กรุงเทพฯ--15 ก.พ.--สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ร่วมมือกับ กรมการแพทย์ และ กรมกิจการผู้สูงอายุ เดินหน้าสร้างแพลตฟอร์มดิจิทัลกลางด้านสุขภาพและการแพทย์ครั้งแรก "e- health open data platform" ที่มีมาตรฐาน เชื่อมโยงข้อมูลด้านการแพทย์จากโรงพยาบาลเข้าด้วยกัน รองรับสังคมผู้สูงอายุและช่วยเหลือผู้ป่วยในยามฉุกเฉิน
ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าปัจจุบันทั่วโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายแบบใหม่ในการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Ageing Society) โดยผลที่จะเกิดขึ้นอาจรวดเร็วหรือรุนแรงแตกต่างกัน ตามลักษณะของแต่ละประเทศ ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่กำลังเผชิญเรื่องดังกล่าว โดยข้อมูลจากคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) พบว่าประเทศไทยมีสัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยในปี 2559 มีสัดส่วนผู้สูงอายุร้อยละ 16.5 ในปี 2560 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 17 ดังนั้นเพื่อเตรียมการรับมือการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จึงต้องเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์ดังกล่าว
โดยทางดีป้า ซึ่งมีภารกิจในการส่งเสริมและพัฒนาการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในธุรกิจหรืออุตสาหกรรม ชุมชน สังคมและท้องถิ่น จึงผลักดันแพลตฟอร์ม e - health open data platform เปรียบเสมือนคลังข้อมูลด้านสุขภาพ ซึ่งบูรณาการข้อมูลที่แตกต่างกันอยู่ในที่เดียว นอกจากนั้นจะพัฒนา Digital Ageing Portal ที่ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงได้ทุกที่ ทุกเวลา ดังนั้นลูกหลานหรือแพทย์สามารถทราบข้อมูลของพ่อแม่ ผู้ป่วย ผู้สูงอายุได้ทันที โดยคำนึงถึงความปลอดภัย (Security) และความเป็นส่วนบุคคล (Privacy) เป็นหลัก ในเฟสแรกจะเริ่มในโรงพยาบาลนำร่อง ซึ่งเป็นศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง สังกัดกรมการแพทย์ จำนวน 6 แห่ง ประกอบด้วย โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) , สถาบันประสาทวิทยา, สถาบันโรคผิวหนัง , สถาบันทันตกรรม, สถาบันมะเร็งแห่งชาติ และสถาบันโรคทรวงอก ทั้งนี้ดีป้ามุ่งมั่นผลักดันให้ประเทศไทยเดินหน้าพัฒนาระบบจัดการข้อมูลสุขภาพแห่งชาติ (National Health Information System : NHIS) ตามมาตรฐานระดับสากล นอกจากนี้แล้วยังเปิดโอกาสให้ Health Tech Startup ได้เชื่อมต่อเข้าสู่ e - health open data platform พัฒนาต่อยอดการให้บริการสุขภาพในรูปแบบที่ครอบคลุมและเชื่อมโยงโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อส่งเสริมการให้บริการทางการแพทย์ได้อย่างทั่วถึงและยั่งยืน อันถือเป็นการยกระดับอุตสาหกรรม e – health ของประเทศ
อย่างไรก็ตามสำหรับการเชื่อมโยงข้อมูลในการจัดทำแพลตฟอร์ม e - health open data platform จำเป็นต้องบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนโดยเฉพาะข้อมูลด้านสาธารณสุข ดังนั้นจึงเกิดเป็นความร่วมมือในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้พัฒนางานด้านการแพทย์และสุขภาพเพื่อผู้สูงอายุ ระหว่างกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในการเชื่อมโยงข้อมูลด้านการแพทย์และสุขภาพเพื่อยกระดับการให้บริการสาธารณสุขให้กับประชาชน ตลอดจนส่งเสริมและเผยแพร่สาระประโยชน์แก่กลุ่มเป้าหมายอย่างทั่วถึง
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้เราต้องการจะเห็น 3 เรื่องสำคัญ คือ เรื่องที่ 1 มีการศึกษาความแตกต่างและบูรณาการข้อมูลอย่างมีมาตรฐานร่วมกัน เพื่อให้เกิดฐานข้อมูลกลางที่ชัดเจน เรื่องที่ 2 การประสานรายการยา โดยการนำรายการยาที่แพทย์ส่งมาเตรียมไว้บน Digital Ageing Portal ที่สร้างขึ้น ซึ่งลูกหลานก็จะทราบว่าผู้สูงอายุหรือพ่อแม่ใช้ยาอะไรอยู่ ใช้อย่างไร และหากเกิดเหตุฉุกเฉินก็สามารถนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้ได้ทันที และเรื่องสุดท้าย การช่วยเหลือให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยการออกกำลังกายแทนการสั่งยา โดยมีแพทย์ให้คำแนะนำและแจ้งเตือนการออกกำลังกายเพื่อให้ถูกวิธีและตามวันเวลาที่ต้องปฏิบัติ
ด้านนางธนาภรณ์ พรมสุวรรณ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ กล่าวว่า กรมกิจการผู้สูงอายุได้เตรียมการใช้ประโยชน์ Digital Ageing Portal เพื่อสร้างสังคมสูงอายุที่มีคุณภาพ โดยใช้โอกาสจากเทคโนโลยีดิจิทัล และร่วมบูรณาการเผยแพร่ข้อมูลสุขภาพของผู้สูงอายุ ผู้ป่วย รวมถึง ร่วมให้การดูแลผู้สูงอายุในระดับชุมชน ผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล และร่วมสนับสนุนกิจกรรม ต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้สูงอายุ ในโอกาสต่อไป
การบูรณาการความร่วมมือในครั้งนี้ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ โครงการนำดิจิทัลมาใช้พัฒนางานเพื่อผู้สูงอายุระหว่าง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยทั้งสามหน่วยงานได้ตระหนักถึงความสำคัญของความร่วมมือในครั้งนี้ โดยมุ่งเน้นการประสานความร่วมมือในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในงานบริการทางการแพทย์และสุขภาพผู้สูงอายุ ตลอดจนพัฒนานวัตกรรมเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำรงความสามารถในการเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างเต็มศักยภาพ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการบูรณาการความร่วมมือครั้งนี้ จะนำไปสู่การพัฒนางานด้านสาธารณสุขของประเทศด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล และก่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคมของประเทศอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต