กรุงเทพฯ--14 ก.พ.--กรมส่งเสริมสหกรณ์
กรมส่งเสริมสหกรณ์ปั้นเสือตัวที่ 6 ดันสหกรณ์รวมตัวส่งออกยางพารา ตั้งองค์กรกลางขึ้นมาเพื่อบริหารจัดการยางพารา ทั้งระบบ เน้นคุณภาพมาตรฐานตรงกับตลาดต้องการ พร้อมขยายช่องทางตลาดในประเทศใหม่ๆ เตรียมร่างโครงสร้างและโรดแม็ปเร่งดำเนินการให้เสร็จภายในกุมภาพันธ์นี้เพื่อเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณา ตั้งเป้าดึงปริมาณยางเข้าสู่ระบบสหกรณ์เพิ่มขึ้นจากเดิม 10 % เป็น 18 % ของยางทั้งประเทศ
นายเชิดชัย พรหมแก้ว รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการเป็นประธานในการประชุมหารือแนวทางการจำหน่ายยางและผลิตภัณฑ์ยางพาราทั้งในและต่างประเทศ ร่วมกับสหกรณ์จังหวัด ผู้แทนสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร 10 แห่ง ซึ่งมีศักยภาพในการผลิตและแปรรูปยางพารา 6 กลุ่มจังหวัด ได้แก่ ชุมนุมสหกรณ์จังหวัดตรัง จำกัดและสหกรณ์การเกษตรย่านตาขาว จำกัด จังหวัดตรัง สหกรณ์การเกษตรรัตภูมิ จำกัด สหกรณ์การเกษตรนาหม่อม จำกัด สหกรณ์การเกษตรจะนะ จำกัดและชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดสงขลา จำกัด จังหวัดสงขลา กลุ่มเกษตรกรทำสวนธารน้ำทิพย์ จังหวัดยะลา สหกรณ์กองทุนสวนยางอำเภอ บ่อทอง จังหวัดชลบุรี สหกรณ์กองทุนสวนยางภูจองนาจะหลวย จำกัด จังหวัดอุบลราชธานีและสหกรณ์การเกษตรเบญจลักษณ์ จำกัด จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งที่ประชุมผู้แทนสหกรณ์ได้เห็นชอบในหลักการจัดตั้งองค์กรกลางขึ้นมาบริหารจัดการอุปสงค์และอุปทานยางพาราที่อยู่ภายใต้การรวบรวมของสหกรณ์ชาวสวนยาง ซึ่งปัจจุบันมีปริมาณ 400,000 – 500,000 ตัน หรือคิดเป็น 10% จากปริมาณยางพาราทั้งหมด 4.5 ล้านตันทั่วประเทศ
ที่ผ่านมา สหกรณ์บางแห่งได้รวบรวมและแปรรูปเป็นยางคอมปาวด์ส่งออกผ่านบริษัทเอกชนไปยังมาเลเซีย และประเทศจีนและยังมีการสั่งซื้อจากหลายประเทศเข้ามา แต่กำลังการผลิตยางเพื่อส่งขายให้กับคู่ค้านั้นมีไม่เพียงพอ ในขณะเดียวกันก็มีสหกรณ์อีกหลายแห่งที่รวบรวมยางพารา ต้องการขยายกำลังการผลิต แต่ยังไม่มีช่องทางตลาดมารับซื้อ ดังนั้น กรมฯจะทำหน้าที่ในการประสานเพื่อให้สหกรณ์ที่มีออเดอร์ยางพารา กับสหกรณ์ที่ทำธุรกิจรวบรวมและแปรรูปยางพาราได้มาเจอกัน และจัดตั้งองค์กรกลางขึ้นมาเพื่อบริหารจัดการสินค้ายางพาราในระบบสหกรณ์ ซึ่งที่ประชุมได้หารือถึงการจัดตั้งในหลายรูปแบบ เช่น การรวมกันเป็นชุมนุมสหกรณ์ แต่มีบางส่วนเห็นว่า แนวทางดังกล่าวอาจไม่ประสบความสำเร็จและอาจเกิดปัญหาขึ้นเหมือนในอดีต เนื่องจากผู้บริหารชุมนุมสหกรณ์ทำหน้าที่เป็นวาระ มีการสับเปลี่ยนหมุนเวียน ซึ่งทำให้การดำเนินงานไม่ต่อเนื่องและอาจจะเปลี่ยนแปลงนโยบายในการบริหารงาน จึงเห็นว่าไม่ควรดำเนินการในรูปแบบดังกล่าว ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ที่จะจัดตังเป็นรูปแบบของบริษัท ซึ่งเป็นนิติบุคคลเข้ามาบริหารตลาดส่งออกยางพาราของสหกรณ์ โดยเบื้องต้นจะมีผู้แทนสหกรณ์ไปจดทำเบียนจัดตั้งเป็นบริษัทและขายหุ้นให้สหกรณ์ ทั้ง 10 แห่งได้เข้ามาถือหุ้น ซึ่งวิธีการนี้สามารถทำได้และไม่ขัดกับกฎหมายสหกรณ์ที่ระบุว่าสหกรณ์สามารถนำเงินไปลงทุนซื้อหุ้น นิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์ส่งเสริมกิจการของสหกรณ์ได้
"จากการพูดคุยกัน คาดว่าภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้จะมีโครงสร้างขององค์กรกลางและโรดแมปในการทำงานที่ชัดเจน เพื่อให้มีองค์กรที่เข้ามาบริหารจัดการอุปสงค์และอุปทานให้เหมาะสม เพราะสหกรณ์บางแห่งมีออร์เออร์แต่ไม่มีสินค้า บางสหกรณ์มีสินค้าแต่ไม่มีออร์เดอร์ ดังนั้นการจัดตั้งองค์กรนี้ขึ้นมาจึงถือว่ามีความเหมาะสม เพื่อมาบริหารจัดการ ใครมีออเดอร์ก็โยนเข้ามา แล้วค่อยหาประสานกับคนที่มีสินค้าอยู่ในมือ โดยจะมีกรรมการหนึ่งชุดคอยดูเรื่องของคุณภาพ การควบคุมการผลิตยางของทุกสหกรณ์ ให้ได้มาตรฐานเดียวกัน ตรงกับที่ตลาดต้องการ และส่งมอบตามออเดอร์ ซึ่งถือว่าเป็นการบริหารจัดการสินค้ายางพาราในเครือข่ายสหกรณ์แบบองค์รวม สิ่งสำคัญคืออยากให้สหกรณ์มีความไว้ใจและเชื่อมั่นในระบบของเราเอง และมาทำธุรกิจร่วมกัน โดยแบ่งหน้าที่กัน สหกรณ์ไหนหาตลาดเก่งก็หาไป สหกรณ์ไหนผลิตเก่งก็ผลิตไป แล้วมาร่วมกันบริหารจัดการ ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย หากวิธีการนี้ประสบผลสำเร็จ ในอนาคตจะดึงสหกรณ์ชาวสวนยางทั่วประเทศที่มีอยู่กว่า 800 แห่งเข้ามาร่วมดำเนินการด้วย"
นายเชิดชัย กล่าวว่า จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์พบว่าตลาดประเทศยังมีความต้องการยางพาราอีกมาก โดยเฉพาะในตลาดภูมิภาคเอเชีย และมีอีกหลายประเทศที่สามารถผลักดันให้เกิดตลาดใหม่ได้ ซึ่งหากสามารถจัดตั้งองค์กรกลางขึ้นมาสำเร็จ จะประสานกับกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการต่างประเทศ เชิญผู้แทนและผู้ค้ายางประเทศต่าง ๆ เดินทางมาประเทศไทย เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ในการสร้างตลาดเพื่อส่งออกยางพารา คาดว่า ในช่วงปีแรกที่มีการจัดตั้งองค์กรมาบริหารจัดการได้ จะช่วยเพิ่มสัดส่วนการรวบรวมยางพาราของสหกรณ์ทั่วประเทศได้เพิ่มมากขึ้นจาก 10% เป็น 18% และยังสามารถหาตลาดใหม่ได้ ผ่านความร่วมมือจากสหกรณ์ที่มีตลาดอยู่แล้ว รวมถึงยังสามารถสร้างเสถียรภาพราคายางพาราของประเทศได้ดียิ่งขึ้น โดยการจัดการผลผลิตยาง (Supply) ในสหกรณ์ ให้สอดคล้องกับความต้องการ (Demand) ของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ โดยบริษัทของสหกรณ์ จะมีหน้าที่ในการจัดการระบบ Logistics ตลอดห่วงโซ่ เพื่อให้สอดรับกับนโยบายปฏิรูปภาคการเกษตรของรัฐบาลที่จะสนับสนุนงบกลางปี ให้สถาบันเกษตรกรใช้ในการก่อสร้างปัจจัยพื้นฐานเพื่อรองรับผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญ ซึ่งทางกรมฯได้เสนอของบอุดหนุนกลางปีวงเงิน 1,500 ล้านบาท สำหรับสนับสนุนสหกรณ์ชาวสวนยางรวบรวมยางพาราและแปรรูปเพิ่มมูลค่า คาดว่าจะดำเนินการได้ทันฤดูกาลกรีดยางต้นปี 2562 ทั้งนี้ นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายในการเร่งยกระดับสหกรณ์ชาวสวนยางขึ้นเป็น เสือตัวที่ 6 ของการผลิตและแปรรูปยางพาราเพื่อการส่งออก ซึ่งในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ นี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะลงพื้นที่จังหวัดสงขลาเพื่อมอบนโยบายในการปฏิบัติงานระดับพื้นที่ให้กับข้าราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในพื้นที่ภาคใต้ และจะมีโอกาสได้พบตัวแทนสหกรณ์ชาวสวนยางเพื่อหารือถึงเรื่องดังกล่าวด้วย