กรุงเทพฯ--14 ก.พ.--ไอเดีย เวิร์คส์ คอมมิวนิเคชั่นส์
ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ภายใต้ ไทยแลนด์ 4.0 รัฐบาลได้ประกาศนโยบายในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรีและระยอง ซึ่งตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ของภูมิภาคอาเซียน และเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ เพื่อให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจชั้นนำของเอเชีย เกิดการพัฒนาอย่างสมบูรณ์และยั่งยืนในทุกมิติ มีการเชื่อมโยงกันทุกด้าน โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ยังต้องการจ้างแรงงานในพื้นที่ที่มีทักษะความรู้และความชำนาญมารองรับ อันจะช่วยสร้างความมั่นคงให้ชุมชนอย่างยั่งยืนและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น
สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) จึงได้จัดทำ "โครงการศึกษาและจัดทำมาตรการสำคัญภาครัฐเพื่อพัฒนาบุคลากรรองรับ EEC" เพื่อพัฒนาบุคลากรในพื้นที่ให้มีศักยภาพและตอบสนองต่อความต้องการของภาคการผลิตและภาคการบริการในพื้นที่ โดยมอบหมายให้สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ OKMD มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลโครงการ จัดทำหลักสูตรแนวทางการพัฒนาระบบการศึกษาเพื่อยกระดับศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ในพื้นที่ EEC โดยเน้นไปที่เยาวชนระดับมัธยมศึกษา
จึงเป็นที่มาของการจัดกิจกรรม "ค่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมใหม่" หรือ "EEC Innovation Youth Camp" ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรก ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ จังหวัดฉะเชิงทรา เมื่อวันที่ 25-26 พฤศจิกายน 2560 จำนวน 4 กิจกรรม ได้แก่ เทคโนโลยีหุ่นยนต์ (Robotics) เทคโนโลยีเกมและแอนิเมชัน (Games & Animation) อินเทอร์เน็ตออฟติงส์ (Internet of Things หรือ IoT) และเทคโนโลยีการบินและอวกาศ (Drone) ถือเป็นโอกาสของเยาวชนในจังหวัดฉะเชิงเทราที่จะได้เลือกเข้ามาเรียนรู้ในกิจกรรมที่สนใจ เพื่อยกระดับศักยภาพและเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์ต่อไป ตลอดจนสามารถต่อยอดการเรียนรู้ เกิดแรงบันดาลใจที่จะศึกษาต่อ เพื่อเลือกเป็นสาขาวิชาชีพที่เข้าสู่ตลาดแรงงานกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายในอนาคต
นางสาวพจณี อรรถโรจน์ภิญโญ รองเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก กล่าวว่า สำหรับ ค่าย EEC Innovation Youth Camp ครั้งที่ 1 นี้ ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทราและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อมุ่งหวังให้เยาวชนในพื้นที่ EECได้มีพื้นฐานและความคุ้นเคยและมีทัศนคติที่ดีกับการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ว่าเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวและไม่ยากที่จะเรียนรู้ในการพัฒนาตัวเอง หวังว่าจะช่วยให้เยาวชนได้ค้นพบตัวเองว่าสนใจและเลือกที่จะศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านต่างๆ เกิดความอยากรู้อยากเห็นมากขึ้น และสามารถต่อยอดเป็นความรู้ต่อไปได้
"10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ สามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน กำลังเป็นที่สนใจของนักลงทุนทั่วโลกในขณะนี้ ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ การแปรรูปอาหาร หุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม การบินและโลจิสติกส์ เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมี อุตสาหกรรมดิจิทัล การแพทย์ครบวงจร ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้เป็นอุตสาหกรรมสะอาดและเมื่อเข้ามาในภูมิภาคนี้แล้วจะอยู่ยาว เราจึงต้องการส่งเสริมให้เยาวชนที่มีศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์ มีโอกาสได้เข้าสู่ตลาดแรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าว จึงได้จัดค่าย EEC Innovation Youth Camp โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อให้เยาวชนได้ลองเข้ามาเรียนรู้ว่าชอบหรือไม่ หากชอบแล้วอาจเลือกศึกษาต่อด้านนั้นๆ เพื่อจะเป็นโอกาสทางด้านอาชีพในพื้นที่ที่ตัวเองอาศัยอยู่ และยังเป็นสาขาอาชีพที่มีรายได้ดีและค่าตอบแทนสูง เราจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากิจกรรมนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับเยาวชนเพื่อพัฒนาและยกระดับการเรียนรู้ของตน และเกิดแรงบันดาลใจในการค้นพบตัวเอง เป็นบุคลากรสำคัญเพื่อช่วยกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ต่อไปในอนาคต"
ดร.อภิชาติ ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักโครงการและจัดการเรียนรู้ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า เราต้องการให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับอุตสาหกรรมใหม่เหล่านี้ว่ามีอะไรบ้าง จะมีศักยภาพและจะมีผลกระทบต่ออนาคตและการเรียนรู้ของเด็กอย่างไร หรือจะมีผลดีกับอนาคตเขาหรือชุมชนของเขาอย่างไร เพื่อที่เขาจะได้เลือกที่จะพัฒนาตัวเองเลือกเรียนในศาสตร์หรือในรายสาขาวิชาที่ในอนาคตเป็นสิ่งที่ตลาดแรงงาน EEC ต้องการ ดังนั้นหลักสูตรครั้งนี้จึงมีความน่าสนใจและมีประสิทธิภาพสามารถทำให้เยาวชนมีความสุขในการเรียนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเชื่อว่าสามารถสร้างแรงบันดาลใจได้อย่างดี เพราะนอกจากเด็กจะได้เรียนรู้องค์ความรู้เกี่ยวกับด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรมศาสตร์แล้ว ยังมีการนำศิลปะ ความคิดสร้างสรรค์ ทักษะในการคิดวิเคราะห์ ทักษะในการแก้ปัญหา และทักษะในการทำงานเป็นทีมใส่เข้าไปในกิจกรรมด้วย
ด้าน กัส- นายศิวกร วงษ์เลิศ อายุ 17 ปี ชั้น ม.5 โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ จ.ฉะเชิงเทรา เยาวชนจากค่ายเทคโนโลยีการบินและอวกาศ (Drone) ตัวแทนนักเรียนที่เข้าร่วมในกิจกรรมนี้ กล่าวว่า "ดีใจที่รัฐบาลจัดตั้งโครงการ EEC ขึ้น เพราะเชื่อว่าจะมาช่วยในเรื่องเศรษฐกิจของประเทศไทยให้แข็งแกร่งมากขึ้น และต้องขอขอบคุณผู้ใหญ่ทุกคนที่จัดค่ายวิทยาศาสตร์ฯเช่นนี้ เพราะทำให้ได้ความรู้และแรงบันดาลใจใหม่ๆจริง ได้รับความรู้ที่ไม่เคยรู้มาก่อน สนุกมาก ได้เรียนเรื่องโดรน และได้เจอเพื่อนใหม่ๆที่มีความชอบเดียวกัน ผมชอบดูดวงดาว และชอบเครื่องบิน จึงมีความฝันอย่างเดียว คือ อยากเป็นนักบินอวกาศ แต่ถ้าไปไม่ถึงฝันนั้น ก็อยากทำงานเกี่ยวกับด้านการบินในพื้นที่ใกล้บ้าน ซึ่งค่ายนี้มาตอบโจทย์ให้กับผมมาก และผมจะพยายามไปให้ถึงฝันนั้น"
ค่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฯ สำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจะมีขึ้น ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ในพื้นที่ 3 จังหวัด ตั้งแต่วันที่ 25 พ.ย. – 10 ธ.ค. 2560 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ จ.ฉะเชิงเทรา วันที่ 16 ธ.ค. 2560 – 21 ม.ค. 2561 ณ มหาวิทยาลัยบูรพา จ.ชลบุรี วันที่ 27 ม.ค. – 17 ก.พ. 2561 ณ ศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก วิทยาลัยเทคนิคระยอง จ.ระยอง นอกจากนั้น ยังมีหลักสูตรอบรมเข้มข้นการจัดการเรียนรู้ค่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตามหลัก BBL+STE(A)M สำหรับครู ในวันที่ 18 ก.พ. 2561 ณ มหาวิทยาลัยบูรพา จ.ชลบุรี เยาวชนและครูผู้สนใจสามารถติดต่อลงทะเบียนเข้ารับการอบรมได้ที่ www.eeco.or.th หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่โทร 02-1056524, 02-1056511 และ 02-1056517