สาระน่ารู้จากกองทัพเรือ

ข่าวทั่วไป Tuesday April 26, 2005 10:38 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 เม.ย.--สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ
พินัยกรรม...ทำไว้ไม่เสียหาย
การทำพินัยกรรมไว้แต่เนิ่นๆ ไม่ใช่เรื่องเสียหายหรือเป็นการแช่งตัวเอง กลับจะเป็นการดีเสียอีกที่เมื่อเราตาย ลูกหลานจะได้ไม่ต้องมาฟ้องร้องแย่งมรดกกัน การทำพินัยกรรมเป็นการแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายในเรื่องของทรัพย์สิน ให้มีผลบังคับเมื่อเราตายก็ได้ กฎหมายกำหนดรูปแบบพินัยกรรมไว้หลายแบบ ซึ่งสามารถทำกันเองก็ได้ หรือจะทำเป็นเอกสารต่อทางราชการก็ได้ เพียงแต่คนที่จะสามารถทำพินัยกรรมได้จะต้องมีอายุตั้งแต่ 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป
๑. พินัยกรรมแบบธรรมดา จะต้องทำเป็นหนังสือ ลงวัน เดือน ปี ขณะที่ทำพินัยกรรมขึ้น และผู้ทำต้องลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคน หรือผู้ทำอาจพิมพ์ลายนิ้วมือก็ได้ ซึ่งพยานทั้งสองคนนั้นจะต้องลงลายมือชื่อรับรองลายมือหรือลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ทำพินัยกรรม
๒. พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ ผู้ทำต้องเป็นผู้เขียนข้อความเองทั้งหมด และผู้ทำต้องลงลายมือชื่อเท่านั้น จะใช้ตราประทับหรือพิมพ์ลายนิ้วมือไม่ได้ พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับนี้ไม่จำเป็นต้องมีพยาน
๓. พินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง ต้องให้นายอำเภอหรือผู้อำนวยการเขตเป็นผู้ทำให้ แต่อาจทำกันนอกที่ว่าการอำเภอก็ได้ เสร็จแล้วผู้ทำต้องลงลายมือชื่อไว้ และจะต้องมีพยานสองคนลงลายมือชื่อไว้ด้วย จากนั้นนายอำเภอหรือผู้อำนวยการเขตจะต้องเขียนรับรองพินัยกรรม พร้อมทั้งประทับตราตำแหน่งไว้ด้วย
๔. พินัยกรรมแบบเอกสารลับ ผู้ทำจะเขียนหรือพิมพ์ขึ้นเอง หรือให้ผู้อื่นเขียนให้ก็ได้ แล้วลงลายมือชื่อ ใส่ซองปิดผนึกและลงลายมือชื่อตรงรอยผนึกนั้น เอาไปให้นายอำเภอหรือผู้อำนวยการเขตเก็บรักษาไว้ พร้อมทั้งนำพยานอีกสองคนไปให้ถ้อยคำเพื่อบันทึกไว้บนซองเอกสารต่อนายอำเภอ จากนั้น ผู้ทำและพยานทั้งสองคนลงลายมือชื่อไว้บนซองนั้น พินัยกรรมแบบนี้จะทำขึ้นนอกที่ว่าการอำเภอไม่ได้
๕. พินัยกรรมแบบวาจา ต้องเป็นกรณีอยู่ในภาวะฉุกเฉินเท่านั้น โดยผู้ทำจะต้องแสดงเจตนาของตนว่าเมื่อตนตายไปแล้วจะยกทรัพย์สินให้ใคร ต่อหน้าพยานสองคนซึ่งอยู่ด้วยกันขณะนั้น จากนั้นพยานสองคนนั้นต้องรีบไปแสดงตัวต่อนายอำเภอโดยเร็วที่สุด เพื่อแจ้งข้อความที่ผู้ทำสั่งไว้พร้อมรายละเอียดวันเดือนปี เพื่อให้นายอำเภอจดข้อความไว้ แล้วให้พยานทั้งสองคนลงลายมือชื่อ
๖. พินัยกรรมแบบทำในต่างประเทศ คนไทยที่จะทำพินัยกรรมในต่างประเทศ จะทำตามแบบกฎหมายของประเทศนั้น หรือทำตามแบบกฎหมายไทยก็ได้ ถ้าทำตามแบบกฎหมายไทย กฎหมายให้อำนาจหน้าที่ซึ่งเป็นของนายอำเภอตกอยู่กับพนักงานสถานทูตหรือกงสุลไทย
พินัยกรรมต่าง ๆ สามารถทำเองได้โดยไม่ยุ่งยากเลย ดังนั้น ควรทำพินัยกรรมเสียให้เรียบร้อย อย่าทิ้งปัญหาไว้เบื้องหลังยามท่านจากไปแล้ว--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ