กรุงเทพฯ--16 ก.พ.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
สศก. ติดตามผลโครงการนาแปลงใหญ่หลักเกณฑ์ใหม่ ปี 2560 เกษตรกรยิ้มรับ ได้รับปัจจัยการผลิต องค์ความรู้ และเทคโนโลยีต่างๆ มาปรับใช้ ช่วยเกษตรกรต้นทุนลด ผลผลิตดี รายได้เพิ่ม สร้างความสามัคคี ความเข้มแข็งในการรวมกลุ่มนาแปลงใหญ่ได้เป็นอย่างดี
นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลประเมินโครงการนาแปลงใหญ่หลักเกณฑ์ใหม่ ของปี 2560 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรรวมกลุ่มบริหารจัดการเมล็ดพันธุ์รวมกัน ผลิตข้าวคุณภาพได้มาตรฐานข้าวไทย ลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต ภายใต้การบูรณาการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยปี 2560 มีพื้นที่ที่สามารถดำเนินการในระบบนาแปลงใหญ่หลักเกณฑ์ใหม่ ปี 2560 รวม 51 จังหวัด จำนวน 747 แปลง พื้นที่ 752,659 ไร่ เกษตรกร 55,087 ราย โดย สศก. ลงพื้นที่เก็บข้อมูลเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ รวมทั้งประธานกลุ่ม และผู้จัดการแปลง ใน 15 จังหวัด จำนวน 585 ตัวอย่าง ช่วงปลายเดือนธันวาคม 2560 พบว่า
กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมการข้าว ได้ให้การสนับสนุนปัจจัยการผลิตแก่ เกษตรกรกลุ่มนาแปลงใหญ่ที่เป็นสมาชิกไปใช้และบริหารจัดการร่วมกัน ได้แก่ เมล็ดพันธุ์ข้าว กระสอบบรรจุภัณฑ์ เครื่องหยอดข้าวแห้งติดรถไถเดินตามชนิดใบผ่านร่อง เครื่องหยอดข้าวแห้งติดรถแทรคเตอร์เครื่องหยอดข้าวรุ่นดัดแปลงสำหรับนาน้ำตม เครื่องคัดทำความสะอาดเมล็ดพันธุ์ รวมทั้งมีการถ่ายทอดความรู้ด้านการผลิตเมล็ดพันธุ์ และการผลิตข้าวคุณภาพดี (GAP) ตามกระบวนการโรงเรียนเกษตรกร
ด้านค่าใช้จ่าย เกษตรกร ร้อยละ 84 สามารถลดค่าใช้จ่ายปัจจัยการผลิตในการทำนา โดยลดลง 512 บาทต่อไร่ หรือลดลงร้อยละ 15 (ค่าใช้จ่าย 3,359 บาทต่อไร่ ในปี 2559/60 ลดเหลือ 2,847 บาทต่อไร่ ในปี 2560/61) ซึ่งค่าใช้จ่ายที่ลดลงส่วนใหญ่เป็นค่าพันธุ์ ปุ๋ยเคมี และการใช้สารเคมีน้อยลง
ด้านผลผลิต เกษตรกรร้อยละ 78 มีผลผลิตต่อหน่วยเพิ่มขึ้น โดยเพิ่มขึ้นประมาณ 12 กิโลกรัมต่อไร่ หรือร้อยละ 2 (ผลผลิตประมาณ 631 กิโลกรัมต่อไร่ ในปี 2559/60 เพิ่มเป็น 643 กิโลกรัมต่อไร่ ในปี 2560/61) ขณะเดียวกันผลผลิตที่ได้มีคุณภาพเพิ่มขึ้นด้วย โดยเกษตรกรร้อยละ 53 ผลิตข้าวได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ จะเดินหน้าสนับสนุนให้เกษตรกรเข้าสู่การรับรองมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ได้สนับสนุนให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่ม เพื่อทำข้อตกลงซื้อขายกับเอกชน (MOU)จำนวน 221 แปลง ส่งผลให้เกษตรกรสามารถขายผลผลิตสูงกว่าราคาในท้องตลาดประมาณ 100 - 200 บาทต่อตัน
ด้านผลตอบแทนสุทธิ เกษตรกรมีผลตอบแทนสุทธิเพิ่มขึ้นประมาณ 533 บาทต่อไร่ หรือร้อยละ 35.89 (ผลตอบแทนสุทธิ 1,485 บาทต่อไร่ ในปี 2559/60 เพิ่มเป็น 2,018 บาทต่อไร่ ในปี 2560/61) และจากการสนับสนุนปัจจัยและเทคโนโลยีมาใช้ พบว่า เกษตรกรร้อยละ 73 มีความพึงพอใจในระดับมาก เนื่องจากได้รับการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ มีการนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีต่างๆ มาปรับใช้ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร และสามารถสร้างความสามัคคีความเข้มแข็งในการรวมกลุ่มนาแปลงใหญ่ได้เป็นอย่างดี
สำหรับการดำเนินการในปี 2561 กระทรวงเกษตรฯ จะดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่อง สร้างการรับรู้ให้เกษตรกรเห็นถึงผลประโยชน์ที่ได้รับ มีรายได้ที่มั่นคง ส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าโดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต บูรณาการหน่วยงานภาครัฐและเอกชนให้มีการเชื่อมโยงโดยใช้ตลาดนำการผลิต ทั้งนี้ เพื่อให้กลุ่มแปลงใหญ่มีการบริหารจัดการด้วยเกษตรกรเอง สามารถเป็นผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรได้ในระยะต่อไป และเป็นกลุ่มนาแปลงใหญ่ที่ยั่งยืนในระยะยาว