กรุงเทพฯ--13 ก.พ.--กลุ่มประชาสัมพันธ์ กระทรวงวัฒนธรรม
นายกฤษศญพงษ์ ศิริ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวบรรยายพิเศษ เรื่อง นโยบายและแนวทางการส่งเสริมองค์กร ชุมชน อำเภอ และจังหวัดคุณธรรม ตามแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ในงานประชุมวิชาการงาน "ประชารัฐร่วมใจ ขับเคลื่อนสังคมไทยสู่สังคมคุณธรรม พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา" และสมัชชาคุณธรรมภาคกลาง ภายใต้การขับเคลื่อนแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2559-2564) ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรม ณ เวลา จังหวัดราชบุรี เมื่อเร็วๆนี้ ว่า ในปี 2561 รัฐบาลมีการส่งเสริมเรื่องไทยนิยม ที่นิยมทำแต่สิ่งดีงามและความถูกต้อง มีคุณธรรมจริยธรรม เป็นคนดีและเป็นคนเก่งซึ่งเป็นการพัฒนาประเทศให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลใน "โครงการไทยนิยมยั่งยืน"เป็นการพัฒนาประเทศไทยสู่ความยั่งยืนใน ๙ เรื่อง อาทิ มีสัญญาประชาคมผูกใจไทยเป็นหนึ่ง คนไทยไม่ทิ้งกัน เมืองไทยน่าอยู่ วิถีไทยวิถีพอเพียง รู้สิทธิหน้าที่ ฯลฯ โดยจะส่งเสริมให้เกิด "องค์กร-ชุมชน-อำเภอ-และจังหวัดคุณธรรมต้นแบบ" ทั่วประเทศ เพื่อตอบรับต่อความสนใจและต้องการของประชาชนทั่วประเทศที่ต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นในทุกพื้นที่ มุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน คือ พัฒนาประเทศชาติให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน
"ที่ผ่านมาการดำเนินงานให้เกิดองค์กร ชุมชน อำเภอ และจังหวัดคุณธรรมได้เพราะผู้นำองค์กร ผู้นำชุมชนมีความเข้าใจและได้ดำเนินการมาระดับหนึ่งอยู่แล้ว เพียงแต่วันนี้ได้นำความเห็นของคณะอนุกรรมการฯ มานำเสนอให้ประชาชนรับทราบและจะได้เดินหน้าขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน ในปีนี้ ปี ๒๕๖๑ กระทรวงวัฒนธรรมจะมีการส่งเสริมพัฒนาคุณธรรมใน ๔ กลุ่มเป้าหมาย คือ องค์กร ชุมชน อำเภอและจังหวัดคุณธรรมอย่างจริงจังมากขึ้น โดยจะมีการคัดเลือกและประกาศยกย่อง และมอบโล่ให้แก่องค์กร ชุมชน อำเภอและจังหวัดคุณธรรมต้นแบบ ซึ่งมีหลักเกณฑ์การประเมินที่เป็นมาตรฐานกลาง ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ" ปลัด วธ. กล่าว
ทั้งนี้ องค์กร ชุมชน อำเภอและจังหวัดคุณธรรมต้นแบบ แต่ละกลุ่มจะแบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ๑. ระดับส่งเสริมคุณธรรม คือ เริ่มแสดงเจตนารมณ์และดำเนินการตามกระบวนการพัฒนาคุณธรรม ซึ่งผลการดำเนินงานมีพัฒนาการเกิดขึ้นเพียงบางส่วน 2.ระดับคุณธรรม คือ การส่งเสริมคุณธรรมที่มีกระบวนการพัฒนาคุณธรรมที่ได้มาตรฐาน และผลของการดำเนินงานทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมของคนในองค์กร ชุมชน อำเภอ และจังหวัดที่ส่งผลกระทบให้ความดีเพิ่มขึ้น ปัญหาเชิงคุณธรรมลดลง และมีแนวโน้มจะเกิดการพัฒนาที่ต่อเนื่อง เกิดความยั่งยืนได้ ๓. ระดับคุณธรรมต้นแบบ คือ มีการดำเนินการส่งเสริมคุณธรรมจนประสบความสำเร็จในเชิงประจักษ์ มีการทำความดีเพิ่มขึ้น ปัญหาเชิงคุณธรรมลดลง มีความสุข มีองค์ความรู้สามารถถ่ายทอด และเป็นแหล่งเรียนรู้ ให้กับที่อื่นๆได้ โดยมีตัวชี้วัดชัดเจน
ปลัด วธ. กล่าวว่า การขับเคลื่อนจะใช้หลักการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในพื้นที่ในลักษณะที่ให้ "ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับประโยชน์" อย่างเป็นระบบ ร่วมทำในสิ่งที่ดีงามและถูกต้อง ร่วมกันส่งเสริมความดีให้เกิดขึ้นในทุกพื้นที่ และด้วยความร่วมมือจากภาคประชารัฐในพื้นที่ จะทำให้ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายได้ ส่วนกระบวนการในการขับเคลื่อนในส่วนกลางและในแต่ละจังหวัดนั้น ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการส่งเสริมคุณธรรมในระดับกระทรวงและในระดับจังหวัดอยู่แล้ว ให้ทำงานเชื่อมโยงกับคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยมยั่งยืนระดับจังหวัด อำเภอ และทีมขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยมยั่งยืนระดับตำบล ซึ่งจะทำให้การขับเคลื่อนเป็นไปในทิศทางเดียวกัน