กรุงเทพฯ--19 ก.พ.--ธามดี พลัส
บมจ.ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส กางแผนบริหารตู้บุญเติมปี 61 หลากหลายกลยุทธ์คุณภาพทุกช่องทาง เน้นจัดการเพิ่มยอดเติมเงินเฉลี่ยต่อตู้ ด้วยการคัดจุดคุณภาพติดตั้งตู้บุญเติมใหม่และเปลี่ยนทำเลตู้เดิมที่ยอดน้อย มองเพิ่มจำนวนตู้บุญเติมปีนี้ 20,000 ตู้ สิ้นปีให้ได้ 144,653 ตู้ทั่วประเทศ เล็งเพิ่มแบงก์โอนเงินให้ครบ 5 แบงก์ปีนี้ หลังปีก่อนเติบโตแบบก้าวกระโดด เล็งอัดบริการใหม่ๆ เพิ่มความถี่ในการใช้งาน ผลักดันยอดเติมเงินให้เติบโตไม่ต่ำกว่า 20% จากปีก่อน ด้านผู้บริหารชี้ตลาดเติมเงินมือถือโอกาสยังมีอีกเพียบ จากสถิติผู้ใช้ผ่านตู้บุญเติมเพียง 25 ล้านเลขหมายจาก 70 ล้านเลขหมายในตลาดเติมเงินทั้งหมด พร้อมเพิ่มผู้ใช้ "Be Wallet" ให้ได้200,000 ราย ขยายกลุ่มลูกค้าใหม่ที่นิยมใช้สมาร์ทโฟน และปูทางรองรับการทำตลาดซื้อขายออนไลน์ (e-Marketplace) ในอนาคต
นายสมชัย สูงสว่าง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด(มหาชน) หรือ FSMART ผู้นำช่องทางการชำระเงินที่มีเครือข่ายมากที่สุดในประเทศไทยผ่าน "ตู้เติมเงินออนไลน์บุญเติม" เปิดเผยแนวทางการดำเนินงานในปี 2561 ว่า ในปีนี้บริษัทวางกลยุทธ์ที่หลากหลายและเน้นคุณภาพครบทุกด้านเพื่อการเติบโตทุกช่องทาง ด้วยหลักการบริหารจัดการยอดเติมเงินเฉลี่ยต่อตู้ต่อเดือน (ARPU) ให้เติบโตไม่ต่ำกว่า 5% จากปี 2560 พร้อมมอบนโยบายกับตัวแทนบริการสำรวจและคัดสรรพื้นที่ติดตั้งตู้บุญเติมในจุดที่มีคุณภาพ และปรับเปลี่ยนทำเลใหม่ให้กับตู้เติมเงินที่มียอดเติมเงินไม่เป็นไปตามเป้าหมายเพื่อเพิ่มศักยภาพยอดการเติมเงินเฉลี่ยต่อตู้ (ARPU) ให้เพิ่มขึ้นอย่างเป็นระบบในระยะยาว ทั้งนี้ บริษัทมีแผนเพิ่มจำนวนตู้บุญเติมในปีนี้ 20,000 ตู้ ซึ่งจะส่งผลให้สิ้นปีจะมีตู้บุญเติมครอบคลุมทุกพื้นที่ 144,653 ตู้
ขณะเดียวกัน บริษัทจะเพิ่มความถี่ในการใช้งานที่เป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มยอดเติมเงินเฉลี่ยต่อตู้ต่อเดือน (ARPU) เช่นกัน ด้วยการเพิ่มบริการให้หลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มธนาคารสำหรับโอนเงินด้วยการร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์รายใหม่อีก 3 ราย ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกรุงศรีอยุธยา หลังจากปี 2560 การโอนเงินเติบโตมากถึง 864% เมื่อเทียบกับปี 2559 จากการเป็นตัวแทนโอนเงินแก่ ธนาคารกรุงไทย และกสิกรไทย ซึ่งหากสามารถเพิ่มบริการครบ 5 ธนาคาร ตู้บุญเติมจะเป็นตัวแทนธนาคารคิดเป็น 90% ของตลาดธนาคารทั้งหมด และช่วยเพิ่มรายได้และฐานลูกค้าให้รู้จักกับตู้บุญเติม รวมถึงรักษาฐานลูกค้าเดิมให้ได้รับความสะดวกในการใช้บริการหน้าตู้ และเพิ่มโอกาสให้ลูกค้าได้ใช้บริการอื่น ๆ เช่น การจ่ายค่าตั๋วโดยสาร การชำระบิลสาธารณูปโภค และบริการใหม่ที่จะเพิ่มเข้ามา อาทิเช่น การขายประกันภัย/ประกันอุบัติเหตุ และบริการอีกมากมายที่จะเพิ่มเข้ามาในอนาคต รวมถึงจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายรายการสะสมแต้มเพื่อชิงโชคและแลกของรางวัลเพื่อกระตุ้นการใช้งานตลอดทั้งปี และจากแผนงานที่กล่าวมามั่นใจว่าจะช่วยเพิ่มมูลค่าการใช้บริการผ่านตู้บุญเติมให้เติบโตไม่ต่ำกว่า 20% จากปี 2560
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันตู้บุญเติมมีส่วนแบ่งทางการตลาดจากมูลค่าตลาดบริการโทรศัพท์มือถือประเภทเติมเงินล่วงหน้า (Pre-Paid) กว่า 22% ซึ่งเพิ่มขึ้น 5% จากปีที่ผ่านมาที่ 16% จากมูลค่าตลาดประมาณการกว่า 1.33 แสนล้านบาท โดยยังถือเป็นผู้นำตลาดตู้เติมเงินอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด
สำหรับแนวโน้มการใช้บริการระบบโทรศัพท์มือถือแบบเติมเงินยังคงมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เนื่องจาก กลุ่มผู้ใช้เงินสดและนิยมใช้การเติมเงินมือถือยังมีอัตราอัตราเพิ่มขึ้นมากกว่าแนวโน้มที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมมาใช้บริการโทรศัพท์แบบรายเดือน จากหลายปัจจัย โดยสำรวจจากจำนวนเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศ พบว่า ณ สิ้นปี 2560 มีเลขหมายโทรศัพท์มือถือประเภทเติมเงินล่วงหน้า (Pre-Paid) ผ่านตู้บุญเติมจำนวน 25 ล้านเลขหมาย หรือคิดเป็น 35% จากจำนวนเลขหมายโทรศัพท์ประเภทเติมเงินล่วงหน้าในประเทศประมาณการอยู่ที่ 70 ล้านเลขหมาย ซึ่งแสดงให้เห็นโอกาสที่ให้บริษัทจะเข้าไปมีส่วนแบ่งที่เพิ่มขึ้น และส่งผลให้บริษัทมีการเติบโตได้ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้
ขณะที่บริษัทมุ่งเน้นที่จะขยายกลุ่มลูกค้าใหม่ในรูปแบบแอพพลิเคชั่นกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์บนมือถือ (E-wallet) ด้วย "Be Wallet" ธุรกิจต่อยอดสำหรับกลุ่มที่ใช้สมาร์ทโฟนและสนใจในเทคโนโลยีที่ดำเนินการในช่วงปลายที่ผ่านมา ซึ่งมีเป้าหมายผู้ใช้บริการไม่ต่ำกว่า 200,000 รายในปีนี้ โดย Be Wallet มีบริการเช่นเดียวกับตู้เติมเงิน แต่จะเพิ่มเติมบริการบางประเภทเพื่อรองรับการดำเนินธุรกิจการเป็นตลาดกลางในการซื้อขายออนไลน์ (e-Marketplace) และรองรับการขยายตัวของธุรกิจที่เกี่ยวกับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) ในอนาคต และสามารถใช้ชำระเงินในการซื้อสินค้าจากตู้กดเครื่องดื่มอัตโนมัติ (Vending Machine) อีกด้วย
"แผนการดำเนินงานในปีนี้นอกจากการรักษาการเติบโตแล้ว บริษัทจะเน้นคุณภาพครบทุกด้าน ทั้งการบริหารจัดการยอดเติมเงินเฉลี่ยต่อตู้ต่อเดือน หรือ ARPU, การเพิ่มบริการใหม่เพิ่มความถี่ในการใช้งาน การเพิ่มธนาคารในการโอนเงินให้ครบ 5 ธนาคาร และบริการอื่น ๆ ด้วยการคำนึงถึงความต้องการใช้งานสะดวกของผู้ใช้เป็นหลัก ซึ่งจะช่วยผลักดันให้มูลค่าการใช้บริการผ่านตู้บุญเติมเติบโตตามแผน จากตลาดการเติมเงินมือถือยังคงเป็นฐานผู้ใช้ที่ใหญ่ที่สุดของตลาดมือถือโดยรวม เนื่องจากมีกลุ่มผู้นิยมใช้เงินสด และใช้การระบบเติมเงินมือถือมากกว่าผู้ใช้โทรศัพท์แบบรายเดือน โดยเฉพาะการเติมเงินในแบบ ROM (Refill On Mobile) และบัตรขูดที่ยังมีส่วนแบ่งทางการตลาดอีกมาก ซึ่งบริษัทพยายามไปมีส่วนแบ่งตรงนี้มากขึ้น ขณะเดียวกัน จะเจาะกลุ่มลูกค้าใหม่ด้วย Be Wallet ที่เน้นคนมีรายได้ประจำและนิยมมือถือในการใช้จ่าย และเพื่อสร้างความเชื่อมโยงของธุรกิจเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในอนาคต" นายสมชัย กล่าว