กรุงเทพฯ--8 ต.ค.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่อาจส่งผลกระทบต่อเขื่อนในจังหวัดกาญจนบุรี โดยจัดทำแผนเฉพาะกิจป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติฉุกเฉิน ติดตั้งเครื่องแจ้งเตือนภัย รวม 658 เครื่อง และหอเตือนภัย 3 แห่ง ฝึกอบรมผู้นำชุมชนในพื้นที่เสี่ยงภัย เพื่อสร้างความเข้าใจและเพิ่มศักยภาพในการป้องกันภัยพิบัติ อีกทั้งได้มอบหมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดทำป้ายเตือน ป้ายเส้นทางอพยพ แผนที่พื้นที่เสี่ยงภัยและพื้นที่อพยพ
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า การเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่เมื่อเดือนธันวาคม 2548 ส่งผลให้รอยเลื่อนหลายแห่งของประเทศไทยมีการเคลื่อนตัว และอาจก่อให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ขึ้นได้ โดยเฉพาะรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ ที่วางตัวในแนวร่องน้ำแม่กลองและแควใหญ่ จนถึงชายแดนประเทศพม่า และรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ที่อยู่ในแนวร่องน้ำแควน้อย จนถึงชายแดนประเทศพม่า ประกอบกับจังหวัดกาญจนบุรี มีเขื่อนขนาดใหญ่ตั้งอยู่ 2 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนวชิราลงกรณ์ ถึงแม้ว่าโครงสร้างเขื่อนดังกล่าวสามารถรับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวได้ถึง 7 ริคเตอร์ แต่ก็มีความเป็นไป
ได้ว่าอาจเกิดแผ่นดินไหวขนาดรุนแรงกว่า 7 ริคเตอร์ ซึ่งอาจส่งผลให้ตัวเขื่อนได้รับความเสียหายได้ เพื่อลดความตื่นตระหนกและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ชุมชนที่ตั้งอยู่โดยรอบเขื่อนดังกล่าว ให้มีศักยภาพและมีขีดความสามารถในการจัดการแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่อาจส่งผลกระทบต่อเขื่อนในจังหวัดกาญจนบุรี กรม ปภ. จึงได้ร่วมกับ กรมทรัพยากรธรณี กรมอุตุนิยมวิทยา ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เตรียมพร้อมป้องกันภัยพิบัติจากกรณีเขื่อนในจังหวัดกาญจนบุรี ดังนี้ จัดทำแผนเฉพาะกิจป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน(อุทกภัย) จังหวัดกาญจนบุรี กรณีเขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนวชิราลงกรณ์ ติดตั้งเครื่องรับ — ส่งข้อความสั้น และข้อความเสียงเพื่อแจ้งเตือนภัยพิบัติ ในเขตจังหวัดกาญจนบุรี รวมทั้งหมด 658 เครื่อง จัดฝึกอบรมผู้นำชุมชนในพื้นที่เสี่ยงภัย จำนวน 3 ระดับ ประกอบด้วย หัวหน้าส่วนโยธา/นายช่างโยธา เพื่อจัดทำแผนที่พื้นที่เสี่ยงภัยและพื้นที่อพยพ หัวหน้าส่วนราชการ/รัฐวิสาหกิจ ผู้นำองค์กรเอกชนและจัดฝึกอบรมผู้นำชุมชนในพื้นที่เสี่ยงภัยตามโครงการเสริมสร้างศักยภาพชุมชนด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยพัฒนาเครือข่ายอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนให้ครบทุกท้องถิ่น และจัดให้มีทีมกู้ชีพกู้ภัยประจำตำบล (OTOS) พร้อมทั้งฝึกอบรมมิสเตอร์เตือนภัยให้ครบทุกพื้นที่เสี่ยงภัย ร่วมกับศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติติดตั้งหอเตือนภัย จำนวน 3 แห่ง ในบริเวณท้ายเขื่อน
อำเภอทองผาภูมิ อำเภอศรีสวัสดิ์ และอำเภอเมืองกาญจนบุรี คาดจะแล้วเสร็จในปี 2551 ซึ่งจะประสานเชื่อมโยงหอกระจายเสียงประจำหมู่บ้าน วิทยุชุมชน วิทยุกระจายเสียงต่างๆ เพื่อกระจายเสียงเตือนอย่างทั่วถึง และมอบหมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
จัดทำป้ายเตือน ป้ายเส้นทางอพยพและแผนที่ประจำชุมชน ทั้งนี้ ได้จัดให้มีการซ้อมแผนอพยพประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยท้ายเขื่อนไปแล้ว 1 ครั้ง ณ เทศบาล ตำบลเอราวัณ อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี และได้จัดทำคู่มือเตรียมความพร้อมในการป้องกันภัยพิบัติจากกรณีเขื่อนในจังหวัดกาญจนบุรี แจกจ่ายให้กับส่วนราชการ ประชาชนและภาคเอกชนเพื่อเตรียมการและสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง มุ่งหวังว่าการดำเนินการดังกล่าวจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับทุกภาคส่วน ในการเตรียมรับมืออุบัติภัยจากแผ่นดินไหวกรณีเขื่อนที่อาจจะเกิดขึ้นในจังหวัดกาญจนบุรีได้