กรุงเทพฯ--8 ก.พ.--โฟร์พีแอดส์ (96)
ในงานประชุมวิชาการวิชาการ "Haemophilus influenzae type b Vaccine" เพื่อเชิดชูเกียรติแด่ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ด้านการสาธารณสุข พ.ศ.2560 ซึ่งจัดขึ้นที่สถาบันบำราศนราดูรเมื่อเร็วๆ นี้ ดร.นพ.จรุง เมืองชนะ ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่าผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ด้านการสาธารณสุข พ.ศ.2560 ทั้ง 4 ท่าน ได้แก่ 1.ศาสตราจารย์พอร์ทเตอร์ ดับเบิลยู แอนเดอร์สัน จูเนียร์ 2.ศาสตราจารย์นายแพทย์มธุราม ซานโตชาม 3.แพทย์หญิงราเชล ชเนียสัน และ 4.นายแพทย์จอห์น บี รอบบินส์ เป็นบุคคลสำคัญที่มีส่วนในการวิจัยพัฒนาวัคซีนป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย "ฮีโมฟีลุส อินฟลูเอนเซ ชนิดบี หรือเรียกสั้นๆ ว่า เชื้อฮิบ" รวมทั้งผลักดันในเชิงนโยบายและทำให้เกิดการใช้วัคซีนฮิบในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค กว่า 190 ประเทศทั่วโลก ส่งผลให้ลดการป่วยและการเสียชีวิตด้วยโรคจากการติดเชื้อดังกล่าวในกลุ่มเด็กเล็กทั่วทุกภูมิภาคของโลก
นับเป็นเกียรติของประเทศไทยที่ผู้เชี่ยวชาญทั้ง 4 ท่านได้มาบรรยายและถ่ายทอดความรู้ประสบการณ์ต่างๆที่เป็นประโยชน์ต่อวงการแพทย์และสาธารณสุขในบ้านเรา โดยเฉพาะการผลิตวัคซีน การวิจัย และพัฒนาวัคซีน ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่ไทยจะได้ดำเนินการนำวัคซีนฮิบมาใช้กับเด็กไทยให้เร็วขึ้น นอกจากนี้ผู้เชี่ยวชาญทั้ง 4 ท่านยังอาสาที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านวัคซีนที่จำเป็นต้องใช้ในการป้องกันโรคที่สำคัญให้กับประเทศไทยและพร้อมเป็นที่ปรึกษาในโครงการวิจัย พัฒนาวัคซีนให้กับทางสถาบันวัคซีนแห่งชาติฯด้วย นอกจากจะเป็นเรื่องที่ดีต่อการพัฒนางานด้านวัคซีนของประเทศไทยแล้ว ยังถือเป็นตัวอย่างของการสร้างแรงขับเคลื่อนให้กับนักวิจัยรุ่นใหม่ในการพัฒนาวัคซีนที่เป็นประโยชน์ต่อเด็กทั่วโลก ที่สามารถเป็นต้นแบบของการพัฒนางานวิจัยวัคซีนชนิดอื่นๆได้ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของสถาบันวัคซีนแห่งชาติฯในการร่วมมือกับนักวิจัยทั้งในและต่างประเทศ ถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านวัคซีนเพื่อพัฒนาวัคซีนที่เป็นประโยชน์ต่อคนไทย
ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติฯกล่าวต่ออีกว่าเนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่ได้บรรจุวัคซีนฮิบเข้าสู่แผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค เพราะในอดีตมีการศึกษาถึงความคุ้มค่าซึ่งพบว่าเด็กไทยยังป่วยด้วยโรคติดเชื้อฮิบจำนวนไม่มาก วัคซีนยังมีราคาแพง การดำเนินการนำมาใช้ในภาพกว้างระดับประเทศจึงยังไม่คุ้มค่าเพียงพอ แต่ภายหลังสถาบันวัคซีนแห่งชาติฯ ได้มีการศึกษาข้อมูล ปัจจัยแวดล้อม วิเคราะห์ด้านความคุ้มทุนในการนำวัคซีนฮิบมาใช้กับเด็กไทยพบว่ามีความคุ้มค่ามาก สามารถช่วยลดจำนวนเด็กป่วยด้วยโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อฮิบลง ทำให้ลดจำนวนเด็กตายและพิการทางสมองลงได้ รวมทั้งช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาของผู้ปกครอง ประกอบกับในปัจจุบันราคาวัคซีนดังกล่าวถูกลงและประเทศไทยมีรายได้ประชาชาติมวลรวมต่อหัวเพิ่มมากขึ้น งบประมาณที่ใช้ในการจัดหาวัคซีนจึงไม่สูงมากนัก อีกทั้งยังได้ตีพิมพ์ผลงานดังกล่าวในนิตยสารทางการแพทย์ระดับโลกไปแล้ว แต่ด้วยข้อติดขัดในเรื่องของกระบวนการพิจารณาที่ค่อนข้างซับซ้อน หลายขั้นตอน ทำให้ล่าช้า ประเทศไทยจึงเป็น 1 ใน 4 ประเทศที่ยังไม่มีการนำวัคซีนฮิบมาใช้ ดังนั้นในอนาคตควรแยกวัคซีนออกจากยาในการพิจารณาความเหมาะสมในการนำมาใช้ในระดับประเทศ
จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่การบรรจุวัคซีนฮิบเข้าสู่แผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ได้ผ่านการประชุมคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคไปแล้วเรียบร้อย และกลางเดือนกุมภาพันธ์2561นี้จะมีการบรรจุวาระเรื่องวัคซีนฮิบเข้าไปร่วมพิจารณาในการประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติด้วย และคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชีหลักจะเป็นคณะพิจารณาถัดไป ต่อจากคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ซึ่งจะพิจารณาความเหมาะสมด้านค่าใช้จ่าย และงบประมาณ หากไม่ติดขัดประเด็นใด คาดว่าภายในปี 2562 จะสามารถบรรจุวัคซีนฮิบเข้าสู่แผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคให้เป็นวัคซีน ที่จะฉีดฟรีให้กับเด็กไทยในช่วงขวบปีแรกทุกคนได้ โดยฉีด 3เข็ม ตอนเด็กอายุ 2 เดือน , 4 เดือน และ 6 เดือน ในรูปแบบของวัคซีนรวม 1 เข็ม 5 โรค ได้แก่ โรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน ไวรัสตับอักเสบบี และโรคติดเชื้อฮิบ เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนมีการพัฒนาไปมาก สามารถรวมวัคซีนป้องกันได้หลายโรคในเข็มเดียวและราคาใกล้เคียงหรือถูกกว่าวัคซีนเดี่ยว การเพิ่มชนิดวัคซีนฮิบเข้าไปจะทำให้เพิ่มภูมิคุ้มกันในเด็กได้ โดยค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นไม่มาก จึงนับเป็นโอกาสอันดีที่เด็กๆของเราจะได้รับการป้องกันจากการติดเชื้อฮิบเพิ่มอีกหนึ่งโรค ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติฯกล่าว