ผศ.ดร.สิทธิพงษ์ ดิลกวณิช คณบดีคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์คนใหม่ ม.มหิดล

ข่าวทั่วไป Thursday October 25, 2007 16:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ต.ค.--ม.มหิดล
ผศ.ดร.สิทธิพงษ์ ดิลกวณิช อายุ ๕๐ ปี สำเร็จการศึกษาวิทยาศาสตรบัณฑิต (ภูมิศาสตร์) จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม) มหาวิทยาลัยโมนาช และ ดุษฎีบัณฑิต (ภูมิศาสตร์) จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย เคยดำรงตำแหน่งรองคณบดีฝ่ายวิชาการ รองคณบดีฝ่ายการศึกษานานาชาติและวิเทศสัมพันธ์ ที่ปรึกษากรรมการหลักสูตรปริญญาเอกนานาชาติ สาขา Environment and Resource Studies ที่ปรึกษากรรมการหลักสูตรปริญญาโทนานาชาติ สาขา Natural Resource Management และที่ปรึกษากรรมการหลักสูตรปริญญาโท สาขาเทคโนโลยีการบริหารสิ่งแวดล้อม ท่านมีความสนใจงานวิจัยหลายด้าน อาทิ การสำรวจและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ (ถ้ำ) การจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในแนวนิเวศวิทยาการเมือง และการเปลี่ยนแปลงของชุมชนชนบทและเมืองในแนวเศรษฐศาสตร์การเมือง ตัวอย่างงานวิจัยที่ทำเสร็จแล้ว คือ เป็นหัวหน้าโครงการและเป็นผู้วิจัยโครงการสำรวจและจัดทำระบบฐานข้อมูลถ้ำ จ.แม่ฮ่องสอน (๒๕๔๑ — ๒๕๔๓), โครงการแสวงหาผู้มีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรถ้ำในลุ่มน้ำลางและลุ่มน้ำของ จ.แม่ฮ่องสอน (ก.พ.- ก.ย. ๒๕๔๔), โครงการการติดตามตรวจสอบผลคุณภาพน้ำและการจัดการมูลฝอย เพื่อการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมชุมชนคลองจินดา อ.สามพราน จ.นครปฐม, โครงการศึกษาการจัดการสิ่งแวดล้อมโดยชุมชนในพื้นที่ลุ่มน้ำท่าจีน, โครงการศึกษาความทุกข์และสุขของชาวพุทธมณฑลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม: หนึ่งในโครงการศึกษาเบื้องต้นเพื่อพัฒนาสุขภาวะและชุมชนเรียนรู้จิตตปัญญาอย่างมีส่วนร่วม (เม.ย.- มิ.ย.๒๕๕๐) นอกจากนี้ ท่านยังเคยเป็นบรรณาธิการหนังสือ “พลิกฟื้นท่าจีน-แม่กลองสู่สังคมภูมิปัญญา: สัมมนาวิชาการเครือข่ายการวิจัยบูรณาการลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง ครั้งที่ ๒ และ ๓
คณบดีคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์คนใหม่ ม.มหิดล มีวิสัยทัศน์ด้านการจัดการและการบริหารองค์กรด้านความร่วมมือทางวิชาการ (เชิงรุก) มีนโยบายส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการระหว่างคณะและต่างสถาบันด้านการศึกษา ทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศมากขึ้น ไม่ว่าเป็นเรื่องการเรียนการสอน งานวิจัย และการฝึกอบรม เช่น การแลกเปลี่ยนนักศึกษาและอาจารย์ การเลือกเรียนวิชาต่างคณะและสถาบัน การทำวิจัยและการจัดฝึกอบรมร่วมกัน ฯลฯ นอกจากนี้ จะส่งเสริมความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกและภาคอุตสาหกรรมในลักษณะของเพื่อนร่วมงาน (partnership) โดยเฉพาะต่องานวิจัยร่วม และการร่วมจัดฝึกอบรมด้านสิ่งแวดล้มต่างๆ เช่นองค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรพัฒนาเอกชน และผู้ประกอบการอุตสาหกรรม
ส่วนด้านการให้บริการแก่สังคม มีนโยบายจะจัดตั้งศูนย์ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้บริการข้อมูลทางวิชาการที่ทันสมัยกับบุคคลทั่วไป ทั้งทางห้องสมุด และ website ตลอดจนจะส่งเสริมให้มี “คลินิกสิ่งแวดล้อม” ขึ้นเพื่อให้คำปรึกษา และให้บริการตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ