10 วิธีจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริเสนอหน่วยงานต่างๆ สู่การปฏิบัติ

ข่าวทั่วไป Friday September 28, 2007 13:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ก.ย.--กทม.
ผู้ว่าฯ อภิรักษ์ ประชุมร่วม กปร. ติดตามผลการดำเนินงานบริหารจัดการน้ำ แตกประเด็น 10 วิธี จัดการน้ำตามแนวพระราชดำรินำสู่การปฏิบัติ ด้านสถานการณ์น้ำในเขื่อนเหนือกรุงไม่น่าห่วง แต่ต้องเฝ้าระวังฝนตกท้ายเขื่อน ส่วนพื้นที่กรุงเทพฯ ตะวันออกและตะวันตกเตรียมพร้อมประตูระบายน้ำ เครื่องสูบน้ำ และกำลังคนแล้ว
27 ก.ย. 50 สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) : นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนหลังจากได้ประชุมร่วมกับคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำบริเวณพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลตามแนวพระราชดำริ ซึ่งเป็นการประชุมครั้งที่ 3/2550 นายจริย์ ตุลยานนท์ เป็นประธานการประชุมว่า จากการที่คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำบริเวณพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลตามแนวพระราชดำริ ได้จัดตั้งกรรมการขึ้นมา 3 คณะ คือ คณะทำงานติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ คณะอนุกรรมการบริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและกรุงเทพมหานครและปริมณฑลฝั่งตะวันออก และคณะอนุกรรมการบริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและกรุงเทพมหานครและปริมณฑลฝั่งตะวันตกนั้น ได้มีการประชุมติดตามผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แจ้งว่า กทม. ได้น้อมนำแนวพระราชดำริการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระราชดำริเมื่อ 17 ก.ย. 50 มาเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการและกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบ ใน 10 ประเด็น คือ 1. จัดทำแผนที่แสดงจุดน้ำท่วม โดยจัดทำแผนที่มาตราส่วนขนาดใหญ่แสดงจุดอ่อนน้ำท่วมเป็นพื้นที่ๆ หน่วยงานรับผิดชอบ คือ กทม. 2. การจัดทำข้อมูลเปิด-ปิดประตูระบายน้ำให้สัมพันธ์กับน้ำขึ้นน้ำลงของน้ำทะเล และหยุดสูบน้ำลง แม่น้ำเจ้าพระยาขณะน้ำทะเลหนุน หน่วยงานรับผิดชอบ คือ กทม. 3. ประสาน กปร. จัดหาพื้นที่ทำแก้มลิงบริเวณชายทะเลต่อเนื่องจังหวัดสมุทรสาคร หน่วยงานรับผิดชอบ คือ กปร. จังหวัดสมุทรสาคร กรมชลประทาน และกทม. 4. ศึกษาและจัดทำทางระบายน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณคลองสำเหร่ คลองบางน้ำชน ลงแก้มลิงสนามชัย-มหาชัย และระบายน้ำคลองประเวศน์ลงคลองพระโขนง เมื่อระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงในหน้าน้ำหลากและถ่ายเทน้ำในหน้าแล้ง หน่วยงานรับผิดชอบ คือ กทม. 5. ศึกษาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน หน่วยงานรับผิดชอบ คือ กปร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 6. ศึกษาระดับความสูง-ต่ำของพื้นที่กทม. หน่วยงานรับผิดชอบ คือ กทม. 7. ขุดลอกคลองระบายน้ำพื้นที่ด้านตะวันออกเพื่อเร่งระบายลงทะเล หน่วยงานรับผิดชอบ คือ กปร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 8. การประสานงานในการป้องกันน้ำท่วมและจัดการคุณภาพน้ำ หน่วยงานรับผิดชอบ คือ กปร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 9. ติดตามและตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ปฏิบัติงานในพื้นที่กับข้อมูลทางวิชาการ หน่วยงานรับผิดชอบ คือ กปร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ 10. การพัฒนาคุณภาพน้ำ จัดการคลองใสและระบบน้ำไหลเวียนในพื้นที่ หน่วยงานรับผิดชอบ คือ กทม.
ในการประชุมได้มีหน่วยงานต่างๆ รายงานสถานการณ์น้ำในปัจจุบัน ซึ่งได้ทำนายปริมาณน้ำฝนในปลายเดือน ก.ย. ถึงต้นเดือน ต.ค. 50 ว่าจะมีปริมาณมาก อาจมีฝนตกในพื้นที่ประมาณ 80-100 ม.ม. และมีน้ำทะเลหนุนสูงในวันที่ 30 ก.ย. 50 แต่คาดว่า จะไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยามากนัก เนื่องจากเขื่อนเหนือกรุงเทพมหานครยังสามารถรองรับปริมาณน้ำฝน ได้อีกมาก โดยเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์มีปริมาณน้ำในเขื่อน 70% มีการระบายน้ำท้ายเขื่อนในปริมาณรวม 1,700 ลบ.ม. ซึ่งแม่น้ำเจ้าพระยาในพื้นที่กรุงเทพมหานครสามารถรองรับน้ำที่ไม่กระทบต่อพื้นที่ได้ 2,500 ลบ.ม. แต่ที่ต้องเฝ้าระวังคือปริมาณฝนตกท้ายเขื่อนที่ต้องประกาศเตือนประชาชนหากมีสถานการณ์ฝนตกหนัก โดยเฉพาะในพื้นที่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองมหาสวัสดิ์
ส่วนการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานครฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกนั้นกรุงเทพมหานครจะได้ประสานงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมชลประทาน กรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งเบื้องต้นได้เตรียมความพร้อมของประตูระบายน้ำ เครื่องสูบน้ำ และกำลังคนไว้แล้ว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ