กรุงเทพฯ--12 ก.พ.--กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน แจง "ค่าตอบแทนผู้รับงานไปทำที่บ้าน" ต้องไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ สั่งเจ้าหน้าเร่งทำความเข้าใจผู้เกี่ยวข้อง ก่อนมีผลใช้บังคับ 1 เมษายน นี้
นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการค่าจ้างมีมติปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำระหว่าง 5 ถึง 22 บาทต่อวัน โดยทั่วประเทศมีอัตราค่าจ้างตั้งแต่ 308 ถึง 330 บาท ซึ่งจะมีผลบังคับตั้งแต่ 1 เมษายน 2561 ซึ่งการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะมีผลต่อลูกจ้างทั้งระบบ รวมไปถึงผู้รับงานไปทำที่บ้านด้วย ทั้งนี้ประกาศคณะกรรมการคุ้มครองการรับงานไปทำที่บ้าน เรื่อง อัตราค่าตอบแทนในงานที่รับไปทำที่บ้าน ได้กำหนดให้อัตราค่าตอบแทนของผู้รับงานไปทำที่บ้านต้องไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนดไว้ โดยคำนวณได้จากอัตราค่าจ้างขั้นต่ำหารด้วยจำนวนชิ้นงานเฉลี่ยที่ลูกจ้างทำได้ภายใน 8 ชั่วโมงทำงาน ดังนั้นเมื่ออัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่มีผลใช้บังคับ ผู้ว่าจ้างจะต้องจ่ายค่าตอบแทนให้กับผู้รับงานไปทำที่บ้านไม่น้อยกว่าอัตรากว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของจังหวัดนั้น ๆ ด้วย หากผู้ว่าจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว มีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท จำคุกไม่เกิน 3 เดือนหรือทั้งจำทั้งปรับ
อธิบดีกสร. กล่าวต่อไปว่า ได้สั่งการให้พนักงานตรวจแรงงาน เร่งประชาสัมพันธ์ สร้างความเข้าใจให้ผู้ว่าจ้าง ผู้รับงานไปทำที่บ้าน และผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ เพื่อจะได้ปฏิบัติได้อย่างถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด หากมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองคุ้มครองแรงงานนอกระบบ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน โทรศัพท์ 0 2246 2707 หรือที่โทรศัพท์สายด่วน 1506 กด 3