กรุงเทพฯ--12 ก.พ.--นิด้าโพล
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "การลักลอบล่าสัตว์ป่า ในเขตหวงห้าม" ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 8 – 9 กุมภาพันธ์ 2561 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจาย ทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการลักลอบล่าสัตว์ป่า ในเขตหวงห้าม การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างด้วยความน่าจะเป็น จากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ "นิด้าโพล" ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งชั้นภูมิตามภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภูมิภาคสุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบอย่างง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0
จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับความเหมาะสมของบทลงโทษในการลักลอบล่าสัตว์ป่าในเขตพื้นที่หวงห้าม (มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ) พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 51.28 ระบุว่า เหมาะสม เพราะ เป็นบทลงโทษที่สมเหตุสมผลกับการกระทำอยู่แล้ว เป็นการสร้างความเกรงกลัวให้กับผู้ที่จะลักลอบล่าสัตว์ป่าในเขตห่วงห้าม ขณะที่บางส่วนระบุว่า ให้ดูที่เจตนาของผู้ที่กระทำ อาจจะทำไปด้วยความไม่ตั้งใจ รองลงมา ร้อยละ 47.52 ระบุว่า ไม่เหมาะสม เพราะ บทลงโทษน้อยเกินไป อยากให้เพิ่มบทลงโทษให้มากกว่านี้ เช่น จำคุก 5 - 20 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และร้อยละ 1.20 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ด้านความความเชื่อมั่นต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการแก้ไขปัญหาและปราบปรามผู้ลักลอบล่าสัตว์ป่าหรือบุกรุกเขตรักษาพันธุ์ สัตว์ป่า พบว่า ร้อยละ 19.04 ระบุว่า มีความเชื่อมั่นมาก ร้อยละ 31.04 ระบุว่า ค่อนข้างมีความเชื่อมั่น ร้อยละ 36.96 ระบุว่า ไม่ค่อยมีความเชื่อมั่น ร้อยละ 11.60 ระบุว่า ไม่มีความเชื่อมั่นเลย และร้อยละ 1.36 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
สำหรับวิธีการแก้ไขปัญหาการลักลอบล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและการบุกรุกป่าไม้ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 54.32 ระบุว่า มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและมีบทลงโทษที่รุนแรงขั้นเด็ดขาด รองลงมา ร้อยละ 33.60 ระบุว่า มีการเสริมสร้างจิตสำนึก ในการอนุรักษ์และหวงแหนป่าไม้และสัตว์ป่าให้แก่ประชาชน ร้อยละ 23.20 ระบุว่า มีการปลูกฝังค่านิยมที่ดีให้กับเยาวชน ในการอนุรักษ์ป่าไม้และสัตว์ป่า ร้อยละ 13.12 ระบุว่า มีการส่งเสริมเผยแพร่ด้านความรู้เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงคุณค่าของสัตว์ป่าและป่าไม้ ร้อยละ 11.04 ระบุว่า มีการสร้างและพัฒนาช่องทางในการรับแจ้งข้อมูลหรือเบาะแสให้มีความสะดวก หลากหลาย ร้อยละ 6.96 ระบุว่า มีการเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจตราของเจ้าหน้าที่ ร้อยละ 4.64 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ควรมีมาตรการไม่ให้บุคคลภายนอกเข้าไปในอุทยานโดยเด็ดขาดนอกจากเจ้าหน้าที่เท่านั้น มีการเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ให้มากขึ้น เพิ่มงบประมาณและสวัสดิการให้กับหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการทำงาน ขณะที่บางส่วนระบุว่า ไม่มีวิธีไหนเลยที่แก้ได้ และร้อยละ 1.28 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความเชื่อมั่นต่อการบังคับใช้กฎหมายกับประชาชนทุกระดับว่าจะมีความเสมอภาคและเท่าเทียมกัน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 68.88 ระบุว่า ไม่มีความเชื่อมั่น เพราะ การบังคับใช้กฎหมายไม่เข้มงวด กฎหมายมีช่องโหว่ในการบังคับใช้ ขณะที่บางส่วนระบุว่า ผู้บังคับใช้กฎหมายละเลยต่อหน้าที่ เจ้าหน้าที่เกรงกลัวผู้มีอิทธิพล ขณะที่ ร้อยละ 27.84 ระบุว่า มีความเชื่อมั่น เพราะ กฎหมายมีความชัดเจนในการบังคับใช้อยู่แล้ว การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ผู้บังคับใช้กฎหมาย มีความความเที่ยงตรง ยุติธรรม และมีจิตสำนึกที่ดีอยู่แล้ว และร้อยละ 3.28 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 8.32 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ตัวอย่างร้อยละ 26.72 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑลและภาคกลาง ร้อยละ 18.40 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 32.48 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 14.08 มีภูมิลำเนา อยู่ภาคใต้ ตัวอย่าง ร้อยละ 55.84 เป็นเพศชาย และร้อยละ 44.16 เป็นเพศหญิง ตัวอย่างร้อยละ 6.88 มีอายุ 18 – 25 ปี ตัวอย่าง ร้อยละ 13.60 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 22.64 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 34.32 มีอายุ 46 – 59 ปี ร้อยละ 19.44 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และร้อยละ 3.12 ไม่ระบุอายุ
ตัวอย่าง ร้อยละ 91.84 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 2.80 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 0.96 นับถือศาสนาคริสต์ /ฮินดู/ซิกข์/ยิว/ไม่นับถือศาสนาใด ๆ และร้อยละ 4.40 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่าง ร้อยละ 21.28 ระบุว่าสถานภาพโสด ร้อยละ 69.04 สมรสแล้ว ร้อยละ 4.96 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 4.72 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส ตัวอย่างร้อยละ 25.84 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 28.24 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 7.04 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 27.76 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 5.60 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 5.52 ไม่ระบุการศึกษา
ตัวอย่างร้อยละ 13.20 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 13.28 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 21.28 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 13.76 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 15.20 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 15.76 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 2.24 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 0.08 เป็นพนักงานองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหากำไร และร้อยละ 5.20 ไม่ระบุอาชีพ ตัวอย่างร้อยละ 11.04 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 22.72 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 24.64 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 11.28 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 6.56 มีรายได้เฉลี่ย ต่อเดือน 30,001 – 40,000 บาท ร้อยละ 8.88 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 14.88 ไม่ระบุรายได้