กรุงเทพฯ--16 ก.พ.--กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
กระทรวงดิจิทัลฯ จับมือ มหาดไทย-กศน. เร่งส่งต่อความรู้การใช้ประโยชน์ "เน็ตประชารัฐ" ผลักดันดิจิทัลบูรณาการเศรษฐกิจและสังคม สอดรับโครงการ "ไทยนิยม ยั่งยืน"
กระทรวงดิจิทัลฯ เดินหน้าเร่งถ่ายทอดความรู้การใช้ประโยชน์จาก "เน็ตประชารัฐ" ภายใต้โครงการอบรมหลักสูตร "การใช้ประโยชน์จากเน็ตประชารัฐและการรู้เท่าทันเทคโนโลยีดิจิทัล" วางกลไกการขับเคลื่อนสอดรับโครงการ "ไทยนิยม ยั่งยืน"
นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า ปัจจุบันกระทรวงดิจิทัลฯ ได้เร่งดำเนินการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้เกิดการใช้ประโยชน์จากโครงการ "เน็ตประชารัฐ" ในพื้นที่ 24,700 หมู่บ้าน โดยได้จัดทำคู่มือการสร้างการรับรู้การใช้ประโยชน์จากเน็ตประชารัฐและการรู้เท่าทันเทคโนโลยีดิจิทัล และได้ฝึกอบรมครูจากสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) จำนวน 1,033 คน เพิ่อให้เป็นวิทยากรแกนนำในการสร้างการรับรู้ให้แก่กลุ่มผู้นำชุมชน จำนวน 100,000 คน ซึ่งขณะนี้ (ณ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2561) ดำเนินการอบรมผู้นำชุมชนไปแล้ว จำนวน 18,335 หมู่บ้าน มีผู้เข้ารับการอบรมจำนวน 76,867 คน
การขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาบุคลากรเน็ตประชารัฐสอดรับกับโครงการ "ไทยนิยม ยั่งยืน" ของรัฐบาล โดยมีกรอบหลักในการดำเนินการเพื่อการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศไทยสู่ความยั่งยืนใน 10 เรื่อง โดยในหัวข้อ ที่ 8 การรู้เท่าทันเทคโนโลยี ซึ่งเป็นภารกิจที่กระทรวงดิจิทัลฯ เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนนั้น ซึ่งที่ผ่านมาได้ มีการวางนโยบายทั้งระดับจังหวัด อำเภอ ไปจนถึงระดับตำบล เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชน ให้มีความรู้เท่าทัน และใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยกระทรวงฯ ได้สนับสนุนองค์ความรู้ให้กับครู กศน. เพื่อร่วมเป็นทีมงานระดับตำบล และจัดทำคู่มือสำหรับใช้ในการถ่ายทอดความรู้ไปสู่ประชาชนตามแผนโครงการฯ เมื่อทีมระดับตำบลดำเนินการเสร็จสิ้น กระทรวงดิจิทัลฯ จะดำเนินการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการเพิ่มเติมในเชิงลึกให้แก่ผู้ที่สนใจ ตลอดจนผู้ประกอบการ และกลุ่มอาชีพในหมู่บ้านที่มีเน็ตประชารัฐไม่น้อยกว่า 1 ล้านคน ตอบรับข้อที่ 10 ของโครงการ "ไทยนิยม ยั่งยืน" ที่เป็นภารกิจของแต่ละหน่วยงาน
ทั้งนี้ เป้าหมายในระยะยาว กระทรวงดิจิทัลฯ ได้ให้ความสำคัญเรื่องของการใช้ประโยชน์จาก"เน็ตประชารัฐ" เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงบริการของภาครัฐ การบริการสาธารณสุข และส่งเสริมการสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้กับประชาชน ซึ่งในอนาคตประเทศไทยจะมีเครือข่ายอินเทอร์เน็ตทั่วทุกพื้นที่ของประเทศ โดยเฉพาะภาคการเกษตรซึ่งถือเป็นภาคการผลิตที่สำคัญของไทย จะสามารถพัฒนาไปสู่การเกษตรแบบทันสมัย โดยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ซึ่งจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับชุมชนจากรุ่นสู่รุ่น ในลักษณะของการช่วยเหลือเกื้อกูลกันในสังคม