กรุงเทพฯ--15 ก.พ.--ไอส์เดีย เวิร์คส์ คอมมิวนิเคชั่น
เพราะเด็กไทยในโลกยุค 4.0 กำลังมุ่งไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและเกมออนไลน์โดยไม่รู้ตัว เยาวชนจำนวนไม่น้อยให้ความสนใจในเรื่องเกมที่มาพร้อมเทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา ผู้ใหญ่ใจดี โดย สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) หรือ EEC ร่วมกับสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ OKMD เตรียมความพร้อมและเพิ่มศักยภาพให้น้องๆ เยาวชนในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคตะวันออก จำนวนกว่า 4,500 คน กับค่าย "วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมใหม่" ในหลักสูตรเทคโนโลยีเกมและแอนิเมชัน เปลี่ยน "ผู้เล่นเกม" เป็น "ผู้สร้างเกม" เป็น "บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมเกม" ซึ่งเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการพัฒนาอาชีพของคนรุ่นใหม่ให้สอดรับกับกระแสโลก
ทั้ง EEC และ OKMD มุ่งที่จะเตรียมพร้อมพัฒนาบุคลากรในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคตะวันออกให้มีศักยภาพและตอบสนองต่อความต้องการของภาคการผลิตและภาคการบริการ พร้อมมุ่งเสริมความรู้และสร้างแรงบันดาลใจแก่เยาวชนในการเรียนรู้และพัฒนาทักษะด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์ให้สามารถพัฒนาต่อยอดการเรียนรู้และเตรียมความพร้อมสู่ตลาดแรงงานในอนาคต โดยใช้หลักการเรียนการสอนแบบ STEM Education ร่วมกับการจัดการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมองเป็นแนวคิดหลัก
อาจารย์ภู เอี่ยมเจริญยิ่ง วิทยากรคนสำคัญของหลักสูตรเทคโนโลยีเกมและแอนิเมชัน กล่าวถึงภาพรวมของโลกยุคใหม่กับเทคโนโลยีเกมและแอนิเมชันว่า "แนวโน้มความต้องการบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมเกมยังคงเพิ่มสูงขึ้นตามการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของตลาดเกมโลก ดังนั้น ผมคิดว่า การเตรียมบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ในกระแสโลก จึงมีความจำเป็นที่เราต้องมาสร้างบรรยากาศหรือสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาน้องๆ เยาวชนของเรา สมัยก่อนผู้ปกครองอาจมีทัศนคติในเชิงลบกับการใช้เวลาเล่นเกมของเด็กๆ แต่เกมก็มีแง่มุมที่เป็นประโยชน์ คือ นอกจากการช่วยคลายเครียด ท้าทายความคิด และฝึกความอดทนของผู้เล่นแล้ว ที่สำคัญคือสามารถต่อยอดสร้างอาชีพและรายได้ให้ผู้เล่นได้อีกด้วย ในแต่ละปีประเทศไทยตอนนี้มีผู้คนที่มีอาชีพหรือธุรกิจเกี่ยวข้องกับเกมที่สร้างรายได้เยอะมากนะครับ"
สำหรับหลักสูตรเทคโนโลยีเกมและแอนิเมชันนี้ อาจารย์ภู กล่าวว่า "เรามุ่งหวังให้น้องๆ เยาวชนได้เห็นความสำคัญและมีแรงบันดาลในการพัฒนาตนเอง มองเห็นช่องทางด้านอาชีพ และเตรียมพร้อมตนเองทั้งในด้านการศึกษา และทักษะ เพื่อให้สอดรับกับตลาดแรงงานที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ EEC ในอนาคตต่อไป โดยเราจัดเนื้อหาภายในค่ายอย่างเต็มที่จริงๆ คือ ตั้งแต่การปูพื้นฐานและไต่ระดับขึ้นไปถึงการฝึกปฏิบัติ เริ่มกันที่การให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับองค์ประกอบและหลักการของเกมคอมพิวเตอร์ การกำหนดพล็อตเรื่องของเกม การสร้างสรรค์ฉาก การสร้างตัวละคร การเคลื่อนไหวของตัวละคร การวางเงื่อนไขของเกม ไม่ว่าจะเป็นอุปสรรคต่างๆ ในแต่ละฉาก รางวัลที่ได้รับเมื่อชนะด่านหรือชนะเกม รวมถึงการเรียนรู้เรื่ององค์ประกอบของศิลปะ เช่น ทฤษฎีสี กายวิภาค การตกกระทบของแสง รวมทั้งยังได้เรียนรู้เกี่ยวกับสเปเชียลเอฟเฟคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การให้เสียง การสั่นสะเทือน การซ้อนภาพ เป็นต้น โดยที่เราจะปูพื้นฐานความเข้าใจด้านเทคโนโลยีและภาษาที่ใช้ในการเขียนคำสั่งควบคุมด้วยโปรแกรมสแครช (Scratch) รวมทั้งการเพิ่มจำนวนตัวละคร การเลือกแบบรูปภาพ การใช้คำสั่งควบคุมการแสดงคำพูดของตัวละคร การนำคลิปเสียงเข้ามาแสดงผลร่วม รวมทั้งการอัดคลิปเสียง และเทคนิคต่างๆ อีกมากมาย ส่วนในตอนท้ายของกิจกรรมน้องๆ เยาวชนจะได้ฝึกออกแบบเกมด้วยตนเองโดยใช้คำสั่งและความรู้ที่ได้เรียนกันครับ"
อาจารย์ภู กล่าวเพิ่มเติมว่า "การสร้างเกมและแอนิเมชันมีวิชาคณิตศาสตร์มาเกี่ยวข้อง โดยปกติในโรงเรียนจะสอนเน้นทฤษฎีอย่างเดียว ไม่ได้สอนในด้านการประยุกต์ใช้ จึงอาจไม่สามารถเชื่อมโยงกับการใช้งานในชีวิตได้ แต่เราสามารถนำคณิตศาสตร์ไปเชื่อมโยงกับสิ่งที่เราทำประจำได้นะครับ อย่างการเล่นเกม หรือการเรียนรู้โปรแกรมต่างๆ ในปัจจุบัน แทบทุกอย่างในโลกล้วนมีคณิตศาสตร์มาเกี่ยวข้องทั้งสิ้น แม้แต่การควบคุมหุ่นยนต์ก็ใช้หลักคณิตศาสตร์ควบคู่ไปกับวิทยาศาสตร์ด้วย"
"ดังนั้น การสอนให้น้องๆ ได้คุ้นเคยและฝึกหัดสร้างเกมตั้งแต่ตอนเด็กจะมีผลที่ดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปลาย จนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย เพื่อที่น้องๆ เยาวชนจะได้เรียนรู้ว่าคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์สามารถนำไปใช้เขียนโปรแกรม เขียนเกมอย่างที่ชอบได้ จะมีแรงบันดาลใจในการตั้งใจเรียนคณิตศาสตร์มากขึ้น เพื่อที่จะนำไปทำสิ่งที่ชอบ หรือสามารถต่อยอดไปถึงอาชีพที่ใช่ในอนาคต ยกตัวอย่าง บางคนติดเกมไม่อยากไปเรียนหนังสือ แต่ถ้ารู้อีกมุมหนึ่งว่า การสร้างเกมได้จะเป็นการพลิกโฉมสำหรับตัวเองเลย จากที่ติดเกมก็จะเปลี่ยนไปติดเขียนเกม ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องเรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่างถึงจะสามารถสร้างเกมได้ ดังนั้น การติดเกมจึงสามารถแปลงเป็นการเรียนรู้ และเป็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี การเรียนการสอนของเราจึงทำในรูปแบบที่น้องๆ สนใจคือ "มีจุดประสงค์" ซึ่งอาจไม่ใช่แค่การเรียน หรือแค่การสอน แต่คือการทำอะไรบางอย่างให้สำเร็จ" อาจารย์ภูกล่าวทิ้งท้าย
นายภูษณ โพธิ์ทอง (บีม) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนแกลงวิทยสถาวร จังหวัดระยอง ตัวแทนเยาวชนที่ร่วมกิจกรรมฯ กล่าวว่า "ผมสนใจมาเข้าค่ายนี้ เพราะเป็นคนชอบเล่นเกม และอยากรู้ว่าเขาสร้างเกมกันอย่างไร ก็เลยมาลองดูว่าถ้าชอบจะสามารถไปทำเป็นอาชีพเลยได้หรือไม่ หากได้เขียนเกมแล้วจะมีความสุขกับอาชีพนี้หรือเปล่า พอหลังจากที่เข้าค่ายเสร็จ ผมอยากนำความรู้ที่เรียนมาสร้างเกมของตัวเอง และทำร่วมกับเพื่อนๆ ผมคิดว่าอยากทำเป็นอาชีพเลยนะครับ ตอนนี้ได้เรียนรู้แล้วว่า การจะสร้างและดึงดูดให้คนเล่นรู้สึกสนุกและอยากเล่นเกมของเรามากเท่าไหร่ เราก็ต้องคิด คำนวณ ประณีต และใส่ใจในรายละเอียดต่างๆ ของเกมมากขึ้นเท่านั้น"
"ประทับใจค่ายนี้หลายอย่างครับ พี่ๆ วิทยากรสอนเข้าใจง่าย ไม่เครียด ทำให้เรียนสนุก คิดว่าพี่ๆ มีประสบการณ์และการเป็นคนเล่นเกมกันมาก่อน พอมาสอนให้เราสร้างเกม ก็จะแบ่งปันประสบการณ์กัน ก็จะรู้ว่าจุดไหนควรจะเพิ่มอะไรถึงจะสนุกและน่าสนใจมากขึ้น และยังมีโอกาสได้ทำงานเป็นทีม ได้แสดงความคิดเห็นร่วมกัน ได้แบ่งปันความรู้กับเพื่อนๆ และกล้าแสดงออกมากขึ้น อยากชวนเพื่อนๆ หรือน้องๆ ที่มีโอกาสและสนใจเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมใหม่ เรื่องเกมและแอนิเมชัน ให้ลองมาเรียนดู เพราะถ้าไม่มาเห็นและปฏิบัติจริง ก็จะไม่รู้ความหมายที่แท้จริงว่าเป็นอย่างไรครับ" น้องบีม กล่าวทิ้งท้าย
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ EEC INNOVATION YOUTH CAMP หรือ ค่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมใหม่ ประกอบด้วย 4 หลักสูตร ได้แก่ เทคโนโลยีหุ่นยนต์ เทคโนโลยีเกมและ แอนิเมชัน อินเทอร์เน็ตออฟติงส์ และเทคโนโลยีการบินและอวกาศ ติดต่อหมายเลข 02-1056524, 02-1056511 และ 02-1056517 หรือ www.eeco.or.th