กรุงเทพฯ--14 ก.พ.--เอสซีจี
เอสซีจีสานต่อ 10 ปี รักษ์น้ำเพื่ออนาคต ขยายผลสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการบริหารจัดการน้ำ จากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ ทำให้ธรรมชาติฟื้นคืน สู่การสร้างอาชีพ ชุมชนเข้มแข็ง เกิดเป็นห่วงโซ่ยั่งยืนตลอดเส้นทางน้ำ สร้างต้นน้ำที่ดี สู่ปลายทางน้ำที่ดี สร้างสมดุลอย่างยั่งยืนยิ่งขึ้นให้ประเทศไทย
น้อมนำศาสตร์พระราชา จากภูผา สู่มหานที
นายชลณัฐ ญาณารณพ รองผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะกรรมการการพัฒนาอย่างยั่งยืน เอสซีจี กล่าวว่า "เอสซีจีได้น้อมนำพระราชดำริ 'จากภูผา สู่มหานที' มาเป็นแนวทางการดูแลจัดการน้ำให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ สู่ปลายน้ำ ผ่านกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมกับคนในชุมชน ให้เข้าใจการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ตนเองอย่างแท้จริง รวมทั้งเชื่อมชุมชน แลกเปลี่ยนประสบการณ์องค์ความรู้ของคนต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยการสร้างฝายชะลอน้ำในพื้นที่ป่าต้นน้ำ คืนสมดุลสู่ระบบนิเวศ แก้ปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วม และส่งต่อน้ำไปสู่สระพวงเชิงเขา หรือกระจายน้ำในพื้นที่ราบอย่างเป็นระบบผ่านระบบแก้มลิง เพื่อให้เกษตรกรนำน้ำไปใช้ทำการเกษตร พร้อมทั้งฟื้นฟูและอนุรักษ์ระบบนิเวศชายฝั่งทะเล ด้วยการสร้างบ้านปลา เพิ่มที่อยู่อาศัยและเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์ทะเลขนาดเล็ก คืนความสมบูรณ์สู่ท้องทะเลไทย"
ขยายผลสำเร็จ ต้นน้ำ สู่ปลายน้ำ
ปัจจุบัน เอสซีจีได้ร่วมกับชุมชนและจิตอาสา สร้างฝายชะลอน้ำไปแล้วกว่า 75,500 ฝาย โดยตั้งเป้าขยายการสร้างฝายชะลอน้ำในพื้นที่ต้นน้ำให้ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ และจะสร้างให้ครบ 100,000 ฝาย ภายในปี 2020 รวมทั้งจะสร้างสระพวงเพื่อกักเก็บน้ำร่วมกับชุมชนที่มีพื้นที่เหมาะสม ส่วนในพื้นที่กลางน้ำ จะขยายพื้นที่การบริหารจัดการน้ำชุมชนในพื้นราบด้วยระบบแก้มลิง เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งอย่างยั่งยืน และขยายการฟื้นฟูและอนุรักษ์ระบบนิเวศด้วยนวัตกรรมบ้านปลาในพื้นที่ปลายน้ำ ให้ครอบคลุมชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก คือ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด และขยายการดำเนินงานไปสู่พื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ซึ่งจะช่วยสร้างสมดุลธรรมชาติจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ ชุมชนพัฒนาสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งจะขับเคลื่อนความยั่งยืนให้ประเทศต่อไป
เสริมนวัตกรรมเพื่อการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน
จากประสบการณ์เรื่องการบริหารจัดการน้ำ บวกกับความรู้ความเชี่ยวชาญของเอสซีจี ได้มองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ จึงได้นำนวัตกรรมมาช่วยแก้ปัญหา อาทิ "นวัตกรรมผ้าใบคอนกรีต" ที่ผสมผสานเทคโนโลยีซีเมนต์และเทคโนโลยีใยสังเคราะห์ซึ่งมีความแข็งแรง สามารถปรับรูปแบบได้ตามความต้องการใช้งาน มาใช้สร้างสระพวง สำหรับกักเก็บน้ำ ณ บ้านสาแพะ จ.ลำปาง ที่ขาดแคลนน้ำเพราะพื้นที่เป็นดินทรายไม่อุ้มน้ำ และ "นวัตกรรมบ้านปลาจากท่อ PE100" ที่นำวัสดุที่เหลือจากกระบวนการผลิตเม็ดพลาสติกที่ผ่านการรับรองความปลอดภัยในการขนส่งน้ำ มาออกแบบสร้างที่อยู่อาศัยจำลองให้แก่สิ่งมีชีวิตในทะเล เพื่อเป็นแหล่งอนุบาลสิ่งมีชีวิตในทะเล ในพื้นที่จ.ระยอง ซึ่งพบปัญหาจำนวนปลาบริเวณใกล้ชายฝั่งเริ่มลดลง
รักษ์น้ำ "จากภูผา สู่มหานที" เริ่มต้น ณ ชุมชนต้นน้ำ จ.ลำปาง โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8 - 9 กุมภาพันธ์ 61 โดยมีผู้นำชุมชนจากทั่วประเทศและนักศึกษาคนรุ่นใหม่ซึ่งร่วมส่งผลงานทางโซเชียลมีเดียของเอสซีจี มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวคิดด้านการบริหารจัดการน้ำ และได้ลงมือสร้างฝายชะลอน้ำด้วยตัวเอง รวมทั้งไปชมผลสำเร็จของบริหารจัดการแหล่งน้ำด้วย "สระพวง" ณ ชุมชนบ้านสาแพะ อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง พร้อมเรียนรู้การทำเกษตรปราณีต โดย รักษ์น้ำ "จากภูผา สู่มหานที" จะเดินทางไปยังจังหวัดอื่นๆ ต่อไปตลอดปี 2561