กรุงเทพฯ--12 ก.พ.--NBTC Rights
ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา
กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยร่วมกับสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศญี่ปุ่น โดยการสนับสนุนของภาคเอกชนและสำนักงาน กสทช. ได้จัดการสัมมนาประจำปี 2561 เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับเทคโนโลยี 5G และประเทศไทย 4.0 ขึ้น โดยมีผู้บริหารของ NTT DOCOMO ซึ่งเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นมาให้รายละเอียดเกี่ยวกับการพัฒนาเทคโนโลยีและการปรับตัวของอุตสาหกรรมเพื่อเข้าสู่ยุค 5G
อย่างที่เราทราบกันดีว่า 5G จะมีความเร็วสูงระดับกิกะบิตซึ่งเร็วกว่า 4G หลายสิบเท่าตัว แต่คุณสมบัติที่สร้างความแตกต่างอีก 2 ประการคือ ความหน่วงในการรับส่งข้อมูลต่ำมากในระดับหนึ่งส่วนพันวินาที ทำให้ประยุกต์ใช้กับการควบคุมทางไกลได้ฉับไว เช่น การกู้ภัย การควบคุมเครื่องจักรหรือหุ่นยนต์ หรือแม้แต่การแพทย์ทางไกล และอีกคุณสมบัติหนึ่งก็คือการรองรับอุปกรณ์เชื่อมต่อได้นับล้านๆ ชิ้นต่อตางรางกิโลเมตร จึงสามารถรองรับยุค IoT (Internet of Things) ที่อุปกรณ์ของใช้ของมนุษย์ล้วนเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต
5G จึงเป็นตัวพลิกโฉมอุตสาหกรรมการสื่อสารซึ่งเข้าสู่ภาวะอิ่มตัว
ปัจจุบันทิศทางของรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เปลี่ยนไปมาก จากเดิมรายได้หลักมาจากการโทรออกรับสายในยุค 2G และเปลี่ยนมาเป็นรายได้จากการรับส่ง data ในยุค 3G และ 4G ตามลำดับ แต่แนวโน้มจำนวนคนใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่เพิ่มขึ้นช้าลงกว่าเดิม และทิศทางรายรับรวมเริ่มเป็นขาลง แม้คนจะใช้งาน data จากการ upload/download video กันมากขึ้นก็ตาม แต่สำหรับ NTT DOCOMO แล้ว ได้ปรับตัวล่วงหน้าโดยผสานธุรกิจ Smart Life ต่างๆ เข้ามาในบริการ เช่น การให้บริการเนื้อหารายการหรือการถ่ายทอดสด การให้บริการทางการเงินหรือการชำระเงิน การให้บริการเชื่อมต่อ IoT กับลูกค้าองค์กร การให้บริการสนับสนุนข้อมูลสุขภาพ การให้บริการอุปกรณ์โทรคมนาคม เป็นต้น และรายได้จาก Smart Life Domain นี้มีทิศทางเพิ่มขึ้น ทำให้รายได้รวมของบริษัทพลิกกลับเป็นขาขึ้นได้
ทิศทางหลักของการให้บริการในยุค 5G จึงต้องมุ่งไปที่การสร้างพันธมิตร สร้างความร่วมมือกับธุรกิจอื่นๆ หรือแม้แต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์ solution ใหม่ๆ สำหรับธุรกิจและสังคม รูปแบบความสัมพันธ์ทางธุรกิจก็จะเปลี่ยนไปจากเดิมที่เป็น B2C (Business to Customer) หรือ B2B (Business to Business) เป็น B2B2C หรือแม้แต่ B2B2G (Government) เป็นต้น ในปัจจุบัน NTT DOCOMO มีพันธมิตรแล้ว 394 องค์กรและจะเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ
สิ่งที่ขับเคลื่อนความสัมพันธ์นี้คือ "ข้อมูล" ในยุค IoT อุปกรณ์หลักคือตัวเซ็นเซอร์ ที่คอยตรวจวัดข้อมูลที่ต้องการ เช่น คุณภาพน้ำ คุณภาพอากาศ หรือตรวจวัดสิ่งอื่นๆ แล้วส่งข้อมูลมาประมวลผล นอกจากจะแจ้งผลการประมวลไปที่ปลายทาง ซึ่งอาจจะเป็นเกษตรกร ผู้ใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือองค์กรพันธมิตรแล้ว ระบบนิเวศนี้ยังทำให้เรามี Big data ซึ่งสามารถนำไปวิเคราะห์ต่อยอดได้อีกมากมาย
แต่เดิม ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้บริการกับผู้ใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นลักษณะการสมัครบริการที่มีอายุตามสัญญาใช้บริการ เมื่อเลิกสัญญาจำนวนลูกค้าก็ลดลง และไม่สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลส่วนบุคคลต่างๆ ได้อีกต่อไป ต่างจากความสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้บริการออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น e-commerce หรือ Social Network ต่างๆ กับสมาชิกของตน ที่แม้จะหยุดการใช้งาน แต่ถ้ายังไม่แจ้งออกจากการเป็นสมาชิก ก็ยังนับเป็นลูกค้าอยู่ จำนวนสมาชิกจึงมีทิศทางเพิ่มขึ้นตลอดเวลา และยังสามารถวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ในภาพรวมได้ต่อไป NTT DOCOMO จึงเปลี่ยนแนวคิดจาก subscriber มาเป็น member และได้พัฒนาระบบบัญชีสมาชิก +d account และมีการสะสมคะแนน +d point ทำให้ผู้ใช้งานเข้าสู่ +d market เพื่อเป็นระบบนิเวศใหม่ของธุรกิจ
องค์กรพันธมิตรก็จะได้ประโยชน์จากระบบนิเวศนี้ด้วยเช่นกัน เพราะเมื่อสมาชิกจะใช้บริการอะไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นบริการทางการเงินหรือบริการรายการบันเทิงหรือบริการอื่นๆ ก็ยังทำผ่านระบบสมาชิกนี้ จึงมีการเก็บรวบรวมข้อมูลสมาชิกในด้านต่างๆ ไว้ และสามารถนำไปวิเคราะห์เพื่อที่จะได้เสนอหรือพัฒนาบริการให้เหมาะสมยิ่งขึ้นไป บริการในระบบนี้ ซึ่งรวมถึงบริการของ NTT DOCOMO และบริการขององค์กรพันธมิตร จึงเป็นระบบที่เกื้อหนุนทุกฝ่าย รูปแบบบริการ Smart Life Domain ก็จะทดแทนการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบเก่าที่มีแต่การโทรออกรับสายและการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเท่านั้น
ในส่วนการให้บริการ 5G อย่างเป็นทางการนั้นคงจะเกิดขึ้นไม่เกินปี พ.ศ. 2563 แต่เราจะเห็นการทดลองบริการ 5G ก่อนหน้านั้น ในมหกรรมกีฬาระดับโลกต่างๆ อย่างเช่น การแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาว 2561 ที่พย็องชังประเทศเกาหลี การแข่งขันรักบี้ชิงแชมป์โลก 2562 ที่กรุงโตเกียว และการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2563 ที่กรุงโตเกียว ซึ่งเราจะได้เห็น use case ของ 5G จริง ที่ไม่ใช่เพียงแต่เชื่อมต่อกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ แต่เชื่อมต่อกับอุปกรณ์อื่นๆ อีกมากมายในยุค IoT
ในด้านการถ่ายทอดรายการต่างๆ ก็จะมีความตระการตามากกว่าเดิม ไม่ใช่ในแง่ของความละเอียดของภาพอย่าง HD ไปสู่ 4K หรือ 8K เท่านั้น เพราะความละเอียดที่มากกว่า 8K ก็คงไม่ได้เพิ่มคุณค่าให้กับสายตาของมนุษย์สักเท่าใด แต่จะมีการผสานกับเทคโนโลยี AR (Augmented Reality) หรือ VR (Virtual Reality) เพื่อให้ผู้ชมได้สัมผัสประสบการณ์ใหม่ที่แตกต่างจากเดิม
จะเห็นได้ว่า 5G ไม่ใช่เพียงการสื่อสารระหว่างคนกับคน แต่รวมไปถึงการสื่อสารระหว่างคนกับเครื่องจักร และเครื่องจักรกับเครื่องจักร และไม่ใช่แค่การสื่อสารผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือแทบเล็ต การประยุกต์ใช้ 5G จะทำให้การใช้งานโทรคมนาคมเพิ่มขึ้นมหาศาล และสามารถเปลี่ยนวิถีการดำรงชีวิตในสังคม โดยรูปแบบการให้บริการต้องมีการผสมผสานระหว่างอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างลงตัว อย่างเช่น บ้านหรืออาคารอัจฉริยะ เมืองอัจริยะ อุปกรณ์อัตโนมัติ หรือแม้แต่รถขับเคลื่อนอัตโนมัติ หุ่นยนต์ที่ควบคุมทางไกลผ่าน 5G หรือหุ่นยนต์ที่มี AI เป็นต้น
เทคโนโลยีโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคต่างๆ มีช่วงอายุอยู่ที่ประมาณ 10 ปี ไม่ว่าจะเป็น 2G 3G หรือ 4G ซึ่ง 4G ก็เปิดให้บริการในหลายประเทศมาประมาณ 7-8 ปีแล้ว 5G จึงไม่ใช่เรื่องจินตนาการ และกำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่ปี ประเทศไทยคงต้องเตรียมตัวเพื่อรองรับการก้าวสู่ยุค 5G ไม่ว่าจะในด้านการลงทุนโครงข่ายและอุปกรณ์ใหม่ การเตรียมคลื่นความถี่ให้เพียงพอต่อบริการ ไม่ว่าจะเป็นย่านความถี่ต่ำ ย่านความถี่กลาง และย่านความถี่สูง ซึ่งในคลื่นย่านความถี่สูงมากอย่าง 27-28 GHz ที่เรียกว่า millimeter-wave อาจไม่จำเป็นต้องจัดการประมูลคลื่นความถี่
แต่ที่สำคัญที่สุดของการเตรียมตัว คือการปรับเปลี่ยนวิธีคิดใหม่เกี่ยวระบบนิเวศของการให้บริการ ที่ต้องผสมผสานบริการอย่างกว้างขวาง เพื่อให้ระบบการสื่อสารของเราตอบสนองทุกมิติชีวิตของผู้ใช้งาน และสังคมสามารถใช้ประโยชน์จาก 5G ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การคิดเรื่อง 5G จึงต้องยกระดับจากการคิดแบบ Telecommunications Services ไปสู่การมองให้เห็น Platform และ Ecosystem ใหม่
5G จึงเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายที่จะสนับสนุนประเทศไทย 4.0 ได้ตามหัวข้องานสัมนาที่สมาคมโทรคมนาคมทั้งสองประเทศได้ร่วมกันจัดขึ้น