สำนักส่งเสริมเครือข่ายวิสาหกิจคอมพิวเตอร์เปิดตัวชมรมสถาปนิกซอฟต์แวร์ไทย

ข่าวเทคโนโลยี Friday October 5, 2007 09:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 ต.ค.--ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน
สำนักส่งเสริมเครือข่ายวิสาหกิจคอมพิวเตอร์หรือ CCP ในสังกัด สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ จัดงานสัมมนา และเปิดตัวชมรมสถาปนิกซอฟต์แวร์ไทย หรือ International Association of Software Architect Thailand Chapter อย่างเป็นทางการ คาดจะสามารถสร้างมาตรฐานการพัฒนาสถาปนิกไอทีไทยที่มั่นคงและยั่งยืนได้
ดร.รอม หิรัญพฤกษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ในฐานะประธานชมรมสถาปนิกซอฟต์แวร์ไทย เปิดเผยว่า “บุคลากรไอทีทั่วโลกมี 30 ล้านคน มีคนที่เป็นสถาปนิกซอฟต์แวร์อยู่ประมาณ 1% เท่านั้น ส่วนประเทศไทยมีบุคลากรไอที 35,000-40,000 คน ก็เท่ากับว่ามีสถาปนิกซอฟต์แวร์ไทยอยู่เพียง 300-400 คน จากผลสำรวจพบว่า 70% ของสาเหตุที่ระบบไอทีล้มเหลวคือขาดสถาปนิกซอฟต์แวร์ที่เชี่ยวชาญ ด้วยเหตุนี้ยุทธศาสตร์ของชมรมสถาปนิกซอฟต์แวร์ไทยในระยะแรกก็คือจัดอบรมโดยใช้ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาเป็นวิทยากร และในตอนนี้กำลังอยู่ระหว่างการจดทะเบียนเป็นสมาคม”
ชมรมสถาปนิกซอฟต์แวร์ไทยก่อตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาคุณภาพของอุตสาหกรรมสถาปัตยกรรมไอที ผ่านมาตรฐาน โปรแกรมด้านการศึกษา และบริการ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาวิชาชีพด้านสถาปัตยกรรมไอที และเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านพัฒนาสถาปัตยกรรมไอที ผ่านการศึกษาในระดับสูง พร้อมกับพัฒนาโปรแกรมและบริการต่างๆ ที่จะช่วยพัฒนาสถาปัตยกรรมไอทีในทุกระดับ
นายแพทย์สมิทธิ์ สุขสมิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมเครือข่ายวิสาหกิจคอมพิวเตอร์ ในฐานะเลขานุการชมรมสถาปนิกซอฟต์แวร์ (IASA Thailand Chapter) กล่าวว่า “สาเหตุหนึ่งที่ทำให้อุตสาหกรรมไอทีไทยไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควรคือการขาดการพัฒนาสถาปนิกไอทีอย่างจริงจัง จึงเป็นเหตุให้สำนักส่งเสริมเครือข่ายวิสาหกิจคอมพิวเตอร์ประสานงานกับสมาคมสถาปนิกซอฟต์แวร์นานาชาติ ก่อตั้งชมรมสถาปนิกซอฟต์แวร์ขึ้นในประเทศไทยโดยมุ่งหวังให้เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างชุมชนสถาปนิกซอฟต์แวร์ไทย เป้าหมายเบื้องต้นคือการฝึกอบรมนักพัฒนาให้เป็นสถาปนิกซอฟต์แวร์มืออาชีพ และปูทางไปสู่การยอมรับนักพัฒนาไทยบนเวทีโลก ซึ่งคาดว่าจะสามารถสร้างมาตรฐานการพัฒนาสถาปนิกซอฟต์แวร์ไทยที่มั่นคงและยั่งยืนได้ใน 2 ปีข้างหน้า”
การสร้างระบบไอทีนั้นมี 3 ขั้นตอนหลัก คือการออกแบบวางแผน การสร้าง และการประยุกต์ใช้ สถาปนิกซอฟต์แวร์คือผู้เชื่อมโยงทั้ง 3 ขั้นตอนเข้าด้วยกัน ไม่ต่างกับสถาปนิกออกแบบบ้านซึ่งต้องประสานงานกับวิศวกรคุมการก่อสร้างอีกทอดหนึ่ง ทั้งนี้สถาปนิกซอฟต์แวร์ที่ดีควรมีคุณสมบัติ 10 ประการ ได้แก่ความเป็นผู้นำ ความสามารถในการเป็นพี่เลี้ยงถ่ายทอดความรู้ได้ มีความเชี่ยวชาญพิเศษเฉพาะธุรกิจแต่ละประเภท มีความสามารถในการนำเสนอที่ดี มีทักษะด้านการสื่อสาร มีทักษะด้านเทคนิค มีความรู้ด้านการตลาด มีความสามารถฝึกหัดงานเฉพาะกิจให้กับลูกน้องหรือผู้ใช้ได้ มีความสามารถรับมือกับการเมืองในสถานที่ทำงาน และมีความรู้ในการเป็นผู้ประกอบการ
“การดึงต่างชาติเข้ามาฝึกอบรมไม่ได้แปลว่าดูถูกความรู้ในไทย ตอนนี้นวัตกรรมทุกอย่างเปิดหมดแล้ว เราต้องดึงคนที่ช่วยเราได้มาประกอบกัน ทำให้ประเทศไทยสามารถเอาชนะบนเวทีโลกได้ ชมรมนี้ที่มีอยู่ในระดับโลกถือว่าเป็นชมรมที่ดีมาก และเราก็ต้องขอบคุณไมโครซอฟท์ประเทศไทยในฐานะผู้สนับสนุนรายแรกที่เห็นความสำคัญของการก่อตั้งชมรมว่าจะเป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดนักพัฒนาซอฟต์แวร์รุ่นใหม่ๆ ที่มีความสามารถ” ดร. รอมกล่าวเพิ่มเติม
บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ถือเป็นเอกชนรายแรกในไทยที่ตอบรับการเข้าร่วมสนับสนุนการก่อตั้งชมรมสถาปนิกซอฟต์แวร์ไทย ด้วยเล็งเห็นถึงความสำคัญของชมรมฯ ที่จะส่งผลให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์ในประเทศไทยมีองค์กรที่ถาวรและมั่นคงในการให้คำปรึกษา และสนับสนุนให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์มีองค์ความรู้ และทรัพยากรในการพัฒนาซอฟต์แวร์ เพื่อให้ประเทศไทยมีความแข็งแกร่งในการสร้างนวัตกรรมซอฟต์แวร์ท้องถิ่น และผลักดันนักพัฒนาซอฟต์แวร์ในไทยให้มีความสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของไมโครซอฟท์ประเทศไทย
นางสาวปฐมา จันทรักษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “อุปสรรคอย่างหนึ่งที่ขัดขวางทำให้คนไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้คือเรื่องของภาษา ดังนั้นการพัฒนาซอฟต์แวร์ให้เป็นภาษาท้องถิ่นจะเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้คนเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย ฉะนั้นหากเราต้องการให้คนไทยเข้าถึงเทคโนโลยีได้มากขึ้น การผลักดันให้เกิดนักพัฒนาซอฟต์แวร์ท้องถิ่นของไทยจึงเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นลำดับต้นๆ ในส่วนของไมโครซอฟท์เรารู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ร่วมสนับสนุนชมรมสถาปนิกซอฟต์แวร์ไทย ในการร่วมผลักดันให้สถาปนิกซอฟต์แวร์ในไทยมีความแข็งแกร่งอย่างจริงจัง”
ชมรมสถาปนิกซอฟต์แวร์ หรือ IASA ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2003 ประเทศไทยคือประเทศลำดับที่ 5 ในกลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิกที่เป็นสมาชิกชมรมสถาปนิกซอฟต์แวร์โดยมีสมาชิกในภูมิภาคประเทศแรกคืออินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ตามลำดับ ทั้งหมดดำเนินการโดยหน่วยงานรัฐบาล ปัจจุบันสมาคม IASA มีสมาชิก 6 พันคนทั่วโลกใน 50 ประเทศ ผู้สนใจสามารถรับรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.iasathai.org
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
คุณศุภาดา ใจดี
ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน ประเทศไทย
โทร: 0-2627 3501 ต่อ 209
แฟกซ์. 0-2627 3510
อีเมล์: sjaidee@th.hillandknowlton.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ