กรุงเทพฯ--14 ก.พ.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร
ความพิการทางร่างกายคือการที่บุคคลมีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม จากข้อมูลของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ณ วันที่ 25 มิถุนายน 2560 มีจำนวนผู้พิการราว 1.8 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 2.72 ของประชากรทั้งประเทศ และจากการสำรวจประเภทความพิการ พบทางการเคลื่อนไหวหรือร่างกาย กว่า 8 แสนคน หรือร้อยละ 48.76 สูงกว่าประเภทอื่นๆ อาทิ ความพิการทางการได้ยิน 3 แสนคน หรือร้อยละ 18.28 ทางการเห็น 1 แสนคน หรือร้อยละ 10.43 ทางการเรียนรู้ 1 หมื่นคน หรือร้อยละ 0.57 เป็นต้น โดยเด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกายจะมีความผิดปกติทางแขนขาลำตัวรวมไปถึงศีรษะ ซึ่งทำให้ต้องได้รับการศึกษาพิเศษรวมถึงการฝึกฝนด้วยวัสดุอุปกรณ์และบริการต่างๆ เป็นพิเศษ เด็กกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ขาดโอกาสในการเข้าถึงระบบด้านการศึกษามากที่สุด อันส่งผลถึงการเจริญเติบโตตามพัฒนาการอย่างสมวัย จากข้อมูลเบื้องต้นจึงทำให้ ดร.เกษม มานะรุ่งวิทย์ อาจารย์จากคณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร และทีมวิจัย ทำการศึกษาข้อมูลความบกพร่องด้านร่างกายและการเคลื่อนไหวในระดับชั้นอนุบาล ณ โรงเรียนศรีสังวาลย์ ซึ่งพบว่ากลุ่มเด็กผู้มีความบกพร่อง กับกิจกรรมการเรียนการสอนในห้องเรียนไม่สัมพันธ์กันจึงส่งผลให้การเรียนการสอนไม่มีประสิทธิภาพ ด้วยเหตุนี้จึงออกแบบโต๊ะเรียนสำหรับผู้บกพร่องด้านร่างกายและการเคลื่อนไหวในระดับชั้นอนุบาล โดยรูปแบบสามารถใช้งานได้กับพฤติกรรมการเรียนการสอนและรองรับกับประเภทความบกพร่อง
ดร.เกษม มานะรุ่งวิทย์ กล่าวว่า โต๊ะเรียนสามารถตอบสนองการใช้งานกับผู้มีความบกพร่องเพื่อรองรับพฤติกรรมการเรียนการสอนตามกลุ่มเด็กที่บกพร่องด้านร่างกาย แบ่งเป็น 3 ประเภท คือประเภทใช้มือเขียน ประเภทใช้ปากเขียน และประเภทใช้เท้าเขียน มีหลักการสร้างสรรค์ในรูปแบบที่เรียบง่าย เน้นโครงสร้างที่แข็งแรง และวัสดุจากไม้ยางพาราที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีน้ำหนักที่เหมาะสมต่อการเคลื่อนย้าย สามารถถอดประกอบได้ด้วยมือเปล่า มีรูปลักษณ์ที่เหมาะสมต่อพฤติกรรมความบกพร่องของร่างกาย เพิ่มประโยชย์ใช้สอยสอดรับกับความพิการที่เน้นการช่วยเหลือตนเองในบางกิจกรรมอันเป็นการช่วยฝึกกล้ามเนื้อมือของผู้บกพร่องด้านร่างกาย ทั้งนี้จากการทดสอบตามเกณฑ์มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม โต๊ะเรียน 1494-2541 ผ่านตามเกณฑ์ สามารถนำมาใช้ในงานเพื่อรองรับต่อพฤติกรรมการเรียนการสอนของนักเรียนผู้มีความบกพร่องทุกเพศทุกวัย นอกจากนี้ยังได้รับรางวัลรองชนะเลิศ ประเภทผลิตภัณฑ์ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต THAILAND GREEN DESIGN AWARD 2018 ซึ่งจัดโดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อย่างไรก็ตามผลงานดังกล่าวกำลังสู่การจดอนุสิทธิบัตร และผลิตเพื่อบริจาคให้กับน้องที่มีความบกพร่อง รวมไปถึงการผลิตในเชิงพาณิชย์ต่อไป ผู้สนใจสอบถามเพิ่มเติมที่ ดร.เกษม มานะรุ่งวิทย์ โทรศัพท์ 099-154-5355