กรุงเทพฯ--19 ก.พ.--เอ้ดมีเดีย
หลายท่านอาจจะได้เคยยินชื่อ "ข้าวฮาง" มาบ้างแล้ว บางท่านอาจจะคิดว่า "อ๋อ.. พันธุ์ข้าวชนิดใหม่แน่เลย" ในความเป็นจริง "ข้าวฮาง" เป็นชื่อเรียกตามลักษณะของเตาที่ใช้นึ่งข้าว ซึ่งภาษาอีสาน เรียกว่า "เตาฮาง" ซึ่งเป็นเตาที่ขุดดิน ทำเป็นเรื่องหรือราง (ฮาง) สำหรับให้เปลวไฟขึ้นและตั้งหม้อนึ่ง
ข้าวฮาง เป็นผลผลิตทางภูมิปัญญามาตั้งแต่โบราณ เป็นมรดกตกทอดจากบรรพชนสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน เนื่องจากคนสมัยก่อน (คนภูไท) นิยมอาศัยบนพื้นที่สูงตามเชิงเขา หุบดอย ตั้งบ้านเรือนพิงภูเขา ส่วนด้านหน้าเป็นที่ราบลุ่มมีสายน้ำไหลผ่าน จึงมักมีพื้นที่ทำนาน้อย ผลิตข้าวไม่พอกินตลอดปี จึงจำเป็นต้องหาวิธีที่จะเอาข้าวที่ยังยืนต้นเขียวอยู่ แต่มีรวงค้อมแล้ว มานึ่งกินไปพลาง ก่อนที่ข้าวใหม่จะให้ผลผลิตออกมาตามฤดูกาล
กระบวนการผลิตข้าวฮาง ประกอบด้วย แช่ – บ่ม – นึ่ง – ผึ่ง – สี โดยขั้นตอนการบ่ม เป็นขั้นตอนที่ผู้ผลิตต้องการที่จะเร่งให้ข้าวเกิดการงอกราก เพื่อให้ข้าวฮางมีสารกาบาเป็นองค์ประกอบเช่นเดียวกับข้าวเพาะงอก ที่กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบัน ซึ่งสารกาบานี้มีฤทธิ์ในการป้องกันโรคเกี่ยวกับระบบประสาท ลดความดันโลหิต ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
เพื่อสืบสานภูมิปัญญาไทย ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ส่งต่อคุณค่าแห่งวิถีความเป็นไทยให้คงอยู่อย่างยั่งยืน "Hang Rice" หรือ "ข้าวฮาง" แอพพลิเคชั่น นำเสนอเรื่องราวของข้าวฮาง ภายใต้โครงการความร่วมมือของหน่วยงานต่าง ๆ ประกอบด้วยจังหวัดสกลนคร จังหวัดนครพนม และจังหวัดมุกดาหาร โดยการพัฒนาของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร จัดทำแอพพลิเคชั่น "Hang Rice" ที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับข้าวฮางทั้งหมด ตั้งแต่กระบวนการผลิต คุณประโยชน์ของข้าวฮาง ในรูปแบบหนังสือมัลติมีเดีย ที่ภายในหนังสือจะนำเสนอเรื่องราวของข้าวฮางผ่านทั้งวีดิทัศน์ ภาพนิ่ง แอนิเมชั่น ต่าง ๆ แสดงให้เห็นถึงวิถีความเป็นไทยและการดำเนินชีวิตในคนไทยภาคอีสาน ให้ได้ซึมซับวิถีชีวิตที่แฝงด้วยภูมิปัญญา โดยแสดงเนื้อหาในรูปแบบ ๓ ภาษา ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาจีน
ดาวน์โหลด "Hang Rice" ได้ทั้ง App Store และ Play Store เพื่อร่วมซึบซับวิถีแห่งไทย และทำความรู้จัก "ข้าวฮาง" มรดกแห่งภูมิปัญญาของคนไทยอีสานไปพร้อม ๆ กัน