กรุงเทพฯ--15 ก.พ.--ไวล์ดเอด
องค์กรไวลด์เอด ช่วยสัตว์ป่า (WildAid) เชิญชวนคนไทย เฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีนด้วยการเลิกบริโภคหูฉลาม ขณะเดียวกันได้เปิดเผยรายงานล่าสุดพบ ฉลามกำลังเผชิญวิกฤตจากความต้องการบริโภคในตลาดใหม่อย่างฮ่องกง มาเก๊า และประเทศไทย ขณะที่ชาวจีนลดการบริโภคหูฉลามถึง 80เปอร์เซ็นต์ในช่วง 7ปีที่ผ่านมา
ไทย ถือเป็นประเทศผู้ส่งออกหูฉลามแปรรูปรายใหญ่ของโลก และมีแนวโน้มที่ความต้องการภายใน ประเทศจะเพิ่มขึ้น เทศกาลตรุษจีนถือเป็นช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองที่ยิ่งใหญ่อีกงานหนึ่งของไทย และเป็นเทศกาลที่นิยมบริโภคหูฉลาม ผลการสำรวจขององค์กรไวล์ดเอดพ.ศ. 2560 พบ งานรวมญาติเป็น 1 ในวาระโอกาสที่คนไทยบริโภคหูฉลามบ่อยครั้งที่สุด นอกจากนั้นคนไทย มีความตระหนักน้อยเรื่องผลกระทบจากการบริโภคหูฉลามต่อประชากรฉลามโลก องค์กรไวล์ดเอดจึงขอชวนให้คนไทยเลิกบริโภคหูฉลาม เพื่อปกป้องฉลามหลายสายพันธุ์จาก วิกฤตการณ์ประชากรลดลงจนน่าเป็นห่วง
"ผมเชื่อว่าทุกๆ คนอยากจะเริ่มต้นปีใหม่ด้วยการทำสิ่งดีๆ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง และเราหวังว่า การเลิกบริโภคหูฉลาม จะเป็นสิ่งที่ทุกคนตั้งใจทำร่วมกันเพื่อปกป้องฉลาม เพราะหยุดซื้อ คือ หยุดฆ่า" นายปีเตอร์ ไนท์ส ผู้อำนวยการองค์กรไวล์ดเอด กล่าว
แต่ละปีมีฉลามกว่า 100 ล้านตัวถูกฆ่า ในจำนวนนี้ครีบจากฉลามมากถึง 73 ล้านตัวถูกนำมาทำเป็น "ซุปหูฉลาม" ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ประชากรปลาฉลามบางสายพันธุ์ลดลงมากถึง 98% โดยภัยคุกคามหลักเกิดจากการค้าหูฉลาม และความต้องการบริโภคหูฉลาม
"ฉลามมีบทบาทสำคัญในท้องทะเลที่ไม่เหมือนปลาอื่นๆ ฉลามทำหน้าที่รักษาความสมดุลของมหาสมุทร ที่เป็นบ้านของสัตว์ทะเล ควบคุมประชากรปลาและสัตว์ทะเลอื่นที่เป็นอาหารของมนุษย์ให้มีความสมดุล หากไม่มีฉลาม ระบบนิเวศอาจถูกทำลาย" นายไนท์ส กล่าวเสริม
รายงานล่าสุดขององค์กรไวล์ดเอดที่มีชื่อว่า "ฉลามเผชิญวิกฤต : ภัยคุกคามจากตลาดใหม่นอกจีนแผ่นดินใหญ่" (Sharks in crisis : Evidence of positive behavioural change in China as new threats emerge)" พบ ฉลามกำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์ถูกล่า จากความต้องการบริโภคในตลาดใหม่นอกประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ ที่มีแนวโน้มขยายตัว ซึ่งรวมถึงฮ่องกง มาเก๊า และประเทศไทย แม้ความต้องการบริโภคหูฉลามในจีนลดลง มากถึง 80% ตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา ตามรายงานของคณะทำงานอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดสัตว์ป่า และพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (ไซเตส) เมื่อเดือนตุลาคมปี 2559 รายงานดังกล่าวระบุด้วยว่า ตัวเลขการนำเข้าหูฉลาม และยอดขายหูฉลามในกรุงปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และเมืองกว่างโจว ลดลง 81เปอร์เซ็นต์ ระหว่างปี พ.ศ. 2553-2557 การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคในจีนเกิดขึ้นจากปัจจัย หลายอย่าง ซึ่งรวมถึงการดำเนินโครงการรณรงค์ เพื่อสร้างความตระหนักให้ชาวจีนเห็นความสำคัญ ของการอนุรักษ์ฉลามมาตลอดหลายปี และการที่รัฐบาลจีนห้ามเสิร์ฟหูฉลามในงานเลี้ยงของรัฐเมื่อ พ.ศ.2556
ผลสำรวจองค์กรไวล์ดเอด พ.ศ. 2560 พบว่า คนไทยที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองทั่วประเทศบริโภค หูฉลามอย่างแพร่หลาย และมีแนวโน้มที่ประเทศไทยจะเป็นตลาดสำคัญของการค้าหูฉลาม โดยคนไทย 57% เคยบริโภค หรือยังคงบริโภคหูฉลามตามโอกาสต่างๆ และที่น่าเป็นห่วงคือ คนไทย 61% ยังต้องการบริโภคหูฉลามในอนาคต โดยให้เหตุผล เพราะความอยากรู้อยากลอง และได้ยินมาว่าหูฉลามมีรสชาติดี ทั้งที่จริงแล้วหูฉลามไม่มีรสชาติ แต่มาจากน้ำซุปที่ผ่านการปรุงรส
นอกจากนั้น ฉลามยังเผชิญกับภัยคุกคามอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ความต้องการบริโภคเนื้อฉลาม และชิ้นส่วนอื่นๆ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น น้ำมันตับปลาฉลามที่ถูกนำมาใช้ในเครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และถูกกล่าวอ้างสรรพคุณต่างๆ ทั้งที่ในความเป็นจริง การบริโภคครีบ และส่วนอื่นๆ ของฉลาม เสี่ยงต่อการได้รับสารพิษที่สะสมอยู่ในตัวฉลามอย่างสารปรอท
แคดเมียม ซึ่งหากร่างกายสะสมสารเหล่านี้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจเป็นสาเหตุให้เกิดโรคมะเร็ง โรคที่เกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด และโรคเกี่ยวกับระบบประสาท
นอกจากนั้น ฉลามหลายล้านตัวต่อปียังตกเป็นเหยื่อจากการทำประมงทูน่าเพื่อการพาณิชย์อีกด้วย