TK Forum 2018 เปิดเวทีนานาชาติแลกเปลี่ยนประสบการณ์สร้างสรรค์ ระดมสมองวางแนวทางพัฒนาห้องสมุดให้เท่าทันนวัตกรรมใหม่ในกระแสโลก

ข่าวทั่วไป Friday February 16, 2018 09:12 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ก.พ.--TK park การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างพลิกผันของโลก ทำให้คนรุ่นใหม่มีวิธีคิด พฤติกรรมและเครื่องมือในการแสวงหาข้อมูลความรู้และการเข้าถึงสารสนเทศที่ต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง และส่งผลโดยตรงต่อบทบาทของห้องสมุดและแหล่งเรียนรู้ทั่วโลก----อุทยานการเรียนรู้ TK park จัดเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์และความคิดสร้างสรรค์เกี่ยวกับห้องสมุดยุคสมัยใหม่ พร้อมศึกษาวิธีวิเคราะห์แนวโน้มและเตรียมความพร้อมในการปรับปรุงพัฒนาห้องสมุดกับผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศแบบเจาะลึกในงานประชุมวิชาการประจำปี TK Forum 2018 ในหัวข้อ "Creating Better Libraries: The Unfinished Knowledge" การสร้างสรรค์ห้องสมุดที่ดีกว่าเพื่อการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุดโดยมีวิทยากรผู้มากความสามารถและประสบการณ์ความรู้ 4 ท่านจาก 4 ประเทศมาร่วมถ่ายทอดความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ ตลอดจนความคิดสร้างสรรค์ต่างๆ ในการพัฒนาห้องสมุดและพื้นที่การเรียนรู้ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้บริการ และรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีที่ห้องสมุดและแหล่งเรียนรู้ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ นายอธิปัตย์ บำรุง ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ กำกับดูแลอุทยานการเรียนรู้ TK park ประธานกล่าวเปิดงาน TK Forum 2018 ว่า "ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตทำให้พฤติกรรมการแสวงหาข้อมูลความรู้และการเข้าถึงสารสนเทศเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ส่งผลโดยตรงต่อบทบาทของห้องสมุดและแหล่งเรียนรู้ทั่วโลก ผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นรุนแรงมากน้อยแตกต่างกันไป ห้องสมุดบางแห่งอาจถึงกับต้องปิดตัวยุติการให้บริการ บ้างยังคงยืนหยัดอยู่ได้ท่ามกลางผู้ใช้อันเบาบาง คงมีเพียงจำนวนไม่มากนักที่เกิดการปรับตัวจนสามารถตอบสนองต่อความต้องการที่เปลี่ยนแปลงและหลากหลายยิ่งขึ้นได้ ห้องสมุดที่ปรับตัวและมีแนวโน้มจะดำรงบทบาทสำคัญทางสังคมอยู่ได้นั้น ส่วนใหญ่แล้วเป็นห้องสมุดซึ่งมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้พื้นที่ (space utilization) อันมาจากการวิเคราะห์ข้อมูลพฤติกรรมความต้องการของผู้ใช้บริการและสอดคล้องกับบริบทชุมชนได้อย่างถูกต้อง ห้องสมุดอนาคต นอกจากจะอำนวยความสะดวกในด้านการสืบค้นข้อมูลสารสนเทศและให้บริการทรัพยากรความรู้อันเป็นภารกิจตามปกติแล้ว จึงมีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญกับรูปแบบหรือวิธีการเรียนรู้ของผู้ใช้งานในโลกยุคดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่ โดยส่งเสริมการรู้ดิจิทัล (digital literacy) และความคล่องแคล่วทางดิจิทัล (digital fluency) ทำให้ขอบเขตการให้บริการความรู้ขยายไปสู่การส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์ และความสามารถใช้ความรู้เพื่อสร้างนวัตกรรม ส่งผลให้ 'นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์' กลายเป็นแก่นสาระใจกลางของการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ไปในที่สุด" องค์ความรู้ในการเปลี่ยนแปลงสู่ห้องสมุดยุคใหม่ ตลอดจนการใช้พื้นที่การเรียนรู้เพื่อการพัฒนาทักษะที่จำเป็นของศตวรรษที่ 21 นั้น เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการก่อรูปความคิดและเป็นแนวทางในการนำมาประยุกต์ใช้กับสังคมไทย และนี่คือแนวคิดหลักในการจัดงานประชุมวิชาการประจำปี TK Forum 2018 ภายใต้หัวข้อ "Creating Better Library: The Unfinished Knowledge" เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานได้เข้าใจแนวคิดหรือวิธีการปรับปรุงสร้างสรรค์ห้องสมุดและการพัฒนาพื้นที่การเรียนรู้ และสามารถนำไปปรับใช้ได้ต่อไป ภายในงานประชุมวิชาการประจำปี TK Forum 2018 ครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากวิทยากร 4 ท่านจาก 4 ประเทศมาร่วมแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ ในการพัฒนาพื้นที่การเรียนรู้เพื่อให้สามารถตอบสนองพฤติกรรมและความต้องการของผู้ใช้บริการและสอดคล้องกับบริบทชุมชนได้อย่างถูกต้อง โดยเฉพาะวิธีการเรียนรู้ของผู้ใช้งานในโลกยุคดิจิทัลซึ่งเป็นเรื่องที่กำลังท้าทายการปรับตัวและการเปลี่ยนแปลงของห้องสมุดในยุคปัจจุบันเพื่อดำรงอยู่และคงความสำคัญทางสังคมต่อไปได้ ทั้งนี้โดยมีวิทยากรผู้มากด้วยความรู้ความสามารถและประสบการณ์อย่างเข้มข้น ดังนี้ ศาสตราจารย์วุฒิคุณ สตีฟโอคอนเนอร์ (Steve O'Connor) จากมหาวิทยาลัยชาร์ลสสจวร์ต ประเทศออสเตรเลีย และบรรณาธิการวารสาร Library Management วารสารวิชาการออนไลน์สำหรับวงการห้องสมุดและบริการสารสนเทศที่มียอดดาวน์โหลดบทความเฉลี่ยถึงเดือนละมากกว่า 12,000 ครั้ง เป็นผู้เขียนและบรรณาธิการหนังสือเรื่อง "Library Management in Disruptive Times" และยังเชี่ยวชาญการใช้เครื่องมือที่เรียกว่า scenario planning เพื่อฝึกคิดวิเคราะห์คาดการณ์ความเปลี่ยนแปลงในอนาคตที่จะมีผลกระทบต่อห้องสมุด จนสามารถนำมาเขียนเป็นหนังสือเรื่อง "Imagining Your Library's Future" ซึ่งขณะนี้มีการแปลและจัดพิมพ์เป็นภาษาจีน โดยมาบรรยายในหัวข้อเรื่อง"Library Management in Disruptive Times: Skill and Knowledge for an Uncertain Future" ดร.วนิดา แก่นอากาศ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และผู้อำนวยการสำนักหอสมุด และกรรมการสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านวิศวกรรมศาสตร์คอมพิวเตอร์ จากมหาวิทยาลัยฮาร์ตฟอร์ดเชียร์ (University of Hertfordshire) ประเทศอังกฤษ และระดับหลังปริญญาเอกด้านการวิเคราะห์คำนวณข้อมูลมือถือ (Mobile Computing) จากสถาบันสารสนเทศแห่งชาติ (National Institute of Informatics) ประเทศญี่ปุ่น มีความเชี่ยวชาญเฉพาะในด้านการประมวลข้อมูลมหาศาล (Big Data Analytic) ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) การคำนวณเชิงอัจฉริยะ (Computational Intelligence) การประมวลผลขั้นสูง (High Performance Computing) และโครงข่ายประสาทเทียม (Artificial Neural Networks) อาจารย์วนิดาเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงและมีบทบาทอย่างสำคัญในการกระตุ้นทีมงานให้ร่วมกันพลิกโฉมห้องสมุดมหาวิทยาลัยขอนแก่น ด้วยการให้บริการเชิงรุก ปรับเปลี่ยนบรรยากาศ ตลอดจนริเริ่มพัฒนาและนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้อำนวยความสะดวกและสร้างประสบการณ์ใหม่ให้แก่ผู้ใช้บริการ สามารถตอบสนองความต้องการและพฤติกรรมการเรียนรู้ของทุกกลุ่มเป้าหมายโดยเป็นวิทยากรบรรยายเรื่อง "Smart Libraries for Tomorrow: Innovate and Transform" 3) แอนดรูว์ แฮร์ริสัน กรรมการบริษัท Spaces that Work ที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ ผู้เขียนหนังสือเรื่อง "Designing for the Changing Educational Landscape: Space, Place and the Future of Learning" (ร่วมกับ Les Hutton) และศาสตราจารย์ปฏิบัติวิชาชีพ มหาวิทยาลัยแห่งเวลส์ ทรินิตี้เซนต์ เดวิด สหราชอาณาจักร ซึ่งมาเป็นวิทยากรบรรยายเรื่อง"Creating Great Spaces for Learning" 4) รอล์ฟ เฮเพล ผู้อำนวยการงานบริการประชาชนและห้องสมุด Dokk1 เมืองอาร์ฮุส ประเทศเดนมาร์ก อดีตกรรมการที่ปรึกษาโครงการ Global Libraries ของมูลนิธิบิลแอนด์เมลินดาเกตส์ เป็นผู้ประสานความร่วมมือกับห้องสมุดประชาชนชิคาโกและบริษัทออกแบบชื่อดังอย่าง IDEO ในการนำเอาแนวคิดเชิงออกแบบมาใช้กับห้องสมุด (Design Thinking for Libraries) และผลักดันให้มีการจัดประชุม Next Library เป็นประจำทุกสองปี จนเมืองอาร์ฮุสกลายเป็นจุดสนใจในแวดวงการพัฒนาห้องสมุดของโลก รอล์ฟมีบทบาทสำคัญในการสร้างความรับรู้เข้าใจเกี่ยวกับห้องสมุด Dokk1 ตั้งแต่ขั้นแรกเริ่ม ด้วยการสำรวจความต้องการและกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างเข้มข้น จนกระทั่งเป็นพื้นที่สาธารณะที่มีการแบ่งปันความรู้อย่างหลากหลาย ภายใต้แนวคิดศูนย์การเรียนรู้และวัฒนธรรม ทำให้ Dokk1 ได้รับรางวัลระดับโลก Public Library of the Year เมื่อปี 2016 โดยรอล์ฟทำหน้าที่วิทยากร บรรยายเรื่อง"A New Tale of the Public Library in the Networked Society: From Institutions of the Industrial Age to Innovation Agents – Experiences from Denmark" นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมพิเศษ ได้แก่ การอบรมเชิงปฏิบัติการหรือเวิร์คชอปเรื่อง "Imagine Your Future's Library" โดยวิทยากรจากต่างประเทศทั้ง 3 ท่าน อย่างใกล้ชิด ดังนี้ WORKSHOP 1 หัวข้อ Scenario Planning for Libraries and Information Organization โดยวิทยากร สตีฟ โอคอนเนอร์ (Steve O'Connor) WORKSHOP 2 หัวข้อ Future Libraries: Transforming Libraries from Physical Space to Active Learning Space โดยวิทยากร แอนดรูว์ แฮร์ริสัน (Andrew Harrison) WORKSHOP 3 หัวข้อ How to Apply the Four Spaces Model to Change Your Libraryโดยวิทยากร รอล์ฟ เฮเพล (Rolf Hapel) ทั้งนี้ ภายในงานได้รับความสนใจเข้าร่วมการสัมมนาจากผู้เกี่ยวข้องในการพัฒนาแหล่งรู้และห้องสมุด กว่า 400 คน นอกจากนี้ยังมีการดำเนินการถ่ายทอดสดผ่านทางเฟซบุ๊คไลฟ์เป็นอีกช่องทางหนึ่ง เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้อย่างไม่มีขีดจำกัดให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องได้นำความรู้จากงานประชุมวิชาการครั้งนี้ไปใช้อย่างกว้างขวางให้มากที่สุด อนึ่ง TK Forum เริ่มขึ้นครั้งแรกในปี 2552 และมีการจัดอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ครอบคลุมหัวข้อการอ่านและการเรียนรู้ในมิติต่างๆ โดยเน้นนำเสนอประสบการณ์ แนวคิด และองค์ความรู้สากล มาเผยแพร่สู่สังคมไทย เพื่อจุดประกายความคิดให้เกิดการวิเคราะห์เปรียบเทียบ พัฒนา และปรับใช้ให้สอดคล้องกับบริบทไทย หัวข้อการประชุมสัมมนาที่ผ่านมา อาทิ "ข้อเสนอนโยบายการอ่านของไทย จากประสบการณ์ต่างประเทศ: สวีเดน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้" (2553) "อ่านเพื่อนบ้าน: ประสบการณ์ส่งเสริมการอ่านของสิงคโปร์ ลาว และเวียดนาม" (2554) "Towards ASEAN Citizenship with Books and Reading" (2554-2556) "Learning in the Digital Era" (2557) "Library Futures: Challenges and Trends" (2558) "Library Innovation and Learning in the 21st Century" (2559) และ "Better Library and Learning Space: Trends and Ideas" (2560)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ