่งปี 2548 จากบริษัทชินคอร์เปอเรชั่น จำกัด มหาชน และในปี 2549 จากสภาวิจัยแห่งชาติ
นอกจากนี้บริษัทฯยังมีผลิตภัณฑ์อื่นที่พัฒนาจากเซลลูโลสชีวภาพ เพื่อใช้ในธุรกิจเครื่องสำอาง ได้แก่ แผ่นมาร์คหน้า แผ่นติดใต้ขอบตา และแผ่นปิดรอบลำตัวสำหรับธุรกิจสปา ในอนาคตยังคาดว่าสามารถนำเซลลูโลสชีวภาพมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ อีก ได้แก่ แผ่นฟิล์มบริโภคได้สำหรับบรรจุอาหาร และเครื่องปรุง
ด้าน นายยุทธภูมิ เพชรสิทธิ์ ที่ปรึกษาเทคโนโลยี iTAP กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัท ไทยนาโนเซลลูโลส จำกัด ได้ทำวิจัยนวัตกรรมเซลลูโลสจากน้ำสับปะรด ด้วยการสนับสนุนทางด้านเงินทุน 50 % และผู้เชี่ยวชาญจากโครงการ iTAP จนได้เป็นผลิตภัณฑ์วัสดุปิดบาดแผลราคาประหยัด และมีทีมทดสอบการใช้งานจากโรงพยาบาลสงขลานครินทร์มาร่วมในการทดสอบคุณภาพทางคลินิกในระยะที่ 1 ซึ่งผลการทดสอบเบื้องต้นเป็นที่น่าพอใจ จึงเป็นโอกาสดีที่จะขยายสู่การนำไปใช้ประโยชน์ต่อทั้งผู้ป่วย หรือแม้กระทั่งเกษตรกรไทยที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าผลิตผลทางการเกษตรได้ต่อไป
ผู้ที่สนใจผลิตภัณฑ์จากบริษัท ไทยนาโนเซลลูโลส จำกัด สามารถติดต่อได้ที่ 28-28/1 เทพทิพพาอุทิศ 4 ถ.ราเมศวร์ คูหาสวรรค์ อ.เมือง จ.พัทลุง 93000 โทร/โทรสาร : 0-7462-0742 มือถือ 081-4791399
Email : thainanocellulose@hotmail.com
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจเข้ารับการช่วยเหลือและสนับสนุนจากโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP)สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทยเครือข่าย ภาคใต้ตอนล่างมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(มอ.)คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ต.คอหงส์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90112โทรศัพท์ : 074-286-310-1,074-286-332 โทรสาร : 074-213-008 E-mail :saowakon.w@psu.ac.th www.adcet.psu.ac.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ