กรุงเทพฯ--14 ก.พ.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
- ศูนย์วิจัยและสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน (IDEaR) ผุด 3 แผนยุทธศาสตร์ พัฒนางานออกแบบรองรับ "สังคมผู้สูงอายุ" แนะรัฐพิจารณาสิทธิพิเศษด้านภาษี - ปรับ กม. ผังเมืองพื้นที่ศักยภาพ รองรับคนแก่ต่างชาติสร้างรายได้เข้าประเทศ
การขับเคลื่อนเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างรวดเร็วของประเทศไทยในปัจจุบัน ที่ในขณะนี้ทั้งประเทศมีสัดส่วนประชากรสูงอายุกว่า 20% และจากรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุที่ระบุว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีประชากรกลุ่มนี้เพิ่มเป็น 30% ซึ่งหมายความว่าในปี 2570 โครงสร้างประชากรไทยจะกลายเป็นสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์นั้น ส่งผลให้ปัจจุบันทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสถาบันการศึกษา ภาครัฐ และภาคเอกชน ต่างตระหนักถึงความสำคัญในการศึกษาวิจัย เพื่อพัฒนานวัตกรรม ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน และระบบต่างๆ ให้สอดรับการใช้ชีวิตของประชากรสูงวัยมากขึ้น หนึ่งในนั้นคือนโยบายจัดสรรหรือสร้างที่อยู่อาศัย สำหรับผู้สูงอายุให้มีการเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งล่าสุดนายกรัฐมนตรีได้สั่งการเร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณามาตรการจูงใจที่เหมาะสม เพื่อส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามาดำเนินโครงการในด้านต่างๆ เพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมสูงอายุ โดยเฉพาะการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ภาคเอกชน ที่เข้ามาดำเนินการหรือประกอบการเกี่ยวกับการจัดสถานที่ดูแลผู้สูงอายุ เนื่องจากที่อยู่อาศัยถือเป็นหนึ่งในปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต
มาตรการนี้สอดคล้องกับหลักสูตรการเรียนการสอนและงานวิจัยของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ซึ่งได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการเตรียมความพร้อมสู่สังคมสูงอายุอย่างมีคุณภาพ โดยการตั้งศูนย์วิจัยและสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน (Inclusive Designed Environment and Research: IDEaR) เพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์ 3 ด้าน คือ 1. ด้านการพัฒนาองค์ความรู้ท่ามกลางภาคีเครือข่าย ให้เกิดความเชื่อมโยงและดำเนินยุทธศาสตร์ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน 2. ด้านการพัฒนาการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และ 3. ด้านการรณรงค์สร้างความตระหนักถึงแนวคิดอารยสถาปัตย์แก่สังคมทั่วไป ในการพัฒนางานด้านแนวคิดการออกแบบเพื่อทุกคน ในขณะเดียวกัน สจล. ยังได้จัดตั้งศูนย์นวัตกรรมเพื่อผู้พิการและผู้สูงอายุแห่งอาเซียนขึ้น ตั้งแต่ปี 2558 เพื่อศึกษาวิจัยองค์ความรู้สำหรับพัฒนานวัตกรรม และเป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อคุณภาพชีวิตของคนไทยในอนาคต
ผศ.ดร.อันธิกา สวัสดิ์ศรี คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และ หัวหน้าศูนย์วิจัยและสร้างสรรค์ IDEaR เปิดเผยว่า การเตรียมความพร้อมที่อยู่อาศัยให้สอดคล้องกับข้อจำกัดผู้สูงอายุ เป็นประเด็นที่ทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญในอันดับต้นๆ เนื่องจากที่อยู่อาศัยคือปัจจัยพื้นฐานที่ช่วยให้ผู้สูงอายุดำรงชีวิตอย่างมีความสุข ซึ่งจากผลการศึกษาพบว่าบริบทการส่งเสริมบ้านพักสำหรับคนสูงอายุในประเทศไทยนั้น เหมาะสมกับแนวคิด "Aging in Place" หรือ "ชราในถิ่นที่อยู่อาศัย" หมายความว่าไม่ควรย้ายผู้สูงอายุไปอยู่ที่ใหม่ที่ไม่คุ้นเคย ซึ่งแนวทางนี้ค่อนข้างต่างจากสิ่งที่เป็นมาในอดีตที่นิยมย้ายผู้สูงอายุไปอยู่บ้านพักคนชรา ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่นอกเมืองเนื่องจากที่ดินราคาไม่สูงมากนัก ทว่าปัจจุบันเทคโนโลยีได้พัฒนาก้าวหน้าไปไกล ลูกหลานสามารถดูแลผู้สูงอายุผ่านเทคโนโลยีอันทันสมัยได้ ไม่ว่าจะเป็นระบบแจ้งเตือนการหกล้ม หรือการติดกล้องวงจรปิดเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต ส่งสัญญาณจากที่บ้านไปยังสมาร์ทโฟนได้ทุกที่ทุกเวลา
ผศ.ดร.อันธิกา อธิบายว่า แน่นอนว่าการส่งเสริมมาตรการให้ผู้สูงอายุชราในถิ่นที่อยู่อาศัย ย่อมส่งผลดีต่อสภาวะและจิตใจของผู้สูงอายุมากกว่าการย้ายไปอยู่ในที่ใหม่ แต่เนื่องจากข้อจำกัดด้านสุขภาพของผู้สูงอายุที่ไม่แข็งแรงเหมือนคนหนุ่มสาว ในทางปฏิบัติจึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงบ้านพัก ให้สอดคล้องและเหมาะสมกับการอยู่อาศัย เช่น การปรับปรุงห้องน้ำ การลดพื้นที่ต่างระดับ การทำทางลาดเพื่อง่ายต่อการเดินและเข็นรถวีลแชร์ขึ้นลง การย้ายห้องนอนจากชั้นบนลงมาด้านล่าง แต่ในบางครอบครัวมีความเชื่อว่าผู้ใหญ่ต้องอยู่ข้างบน ก็อาจพิจารณาติดตั้งลิฟต์หรือแพลตฟอร์มลิฟต์ (Platform Lift) ประเภทลิฟต์ราวบันได เป็นต้น ขณะเดียวกันในส่วนของชุมชนเองก็ต้องมีการปรับสภาพแวดล้อม และวางระบบโครงสร้างต่างๆ โดยออกแบบเมืองให้มีความเหมาะสมเอื้อต่อการใช้ชีวิต เช่น การสร้างพื้นที่ส่วนกลางให้ผู้สูงอายุมาพบปะและทำกิจกรรมร่วมกัน การทำที่นั่งพักทุกๆ 200 เมตร การขยายทางเท้าและเคลียร์สิ่งกีดขวาง การเปลี่ยนรถเมล์เป็นแบบชานต่ำ หรือแม้กระทั่งการส่งเสริมให้ห้างสรรพสินค้ามีรถวีลแชร์ให้ยืม เพื่อส่งเสริมให้ครอบครัวพาผู้สูงอายุมาใช้ชีวิตนอกบ้าน ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดขึ้นแล้วในประเทศญี่ปุ่น
"อย่างที่ทราบกันดีว่าประเทศญี่ปุ่นคือโมเดลต้นแบบในการวางโครงสร้างพื้นฐานรองรับสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งแนวทางส่งเสริมให้คนชราในถิ่นที่อยู่อาศัยนั้น ถือเป็นแนวทางที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย แต่เนื่องจากการปรับปรุงบ้านพักให้สะดวกสบายและปลอดภัยสำหรับคนแก่ จำเป็นต้องใช้งบประมาณจำนวนไม่น้อยขั้นต่ำเฉลี่ยอยู่ที่หลังคาเรือนละ 1-2 แสนบาท ดังนั้น แนวทางนี้ต้องอาศัยการสนับสนุนจากภาครัฐ แม้ว่าปัจจุบันกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีการจัดสรรงบประมาณเงินให้เปล่า สนับสนุนค่าปรับปรุงบ้านเรือนสำหรับผู้สูงอายุ หลังคาเรือนละ 20,000 บาท แต่ยังคงไม่เพียงพอ จึงอาจพิจารณามาตรการสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ จากสถาบันการเงินของรัฐเพื่อช่วยเหลืออีกทางหนึ่ง"
ผศ.ดร.อันธิกา บอกว่า สำหรับอีกหนึ่งแนวทางของการสร้างที่อยู่อาศัยรองรับสังคมสูงอายุ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในขณะนี้คือ การจัดหาพื้นที่ในการสร้างหรือพัฒนาบ้านพักคนชรา ในรูปแบบของ Nursing Home หรือ Senior Care Nursing Home ซึ่งขณะนี้ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาความเหมาะสม ในการส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามาดำเนินการ โดยพิจารณาให้สิทธิพิเศษด้านภาษีเพื่อจูงใจนั้น เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าวเนื่องจากการดำเนินโครงการในลักษณะนี้ ก็เป็นอีกหนึ่งรูปแบบของการรองรับสังคมสูงอายุอย่างมีคุณภาพ ปัจจุบันหลายจังหวัดในประเทศไทยก็มีโครงการลักษณะนี้กระจายตัวอยู่ เช่น เชียงใหม่ และชลบุรี เป็นต้น เพื่อรองรับไลฟ์สไตล์ชีวิตอันหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะสำหรับผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ตัวคนเดียว ไม่มีครอบครัว ญาติ พี่น้อง หรือลูกหลาน รวมไปถึงเป็นอีกหนึ่งบริการสำหรับผู้สูงอายุชาวต่างชาติ โดยเฉพาะประเทศโซนยุโรปที่อากาศค่อนข้างหนาว เข้าใช้บริการพักพิงในประเทศไทยซึ่งเป็นการสร้างรายได้ให้กับประเทศอีกทางหนึ่ง ฉะนั้น นอกจากมาตรการด้านภาษีแล้ว อาจพิจารณาปรับปรุงกฎหมายที่ดินและผังเมือง สำหรับพื้นที่ทางการเกษตรบางแห่งที่มีศักยภาพพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุควบคู่กันไปด้วย
ทั้งนี้ ความเปลี่ยนแปลงทางด้านโครงสร้างประชากรและความเข้าใจของสังคมที่มีต่อสิทธิมนุษยชน (Human Rights) ในช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา ส่งผลให้สังคมไทยซึ่งเป็นหน่วยเล็กๆ ของสังคมโลก ต้องปรับเปลี่ยนฐานคิดและมุมมองที่มีต่อเพื่อนมนุษย์ และสภาพแวดล้อมจากที่เคยคิดว่า ความแตกต่างกันของมนุษย์นั้นเป็นเรื่อง "ไม่เป็นปกติ" และเข้าใจว่าสภาพแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้นนั้นเป็นเรื่องที่ ไม่เกี่ยวกับทัศนคติที่มีต่อคนที่แตกต่างจากบรรทัดฐานที่สังคมสร้างขึ้น เช่น คนที่มีข้อจำกัดทางด้านร่างกายหรือ พิการ ซึ่งฐานคิดนี้ กระทบเกิดเป็นแนวคิดการสร้างสภาพแวดล้อม เพื่อตอบสนองคนที่มีร่างกายสมบูรณ์ตามมาตรฐานที่กำหนดขึ้นเท่านั้น แต่ความท้าทายทั้งในเรื่องความเข้าใจเรื่องสิทธิความเป็นมนุษย์ และโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไปจากที่เคยมีสัดส่วนเยาวชนมากกว่าคนสูงอายุ กำลังจะกลายเป็นสังคมที่จะมีผู้สูงอายุในสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น เร็วกว่าอัตราการเกิดใหม่ของประชากร หรือ 1:4 ในอีกประมาณยี่สิบปีข้างหน้า
ดังนั้น งานออกแบบสภาพแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ อาคาร สถานที่ต่างๆ จึงถูกความท้าทายนั้น ต้องกลับมาทบทวนกระบวนการออกแบบกันใหม่ ดังในประเทศที่พัฒนากว่าโดยเฉพาะในเรื่องของความเป็นประชาธิปไตย เครือข่ายคนพิการและนักออกแบบสภาพแวดล้อมในแขนงต่างๆ ได้เสนอเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (Paradigm shift) ในกระบวนการออกแบบ จากใช้ระบบมาตรฐานที่มาจากคนที่มีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง อยู่ในวัยหนุ่มสาว และมักอยู่ในกลุ่มรายได้ดี ให้พิจารณาว่าจริงๆ แล้ว คนในสังคมนั้นมีความแตกต่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นรูปร่าง ขนาดสัดส่วนร่างกาย ความสามารถในการรับรู้หรือเคลื่อนที่ สถานะทางเศรษฐกิจ หรือแม้แต่รสนิยมทางเพศ
นักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไป สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หมายเลขโทรศัพท์ 02-329-8111 หรือเข้าไปที่ www.kmitl.ac.th