กรุงเทพฯ--9 ก.พ.--คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) จัดงานโชว์นวัตกรรมด้านการเกษตร "บนเส้นทางวิศวกรรม ครั้งที่ 11 AGRINNOVATION ENGINEERING 2018" ภายใต้แนวคิด "เพื่อวันนี้และวันหน้า สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มก. รวบรวมผลงานนวัตกรรมที่เกิดจากการผสมผสานเทคโนโลยี และการเกษตรเข้าด้วยกันจนได้นวัตกรรมที่ตอบโจทย์ และใช้งานได้จริง พร้อมสาธิตการใช้งานจากเจ้าของผลงานทั้ง 39 ผลงาน อีกทั้งได้รับเกียรติจาก ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร นายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มาร่วมเปิดงาน "บนเส้นทางวิศวกรรม ครั้งที่ 11 AGRINNOVATION ENGINEERING 2018" และร่วมเยี่ยมชมผลงานนวัตกรรมเพื่อการเกษตร พร้อมทั้งพูดคุยถึงแนวคิด แรงบันดาลใจในการประดิษฐ์และออกแบบผลงานด้านการเกษตรกับอาจารย์ และนิสิตเจ้าของผลงาน
รองศาสตราจารย์ ณัฐวุฒิ ขวัญแก้ว รองคณบดีฝ่ายพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม ในฐานะประธานจัดงาน กล่าวว่า "งานนี้จัดขึ้นเพื่อนำผลงานที่ผ่านการคิดค้นจากนิสิต อาจารย์ ที่ลงมือทำร่วมกับเกษตรกร โดยมุ่งเน้น นวัตกรรมเกี่ยวกับการเกษตร ที่สามารถใช้งานได้จริง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเกษตรกร และสินค้าชุมชนให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังมี application และแพลทฟอร์มการเกษตรเพื่อการเกษตรในอนาคต พร้อมทั้งจัดแสดงโชว์ขั้นตอนการทำงานของหุ่นยนต์เพื่อการเรียนการสอนเป็นผลงานที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในบรรดาพ่อ แม่ ผู้ปกครอง ผลตอบรับจากการเข้าชมงานมีผู้ประกอบการ เกษตรกร ตลอดจนบุคคลทั่วไป เข้าชมงานเป็นจำนวนมาก ถือว่าการจัดงานในครั้งนี้ประสบความสำเร็จเกินความคาดหมาย"
สำหรับสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมที่ได้รับความสนใจในงาน "บนเส้นทางวิศวกรรม ครั้งที่ 11 AGRINNOVATION ENGINEERING 2018" ได้แก่ เครื่องอบปลาและเนื้อสัตว์แดดเดียวโดยไม่ง้อแสงอาทิตย์ เป็นเครื่องอบที่ออกแบบมาให้ง่ายต่อการใช้งาน โดยใช้อุปกรณ์ให้ความร้อนด้วยไฟฟ้า แก้ปัญหาพลังงานความร้อนจากธรรมชาติที่ไม่สามารถควบคุมได้ มาพร้อมกันสินค้า OTOP ของวิสาหกิจชุมชนที่นำสินค้าที่ทำจากผลงานชิ้นนี้มาให้ลองชิมและเลือกซื้อกันภายในงาน ฝูงบินอากาศยานไร้คนขับ สำหรับภารกิจฝนหลวง และการบินเกษตร ซึ่งจะช่วยเกษตรกรในด้านพยากรณ์อากาศและการทำฝนหลวง มาทดลองบินให้ผู้ร่วมงานได้ชมหลักการทำงานของผลงานชิ้นนี้
การปลูกข้าวด้วยระบบเครื่องหย่อนกล้า เป็นนวัตกรรมใหม่ที่นำจุดเด่นของนาโยนที่คงความแข็งแรงของต้นกล้ามารวมกันกับจุดเด่นของนาดำที่มีความเป็นระเบียบ ทำให้เกิดระบบเครื่องจักรที่สามารถปลูกข้าวแบบประณีตหรือระบบ SRI ได้เป็นเครื่องแรกของโลกที่มีความเรียบง่ายและราคาไม่แพง และเครื่องปลูกมันสำปะหลังแบบต่อพ่วง
กับแทรคเตอร์ต้นกำลัง เป็นการลดจำนวนแรงงานและเวลาที่ใช้ในการปลูก โดยเครื่องจะต่อพ่วงกับรถแทรคเตอร์ที่มีกำลังไม่ต่ำกว่า 47 แรงม้า ได้สาธิตการทำงานของตัวเครื่องให้ชมกันอย่างใกล้ชิด และยังมีการสาธิตเครื่องตรวจสอบและคัดแยกไข่ที่มีโอกาสฟักอัตโนมัติ โดยการประมวลผลภาพและใช้แขนกล ในการคัดแยกไข่ที่ไม่มีโอกาสฟักออก เครื่องฟอกย้อมเส้นไหม เป็นนวัตกรรมที่ช่วยผ่อนแรงในการย้อมไหมด้วยวิธีดั้งเดิมของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ใช้มอเตอร์ในการยก-จุ่มไจไหม สามารถปรับได้ในขณะทำงาน มีการไหลไหม ทำให้การย้อมสีติดได้ทั่วถึง การทำงานทั้งหมดควบคุมด้วยพีแอลซี (PLC) ผ่านกล่องควบคุมการทำงาน ซึ่งเป็นผลงานที่ผู้ร่วมงานให้ความสนใจ พร้อมทั้งได้ทดลองการใช้งานได้จริง
นอกจากนี้ยังมีผลงานที่ได้รับความสนใจจากเหล่าบรรดาเด็กๆที่ชื่นชอบหุ่นยนต์ได้มาร่วมสัมผัส และสามารถทดลองเล่นกันภายในงาน เช่น ซีซาร์บอท หุ่นยนต์เพื่อพัฒนาการคิดแบบมีตรรกะ และ Fento หุ่นยนต์เพื่อการศึกษาสำหรับเด็ก สื่อในการเรียนรู้เชิงตรรกะและเชิงคำนวณ ได้ทั้งความรู้ ความสนุกสนาน พร้อมทั้งเพลิดเพลินกับวงดนตรีของนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ มก. และได้ร่วมสนุกกับกิจกรรมรับของที่ระลึกจากงาน "บนเส้นทางวิศวกรรม ครั้งที่ 11 AGRINNOVATION ENGINEERING 2018
สามารถติดตามชมผลงานหรือข้อมูลเกี่ยวกับนวัตกรรมเพื่อการเกษตรเพิ่มเติมได้ที่ www.facebook.com/vidsavaku หรือ Facebook เปิดบ้านวิศวะ มก. หรือ โทร 0 2797 0952