กรุงเทพฯ--9 พ.ย.--สปส.
สำนักงานประกันสังคม (สปส.) แจงความคืบหน้าเกี่ยวกับการพิจารณาอัตราค่าบริการทางการแพทย์ ล่าสุดคณะกรรมการประกันสังคมมีข้อมูลที่ใช้ประกอบการพิจารณาอัตราค่าบริการทางการแพทย์ ปี‘51 และคณะกรรมการการแพทย์ได้กำหนดอัตราค่าบริการทางการแพทย์ปี ‘51 เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการประกันสังคมแล้ว
นายสุรินทร์ จิรวิศิษฎ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวถึง ความคืบหน้าเกี่ยวกับการพิจารณาอัตราค่าบริการทางการแพทย์ว่า สำนักงานประกันสังคมโดยคณะผู้วิจัยได้นำเสนอผลการศึกษาวิจัยต่อคณะกรรมการประกันสังคม ในการประชุมครั้งที่ 19/2550 เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2550 เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแล้ว และได้มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาอัตราค่าบริการทางการแพทย์สำหรับปี 2551 เพื่อนำข้อมูลตามคำแนะนำของคณะกรรมการประกันสังคมไปศึกษา
โดยคณะอนุกรรมการดังกล่าวได้นำเสนอรายงานผลการศึกษาต่อคณะกรรมการประกันสังคมเรียบร้อยแล้ว ในการประชุมครั้งที่ 22/2550 เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2550 ซึ่งผลการวิจัยและรายงานผลการศึกษาดังกล่าว จะนำไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาให้ความเห็นชอบอัตราค่าบริการทางการแพทย์สำหรับ ปี 2551 ที่คณะกรรมการการแพทย์กำหนดในการประชุมคณะกรรมการประกันสังคมคราวต่อไป
นายสุรินทร์ กล่าวต่อไปว่า ในปัจจุบัน สปส.เหมาจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ให้แก่สถานพยาบาลในโครงการประกันสังคม ในอัตรา 1,284 บาท/คน/ ปี นอกจากนี้เพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับบริการทางการแพทย์อย่างเหมาะสมและเป็นธรรม สปส.ยังจ่ายค่าบริการทางการแพทย์เพิ่มเติมให้แก่สถานพยาบาลอีก ได้แก่ ค่าบริการทางการแพทย์ตามภาระเสี่ยงในอัตรา 211 บาท ค่าอัตราการใช้บริการทางการแพทย์ของผู้ประกันตนเฉลี่ยคนละ 55 บาท อีกทั้งยังมีค่ารักษาพยาบาล โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญพิเศษเฉพาะทาง ค่าอวัยวะเทียมและอุปกรณ์ในการบำบัดรักษาโรค ค่ายาต้านไวรัสเอดส์สำหรับผู้ประกันตนที่ติดเชื้อ HIV และผู้ประกันตนที่เป็นโรคเอดส์อีกด้วย ทั้งนี้ผู้ประกันตนจะได้รับการรักษาพยาบาลจากสถานพยาบาลตามมาตรฐานหลักวิชาทางการแพทย์ โดยได้รับยาและเวชภัณฑ์ที่มีมาตรฐานไม่ต่ำกว่ามาตรฐานบัญชียาหลักแห่งชาติ
นอกจากนี้ กรณีอุบัติเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉิน บริการทันตกรรม ค่าคลอดบุตร และค่ารักษาพยาบาลกรณีทุพพลภาพ ผู้ประกันตนสามารถเบิกได้จากสปส.โดยตรงต่างหาก นอกเหนือจากค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายที่สปส.จ่ายให้แก่สถานพยาบาลตามหลักเกณฑ์และอัตราที่กำหนด ส่วนค่ารักษาพยาบาลในการปลูกถ่ายไขกระดูก การเปลี่ยนอวัยวะกระจกตา การปลูกถ่ายไต การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม การล้างช่องท้องด้วยน้ำยาอย่างถาวร ค่ายาสำหรับผู้ป่วย โรคไตวายระยะสุดท้ายที่มีภาวะโลหิตจาง โรงพยาบาลสามารถเบิกจ่ายได้โดยตรงจากสปส. ตามหลักเกณฑ์และอัตราที่กำหนด ซึ่งเมื่อรวมทุกรายการแล้ว สปส.จ่ายค่าบริการทางการแพทย์ของผู้ประกันตนโดยเฉลี่ยคนละ 2,150 บาท/คน/ปี
ศูนย์สารนิเทศ สายด่วน 1506 / www.sso.go.th