กรุงเทพฯ--16 ก.พ.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า พระนครเหนือ
ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) เป็นประธานในงานแถลงข่าว มจพ. พร้อมส่งดาวเทียมแนคแซทขึ้นสู่วงโคจรภายในปี 2561 พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและศาสตราจารย์ ดร.สุวัฒน์ กุลธนปรีดา หัวหน้าโครงการ ทีมคณาจารย์ ประกอบด้วย ดร.พงศธร สายสุจริต ผศ.ดร. สุรเมธ เฉลิมวิสุตม์กุลและทีมนักศึกษา ผู้ร่วมจัดทำ ดาวเทียมแนคแซท (KNACKSAT, ย่อมาจาก King Mongkut's University of Technology North Bangkok Academic Challenge of Knowledge SATellite) เป็นดาวเทียมรูปแบบคิวแซท (CubeSat) มีขนาด 10x10x10 ลูกบาศก์เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 1 กิโลกรัม และใช้คลื่นความถี่วิทยุสมัครเล่นในการสื่อสาร ดาวเทียมแนคแซทได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ภายใต้ชื่อโครงการ "KNACKSAT" โครงการออกแบบและจัดส่งดาวเทียมขนาดเล็กเพื่อการศึกษา ดาวเทียมแนคแซทเป็นดาวเทียมสัญชาติไทยดวงแรกที่ออกแบบและสร้างโดยคนไทยและภายในรั้วมหาวิทยาลัยไทย ความสำเร็จของโครงการดาวเทียมแนคแซทนี้จะเป็นการแสดงให้เห็นว่า คนไทยมีศักยภาพในการออกแบบและสร้างดาวเทียมและระบบต่างๆ ที่ใช้ในอวกาศได้เอง และประเทศไทยมีความพร้อมสำหรับอุตสาหกรรมอวกาศที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทีมอาจารย์และนักศึกษา มจพ. ได้ดำเนินการจัดสร้างดาวเทียมแนคแซทเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และตัวดาวเทียมได้ผ่านการทดสอบในสภาวะต่างๆ ตามข้อกำหนดของจรวดส่งดาวเทียมแล้ว พร้อมที่จะถูกส่งขึ้นสู่วงโคจร
ประโยชน์ของดาวเทียมเพื่อการศึกษาสัญชาติไทยดวงแรก
1. เพื่อเพิ่มศักยภาพและประสบการณ์การสร้างดาวเทียมจริงให้กับบุคลากร (อาจารย์ นักวิจัย และนักศึกษา) ของประเทศ
2. เพื่อเป็นฐานรากในการออกแบบและสร้างดาวเทียมที่มีขนาดใหญ่ขึ้นต่อไปภายในประเทศ ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและความมั่นคง
3. เพื่อเป็นการกระตุ้นความสนใจในวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับเยาวชน ที่จะเป็นกำลังหลักในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศต่อไปในอนาคต
ดาวเทียมแนคแซทจะถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรกับมิชชั่น "SSO-A" ของบริษัท Spaceflight ด้วยจรวด SpaceX Falcon 9 ภายในปีนี้ โดยมีพันธกิจหลักในอวกาศประกอบด้วย
- การถ่ายภาพโลกจากอวกาศ (ความละเอียด: 1–2 กิโลเมตรต่อ pixel)
- ทดสอบการทำงานของระบบต่างๆ ที่ออกแบบและจัดสร้างขึ้น ในอวกาศ