กรุงเทพฯ--16 ก.พ.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับเอกอัครราชทูต ประจำประเทศไทยทั้ง 5 ประเทศ ได้แก่ อิสราเอล โปแลนด์ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และปากีสถาน ว่า กระทรวงเกษตรฯ มีความยินดีที่ทูตแต่ละประเทศให้ความสนใจเข้าพบและพร้อมให้ความร่วมมือกับกระทรวงเกษตรฯ ในหลายๆ ด้าน ซึ่งฝ่ายไทยได้แจ้งว่าพร้อมให้ความร่วมมือกับแต่ละประเทศเช่นกัน ซึ่งประเด็นสำคัญที่ไทยได้หยิบยกและแลกเปลี่ยนความร่วมมือที่จะก่อให้เกิดผลประโยชน์ระดับทวิภาคี แบ่งเป็น 6 ประเด็นสำคัญ ได้แก่
1. ความร่วมมือด้านวิชาการเกษตรภายใต้เอ็มโอยูระหว่างกัน ซึ่งครอบคลุมทั้งด้านพืช ประมง ปศุสัตว์ และระบบชลประทาน ทั้งในส่วนที่ได้มีการลงนามความตกลงแล้ว และอยู่ในระหว่างการหารือในรายละเอียดระหว่างคณะทำงานของแต่ละประเทศ
2.การพัฒนาบุคลากร นวัตกรรมและเทคโนโลยีการเกษตร เช่น การพัฒนาสมาร์ทฟาร์มเมอร์ของไทยโดยการเรียนรู้จากแรงงานไทยที่ไปทำการเกษตรที่อิสราเอลซึ่งมีประมาณ 2 หมื่นคน การทำการเกษตรอัจฉริยะกับประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้เริ่มนำร่องสำหรับการผลิตมันสำปะหลังและผลิตข้าวแปลงใหญ่ โดยกระทรวงเกษตรฯ GISTDA และมหาวิทยาลัยฮอกไกโด จะได้ลงนามใน MOU ร่วมกัน เพื่อจะได้ร่วมมือในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีด้านการเกษตรอัจฉริยะ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อสองประเทศ เป็นต้น
3.การเปิดตลาดสินค้าเกษตระหว่างกันทั้งสินค้าเดิมและสินค้าใหม่ เช่น การส่งออกยางพาราไปยังโปแลนด์ และญี่ปุ่นที่ให้ความสนใจยางพาราไทย ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ พร้อมจะเป็นตัวกลางในการหาแหล่งซื้อยางที่ได้คุณภาพและราคาที่เป็นธรรมให้แก่ประเทศที่ให้ความสนใจด้วย การเร่งรัดการส่งออกมะม่วงมหาชนก และขยายสัดส่วนการส่งออกไก่สดไทยไปยังประเทศเกาหลีใต้ ขณะที่เกาหลีใต้สนใจส่งแอปเปิ้ลและเนื้อวัวเกาหลีมายังประเทศไทย ซึ่งอยู่ระหว่างขั้นตอนการตรวจสอบทางเทคนิคที่คาดว่าจะมีความชัดเจนเร็วๆ นี้
4. การลดปัญหาอุปสรรคการนำเข้า-ส่งออกสินค้าเกษตรระหว่างกัน ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้ถือโอกาสขอบคุณญี่ปุ่นผ่านท่านทูตในกรณีเลื่อนการออกประกาศบังคับปรับปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด (MRL) ของสารฟอสอีทิล (fosetyl-aluminium) ซึ่งผสมในยาปราบศัตรูพืชปนเปื้อนในสินค้าเกษตรออกไปก่อนจนกว่าจะหารือและได้ข้อสรุปกับประเทศคู่ค้าต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบแล้วเสร็จ ทั้งนี้ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร (มกอช.) และกรมวิชาการเกษตรจะร่วมกันติดตามความคืบหน้าของประเด็นดังกล่าวอย่างใกล้ชิด รวมทั้งหารือกับฝ่ายญี่ปุ่นเพื่อให้ได้ข้อสรุปร่วมกันที่สามารถยอมรับได้ และไม่กระทบต่อการส่งออกสินค้าข้าวจากไทยไปญี่ปุ่นต่อไป
5. การเชิญชวนให้แต่ละประเทศเพิ่มการค้าการลงทุนในเขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี โดยเฉพาะด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร
และ 6. การชี้แจงแนวทางการแก้ไขปัญหาประมงไอยูยูของรัฐบาลไทย ซึ่งทูตแต่ละประเทศที่เข้าพบได้ชื่นชมและเห็นถึงความมุ่นมั่นตั้งใจในการแก้ไขปัญหาไอยูยูของไทย และพร้อมจะช่วยประชาสัมพันธ์ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องรับทราบข้อมูลต่าง ๆ ที่ไทยได้ดำเนินการอย่างเข้มข้น และเริ่มเห็นผลชัดเจนเป็นรูปธรรมแล้ว ทั้งการจัดการเรือ เครื่องมือทำการประมง แรงงานประมง วิธีทำการประมง พื้นที่ทำการประมง การบังคับใช้กฎหมาย การตรวจสอบ การจับกุม และดำเนินคดีผู้กระทำผิด ซึ่งกรมประมงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งรัดดำเนินการอย่างต่อเนื่อง