กรุงเทพฯ--20 ก.พ.--เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น
ประเทศไทยและโลกกำลังเข้าสู่ระยะแห่งการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว เยาวชนหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่เป็นพลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติให้ก้าวหน้าด้วยองค์ความรู้ และนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนสังคมไทย...สร้างสรรค์สังคม 4.0 ที่น่าอยู่และยั่งยืน
ดร.ธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) พร้อมด้วยคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อการศึกษาและวิจัยทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร นำนิสิตนักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ที่มีผลการเรียนดีจากสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศทั้งภาครัฐและเอกชน จำนวน 42 คน เข้าเฝ้าฯสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รับพระราชทานเหรียญรางวัลเรียนดี และผู้ได้รับพระราชทานโล่ประกาศเกียรติคุณโครงการประกวดตำราดีเด่นด้านวิศวกรรมศาสตร์ 2 คน ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน มาคุยกับหนุ่มสาวนักศึกษาไทยคนเก่งและเปี่ยมจิตอาสา สะท้อนความหวังและพลังแห่งอนาคตประเทศชาติ
นภัสสร แตงเกตุ นักศึกษาหญิงจากอำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร กำลังศึกษาวิศวกรรมอุตสาหการ ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่ารู้สึกปลื้มปิติเป็นล้นพ้นในพระมหากรุณาธิคุณฯ ที่ได้รับพระราชทานเหรียญรางวัลเรียนดีในครั้งนี้ หลักการดำเนินชีวิตได้นำแนวทางขององค์ในหลวงรัชกาลที่ 10 ซึ่งทรงเน้นย้ำจิตอาสา การช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกัน โดยนภัสสรเป็นผู้รับผิดชอบโครงการพี่ติวน้องของมหาวิทยาลัยที่จัดขึ้นทุกๆ ปี และได้ออกค่ายอาสาพัฒนาชุมชนโดยใช้ความรู้ทางวิศวกรรมมาพัฒนาชุมชน เช่น สร้างห้องสมุด ปรับปรุงอาคารต่างๆในชุมชน เคล็ดลับในการเรียนจะแบ่งเวลาเป็นสัดส่วนเพราะเราชอบทำกิจกรรมและจะแบ่งเวลามาอ่านหนังสือและทบทวน คิดวิเคราะห์อยู่เสมอ ชีวิตในอนาคตอยากจะทำงานเป็นวิศวกรด้านโลจิสติกส์ซัพพลายเชน ที่กำลังมีบทบาทสำคัญในโลกที่เชื่อมต่อถึงกัน คนไทยของเรานั้นไม่แพ้ชาติใดในโลก ขอเพียงเราร่วมมือกัน ช่วยกันลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ประเทศก็จะก้าวสู่เป้าหมายไทยแลนด์ 4.0 ได้ในไม่ช้า
ชยุตม์ แตรไตรรงค์ หนุ่มนักศึกษาจากเมืองชล ปัจจุบันกำลังศึกษาอยู่ในคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพาโดยเจ้าตัวเคยได้รับรางวัล Engineering Student Talent Award กล่าวว่า "เหรียญพระราชทานรางวัลเรียนดีจากในหลวงรัชกาลที่ 10 เป็นแรงบันดาลใจและเครื่องเตือนใจให้เรามุ่งมั่นคิดดีทำดีเสมอ วิทยาการเทคโนโลยีก้าวหน้าอย่างรวดเร็วจนวันนี้สามารถสร้างหุ่นยนต์มาทำงานร่วมกับมนุษย์ ตราบใดที่เราใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมและดำเนินชีวิตอย่างยั่งยืนพอเพียงได้ ก็จะเกิดสมดุลรอบด้านดังหลักปรัชญาพอเพียงของ รัชกาลที่ 9 และแนวทางของในหลวงรัชกาลที่ 10 ซึ่งนำมาใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย ส่วนเคล็ดลับเรียนดีของผม คือ พักผ่อนให้เพียงพอ มีสมาธิในการอ่านหนังสือและหาโอกาสอ่านหนังสือกับเพื่อนๆด้วย แม้เราจะเข้าใจแล้ว แต่เมื่อเพื่อนๆมีคำถามข้อสงสัยก็จะเกิดกระบวนการคิดเพื่อประยุกต์หาคำตอบได้เสมอ เป็นการพัฒนาตนเองไปแบบต่อเนื่อง จะได้ทันสถานการณ์ที่โลกมีความก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วและมีสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆเกิดขึ้นมากมาย ผมใฝ่ฝันเป็นอาจารย์สอนด้าน เอ.ไอ.หุ่นยนต์ เพราะนับวัน เอ.ไอ.และหุ่นยนต์จะเข้ามามีบทบาทต่อชีวิตประจำวันและการทำงานในอนาคตมากยิ่งขึ้น"
จักริน มาลัยโรจน์ศิริ หนุ่มนักเรียนวิศวกรรมไฟฟ้า โรงเรียนนายเรือ และนักกีฬาโปโลน้ำที่เก่งกาจ กล่าวว่า "ผมรู้สึกภูมิใจที่สุดในชีวิตที่ได้ทำให้พ่อและแม่ภูมิใจในตัวเรา ไม่มีอะไรยากเกินความสามารถถ้าตั้งใจจะทำ ในชีวิตวัยเรียน ผมยึดหลักคำสอนของ ร.9 และ แนวทางของ ร.10 ในเรื่องของความเจริญของประเทศชาติย่อมมาจากความเกื้อกูลกัน และทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด การทำงาน หรือการทำอะไรต่าง ๆ ต้องมีจริยธรรม ผมจึงมักให้กำลังใจตนเองด้วยการตั้งเป้าหมายให้แน่วแน่ ลงมือทำในทันทีและมีวินัยในตนเอง หาเวลาฟังธรรมะบ้าง ช่วยให้มีสมาธิและสติปัญญา ที่ขาดไม่ได้คือ ออกกำลังกายให้สดชื่นทุกเย็น ผมฝันอยากทำงานเป็นทหารเรือด้านคอมพิวเตอร์ เพราะชื่นชอบและคิดว่าเทคโนโลยีทางเรือก้าวหน้ารวดเร็วมาก เช่น เรือขนส่งไร้คนขับ เรือพลังงานแสงอาทิตย์ คนรุ่นใหม่ต้องเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์และช่วยกันพัฒนาก้าวสู่สังคมอนาคตยุค 4.0 และจะต้องมีโครงสร้างด้านการสื่อสารและโทรคมนาคมที่มีคุณภาพ มีอินเตอร์เน็ตที่ครอบคลุมประชากรไทยมากที่สุดเพื่อให้สามารถเข้าถึงและเชื่อมโยงกันได้อย่างมีเสถียรภาพครับ"
ธรรศ พิงพิทยากุล หนุ่มจากรั้วมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา ก่อนหน้านี้เคยได้รับรางวัลทุนภูมิพล,การแข่งขันแกะสลักหิมะนานาชาติ ณ เมืองฮาบิน ประเทศจีน,รองชนะเลิศอันดับ 2 รายการแข่งขัน 24 hr. of Innovation Thailand ครั้งที่ 1 เขากล่าวว่า "ผมรำลึกถึงคำสอนของ ร.9 อย่างขึ้นใจที่ว่า "กลับมาพัฒนาประเทศชาติ" คนไทยทุกคนจากทุกภาคส่วนพัฒนาตัวเองให้เก่งและกลับมาพัฒนาประเทศชาติต่อไป ในอนาคตถ้าผมเรียนต่อในต่างประเทศก็จะกลับมาเปิดธุรกิจที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีการเกษตร เพราะประเทศไทยเราเป็นครัวของโลก แต่ที่ผ่านมาเทคโนโลยีเกษตรยังล้าหลัง ถ้าเราคิดค้นและพัฒนาได้เองจะช่วยเกษตรกรไทยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นได้อย่างกว้างขวาง ทำให้เราเป็นที่ 1 ในอาเซียนได้อย่างยั่งยืน สมัยมัธยมผมเป็นคนเรียนไม่เก่ง แต่เมื่อตั้งใจจะเรียนแล้วจึงตั้งใจอ่านหนังสือและค้นคว้าหาความรู้ จนในที่สุดผลแห่งการกระทำก็เกิดผล เคล็ดลับเรียนดีคือแบ่งเวลาให้เป็น รู้ว่าอะไรควรจะทำเวลาไหน อะไรควรทำก่อนหลัง โดยถ้าเป็นวิชาเรียนผมจะกลับมาอ่านซ้ำ และทำบทสรุป 1 รอบ ใครก็สามารถนำไปใช้ได้เพราะง่ายและได้ผลดี"
คำอธิบายภาพ
1.ดร.ธเนศ วีระศิริ และคณะกรรมการ วสท. พร้อมนักศึกษาเข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน
2. เยาวชนวิศวกรรมศาสตร์ 24 คนจากทั่วประเทศ และคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อการศึกษาและวิจัยทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
3. จักริน,ชยุตม์, นภัสสร, ธรรศ (จากซ้ายไปขวา)
4. จักริน,นภัสสร, , ธรรศ , ชยุตม์ (จากซ้ายไปขวา)
5..นภัสสร แตงเกตุ มหาวิทยาลัยนเรศวร
6..ชยุตม์ แตรไตรรงค์ มหาวิทยาลัยบูรพา
7.จักริน มาลัยโรจน์ศิริ โรงเรียนนายเรือ
8.ธรรศ พิงพิทยากุล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา