ฟิทช์ประกาศเครดิตพินิจภายใต้การพิจารณาแก่อันดับเครดิตของธนาคารทหารไทย

ข่าวทั่วไป Monday October 29, 2007 14:57 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ต.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
ฟิทช์ เรทติ้งส์ ได้ประกาศเครดิตพินิจภายใต้การพิจารณา (Rating Watch Evolving) แก่อันดับเครดิตของธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB ดังต่อไปนี้
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (IDR) ที่ ‘BB+’
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นที่ ‘B’
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ ‘BB’
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของ Hybrid Tier 1 Securities ที่ ‘B’
- อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินที่ ‘D’
- อันดับเครดิตสนับสนุนที่ ‘3’
- อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ (Support Rating Floor) ที่ BB
- อันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ระยะยาวที่ระดับ ‘A (tha)’
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ‘F1 (tha)’
- อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ ‘A-(tha)’ ( A ลบ (tha))
การประกาศเครดิตพินิจภายใต้การพิจารณาในครั้งนี้เป็นผลมาจากที่คณะกรรมการบริหารของ TMB ได้ประกาศแผนเพิ่มทุนมูลค่า 3.5 หมื่นล้านบาทเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยการเพิ่มทุนคาดว่าจะมาจากการที่ธนาคารมีผู้ถือหุ้นรายใหม่โดยมีความเป็นไปได้ที่ ING Bank NV (‘AA’ / ‘F1+’) อาจเป็นหนึ่งในผู้ลงทุน การเพิ่มทุนในครั้งนี้คาดว่าจะได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงการคลังและจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้
การเพิ่มทุนในครั้งนี้คาดว่าจะช่วยคงสถานะของ TMB และอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของ Hybrid Tier 1 Securities ของธนาคารซึ่งได้ถูกปรับลดอันดับลงเมื่อเดือนมกราคม 2550 นอกจากนี้ การเพิ่มทุนยังมีผลทางด้านบวกสำหรับภาพรวมของอันดับเครดิตของธนาคารในระยะยาว การเพิ่มทุนเป็นจำนวนมากและการคาดการณ์ว่า TMB จะมีผลประกอบการเป็นบวกในปี 2551 คาดว่าจะส่งผลให้ TMB สามารถจ่ายดอกเบี้ยสำหรับ Hybrid Tier 1 Securities ได้ ในทางกลับกันหาก TMB ยังมีผลประกอบการขาดทุนเกิดขึ้นอีกเป็นจำนวนมากและหากมีการล่าช้าของแผนการเพิ่มทุน อาจมีความเป็นไปได้ที่จะมีการลดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของ Hybrid Tier 1 Securities และอันดับเครดิตอื่นๆของธนาคารได้
มีความเป็นไปได้ที่ผู้ถือหุ้นใหม่จะเข้ามาถือหุ้นของ TMB ที่ 30% ในเบื้องต้น การเพิ่มทุนนี้ยังคงต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้ถือหุ้นของธนาคารและหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง มีการคาดการณ์ว่า DBS of Singapore อาจไม่ร่วมลงทุนเพิ่มในการเพิ่มทุนครั้งนี้ซึ่งจะส่งผลให้จำนวนหุ้นที่ DBS ถืออยู่ลดลงเหลือประมาณ 6% ในขณะที่กระทรวงการคลังจะมีสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ที่ประมาณ 26%
การเพิ่มทุนใหม่จำนวน 3.5 หมื่นล้านบาทน่าจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งของเงินกองทุนของธนาคารได้เป็นอย่างมากถึงแม้ว่าอาจจะมีผลกระทบบางส่วนจากการกันสำรองเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามการปรับเปลี่ยนอันดับเครดิตในอนาคตขึ้นอยู่กับการพิจารณาว่าการเพิ่มทุนและการที่ TMB มีผู้ถือหุ้นรายใหม่ จะมีผลต่อการดำเนินธุรกิจ ผลกำไร กลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจและการบริหารความเสี่ยงของธนาคารอย่างไร รวมทั้งจะสามารถช่วยลดทอนความเสี่ยงในด้านความสามารถในการทำกำไร และคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารได้มากน้อยเพียงใด
TMB รายงานผลขาดทุนสุทธิ 2.07 หมื่นล้านบาท สำหรับผลประกอบการ 9 เดือนแรกของปี 2550 เนื่องจากมีการตั้งขาดทุนจากการด้อยค่าค่าความนิยมสืบเนื่องมาจากการรับโอนกิจการของธนาคาร ดีบีเอสไทยทนุ จำกัด (มหาชน) (DTDB) และบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (IFCT) เป็นจำนวน 1.26 หมื่นล้านบาทรวมถึงการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 1.35 หมื่นล้านบาทเพื่อให้เป็นไปตามแนวทางปฏิบัติที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทยในการเตรียมตัวเพื่อปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศฉบับที่ 39 (IAS 39) คุณภาพของสินทรัพย์ของ TMB ยังคงอ่อนแอโดยที่ระดับของสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs) สูงขึ้นอยู่ที่ 6.44 หมื่นล้านบาทหรือ 13% ของยอดสินเชื่อรวม ณ สิ้นเดือนกันยายน 2550 จาก 5.61 หมื่นล้านบาทหรือ 10% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2549 อัตราส่วนของการกันสำรองหนี้สูญต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ประมาณ 50% ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ถึงความเสี่ยงที่อาจต้องกันสำรองเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมากในอนาคต เป็นที่น่าสังเกตว่าสินเชื่อคุณภาพดีของธนาคารได้มีการลดลงประมาณ 13% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2550 ถึงแม้ว่าทางผู้บริหารระบุว่าการลดลงของสินเชื่อคุณภาพดีนี้มีผลมาจากการลดลงของสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนแก่ธนาคารต่ำหรือกลุ่มสินเชื่อที่มีความเสี่ยงสูง ระดับขาดทุนสะสมของธนาคาร ณ สิ้นเดือนกันยายน 2550 สูงขึ้นมาที่ 8 หมื่นล้านบาทจาก 6 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2549 ในขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนรวมและเงินกองทุนขั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงถ่วงน้ำหนัก ณ สิ้นเดือนกันยายน 2550 อยู่ที่ระดับ 10.72% และ 6.97% ตามลำดับ
TMB เป็นธนาคารพาณิชย์ที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 6 ของประเทศไทย โดยมีสินทรัพย์รวมอยู่ที่ 6.528 แสนล้านบาท และมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 10%
ติดต่อ
Vincent Milton, กรุงเทพฯ +662 655 4759
David Marshall, ฮ่องกง +852 2263 9963
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ใช้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศที่อันดับเครดิตของประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตระดับเพื่อการลงทุน หรือมีอันดับเครดิตอยู่ในระดับต่ำแม้จะอยู่ในระดับเพื่อการลงทุน อันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศจะอยู่ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับบริษัทที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นถูกออกแบบมาเพื่อนักลงทุนภายในประเทศในแต่ละประเทศนั้นๆ และมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับแต่ละประเทศ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นไม่สามารถนำไปใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้
คำจำกัดความของอันดับเครดิตและการใช้อันดับเครดิตดังกล่าวของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ สามารถหาได้จาก www.fitchratings.com อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต ได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวตลอดเวลา หลักจรรยาบรรณ การรักษาข้อมูลภายใน ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น แนวทางการเปิดเผยข้อมูลระหว่างบริษัทในเครือ กฎข้อบังคับรวมทั้งนโยบายและกระบวนการที่เกี่ยวข้องอื่นๆของฟิทช์ ได้แสดงไว้ในส่วน ‘หลักจรรยาบรรณ’ ในเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน ผู้ออกตราสารไม่ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการจัดอันดับเครดิต นอกเหนือจากการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะของบริษัทเท่านั้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ