กรุงเทพฯ--16 ก.พ.--บล.กสิกรไทย
บล.กสิกรไทยมอง ปี 2561 จะเป็นปีที่หุ้นกลุ่มธนาคารมีความแข็งแกร่ง รับประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้นและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ กระแสเงินใหม่เข้าสู่กลุ่มธนาคาร ชี้ธนาคารขนาดใหญ่ตอบสนองดีที่สุด มองปี 2561 ยังไม่มีสัญญานการเกิดวิกฤตแม้ตลาดหุ้นสหรัฐปรับฐานรุนแรง
นายประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ มีมุมมองต่อกลุ่มธนาคารในปี 2561 ว่าจะได้ประโยชน์จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย การลงทุน การบริโภคที่คาดว่าจะดีที่สุดในรอบหลายปี ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความต้องการสินเชื่อเพื่อการลงทุนที่สูงขึ้น โดยเฉพาะจากกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำอย่างกลุ่มสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งคาดว่ากำไรโดยรวมจะฟื้นตัวขึ้น 11% ในปี 2561 เทียบกับการเติบโตของตลาดที่ 5.4%
ปัจจุบันกลุ่มธนาคารมี Forward PBV 1.20 เท่า แม้จะยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปีของกลุ่มที่ 1.35 เท่าแต่ก็เห็นการปรับเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากสถิติในอดีตพบว่า Forward PBV จะตอบสนองในทางตรงข้ามต่อ NPL ล่วงหน้า 4 ไตรมาส ทั้งนี้บล.กสิกรไทยคาดว่า ในปี 2561 ระดับ NPL จะปรับลดลงต่อเนื่องจากไตรมาส 4 ปี 2560 ที่ 3.73% เหลือ 3.64% ทำให้กลุ่มธนาคารที่เคยได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบเรื่อง NPL มาตลอด 3 ปี จะผ่อนคลายมากขึ้น ประกอบกับแนวโน้มเรื่องการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ จะเป็นปัจจัยผลักดันให้กระแสเงินเข้ามาทำให้ Forward PBV สามารถขึ้นไปที่ 1.6 เท่าได้ในปีนี้ นอกจากนั้นกลุ่มธนาคารได้ประโยชน์จากสินเชื่อที่เติบโตแข็งแกร่ง รายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิที่โตขึ้น ซึ่งมีแรงหนุนมาจากสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ สินเชื่อรัฐและสินเชื่อรายย่อย คาดการเติบโตของสินเชื่อจะเร่งตัวขึ้นเป็น 6% ในปี 2561
ในส่วนของการปรับฐานของตลาดหุ้นสหรัฐจากความกังวลเรื่องดอกเบี้ยและเงินเฟ้อ เราประเมินว่าเป็นเพียงแค่การปรับฐานระยะสั้นเท่านั้น ยังไม่มีสัญญานของการเกิดวิกฤตขนาดใหญ่ โดยระดับดอกเบี้ยพันธบัตรสหรัฐ 10 ปี ยังอยู่ใกล้เคียงกับเงินเฟ้อ ขณะที่เงินเฟ้อที่ถูกผลักดันด้วย Cost Push และ Demand pull พร้อมๆกัน ขณะที่เงินเฟ้อยังอยู่ในบริเวณที่ต่ำที่สุดในรอบ10ปี และยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าGDP ซึ่งทั้งหมดเป็นสภาวะที่เอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แม้ว่าความเสี่ยงที่กระแสเงินโลกยังมีความผันผวนจากความกังวัลในเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยและเงินเฟ้อ แต่คาดว่าผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยจะมีจำกัด เนื่องจากนักลงทุนต่างประเทศไม่ได้ถือครองหุ้นไทยมาก
ทั้งนี้ แม้ว่าดอกเบี้ยและเงินเฟ้อในปี 2561 ยังคงเป็นประเด็นบวกต่อการปรับเพิ่มของตลาดหุ้น แต่นักลงทุนต้องระมัดระวังสัญญานจาก Market cap ของบริษัทขนาดใหญ่ในตลาดหุ้นของสหรัฐเทียบกับขนาดของ GDP ที่ใกล้ถึงจุดสูงสุดเหนือ 200% ซึ่งเป็นระดับก่อนการเกิดวิกฤติดอทคอมและวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์นอกจากนั้น บล.กสิกรไทยได้เปรียบเทียบผลตอบแทนของ S&P500 INDEX ในแต่ละวันเทียบกับ 10 ปีที่ผ่านมาพบว่าหากในปี 2562 ดัชนีหุ้น S&P500 ขึ้นไปเกิน 2,800 จุด เมื่อคำนวณจากฐานที่ต่ำในปี 2552 จะทำให้ผลตอบแทนพุ่งเกิน 300% ซึ่งเป็นระดับก่อนการเกิดวิกฤตตามสถิติที่ผ่านมา ทำให้นักลงทุนควรระมัดระวังความเสี่ยงในประเด็นนี้ด้วย
อย่างไรก็ตาม บล.กสิกรไทยยังคงมองว่ากลุ่มธนาคารจะเป็นกลุ่มหุ้นที่ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้นและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยเชื่อว่าสภาพคล่องส่วนเพิ่มจะเข้าหากลุ่มธนาคาร และธนาคารขนาดใหญ่จะตอบสนองได้ดีที่สุด มอง BBL KTB เป็นตัวเด่น นอกจากนี้กลุ่มค้าปลีกยังเป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากเงินเฟ้อขาขึ้นอีกด้วย เลือก CPALL HMPRO ROBINS เป็นตัวเด่น.