กรุงเทพฯ--21 ก.พ.--กรมประมง
จากปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรสัตว์น้ำของประเทศ กลับมีอีกหนึ่งความพยายามของหน่วยงานภาครัฐหน่วยงานหนึ่งที่ช่วยกันผลักดันและฟื้นคืนทรัพยากรสัตว์น้ำตลอดจนการสร้างอาชีพให้เกิดรายได้ให้กับประชาชนชาวไทยทั้งน้ำจืด น้ำทะเล รวมถึงประชาชนรอบชายฝั่ง หน่วยงานนั้นก็คือ "กรมประมง" ธนาคารเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำถูกก่อตั้งขึ้นภายใต้ชื่อเรียกที่แตกต่างกันไปตามลักษณะพื้นที่ แต่มีวัตถุประสงค์เดียวกันคือเพื่อช่วยฟื้นฟูสัตว์น้ำให้แก่ชุมชนในเขตพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทย โดยเน้นรูปแบบที่ชุมชนมีส่วนร่วม ดำเนินการต่อได้ด้วยวิธีการง่าย ๆ แต่ก่อประโยชน์ให้กับธรรมชาติเศรษฐกิจ และปากท้องของคนในชุมชนได้อย่างมหาศาล
นายสนธิพันธ์ ผาสุขดี ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด กล่าวว่า โครงการธนาคารผลผลิตการเกษตรด้านประมงเกิดขึ้นตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่มอบหมายให้กรมประมงดำเนินการเพื่อสร้างแหล่งอาหารให้กับชุมชน โครงการนี้จะนำแหล่งน้ำของชุมชนที่ไม่ได้
ใช้ประโยชน์มาส่งเสริมในเรื่องของการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และวิธีบริหารจัดการเงินทุนหมุนเวียนในหมู่บ้านเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการเลี้ยงชีพโดยหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกชุมชนเข้าร่วมโครงการฯ เบื้องต้นทางชุมชนจะต้องมีแหล่งน้ำพื้นที่ตั้งแต่ 15-100 ไร่ ใกล้กับหมู่บ้านเพื่อจะได้ดูแลอย่างใกล้ชิด หลังจากชุมชุนผ่านการคัดเลือกทางกรมประมงจะสนับสนุนงบประมาณพร้อมลูกพันธุ์สัตว์น้ำในปีแรก และจะมีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานประมงจังหวัดและศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดในพื้นที่เข้าไปให้คำแนะนำ และความรู้ด้านประมงให้แก่คณะกรรมการชุมชนเพื่อนำไปปรับใช้พัฒนางานด้านประมงในพื้นที่ อย่างไรก็ตามการเข้าไปส่งเสริมของเจ้าหน้าที่กรมประมงจะเปรียบเสมือนเพื่อนคู่คิดให้เกษตรกรโดยเน้นในเรื่องของการเป็นที่ปรึกษาทางวิชาการ อาทิ การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาปรับใช้ในการเลี้ยงสัตว์น้ำ การทำกองอาหารสัตว์น้ำ การพัฒนาคุณภาพน้ำ ฯลฯ เรียกได้ว่าทางเจ้าหน้าที่จะนำหลักวิชาการที่เข้ามาสนับสนุน แต่ทางชุมชนจะต้องร่วมกันตัดสินใจหาแนวทางบริหารจัดการที่เหมาะสมในการพัฒนาธนาคารผลผลิตเกษตรด้านประมงของตนเอง
โครงการธนาคารผลผลิตเกษตรด้านประมงภายใต้การสนับสนุนของกรมประมงเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี2559 – 2561 ปัจจุบันมีชุมชนสนใจเข้าร่วมโครงการแล้ว 40 แห่ง ทั่วประเทศ ซึ่งแต่ละแห่งจะดำเนินการ ตามข้อตกลงหรือข้อกำหนดของกรมประมง เช่น มีการจัดตั้งคณะกรรมการประจำแหล่งน้ำเพื่อดูแลแหล่งน้ำ มีข้อกำหนดเรื่องผลประโยชน์ที่จะได้รับและวิธีนำเงินมาบริหารจัดการในชุมชน
นายสมบุญ ธัญญาผล รักษาการประมงจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวเพิ่มเติมถึงแนวทางการสนับสนุนในส่วนของสำนักงานประมงจังหวัดบุรีรัมย์ว่า ทางสำนักงานประมงจังหวัดบุรีรัมย์ได้สำรวจพื้นที่ชุมชนบ้าน
ซับสมบูรณ์จัดเป็นชุมชนที่มีความเข้มแข็งและมีศักยภาพพัฒนาได้ในเรื่องของการประมง หลังจากที่ชุมชนบ้านซับสมบูรณ์ได้เข้าร่วมโครงการเรียบร้อยแล้ว ทางชุมชนก็ได้มีการประชาคมระดมความคิดเห็นกันในหมู่บ้านว่าจะทำกิจกรรมอะไรเพื่อพัฒนางานด้านการประมงในพื้นที่หนองซับสมบูรณ์ โดยมีเจ้าหน้าที่ของ
กรมประมงให้คำปรึกษาในเรื่องของหลักวิชาการ โดยกิจกรรมที่ชุมชนดำเนินการอยู่จะมีกิจกรรมหลักๆ ดังนี้ 1.กิจกรรมการอนุบาลลูกปลาในคอกเพื่อนำไปปล่อยลงแหล่งน้ำในชุมชน2.กิจกรรมอนุบาลลูกปลาเพื่อจำหน่ายลูกพันธุ์ให้กับเกษตรกรหรือผู้ที่สนใจนำไปเพาะเลี้ยง3.กิจกรรมเพาะเลี้ยงปลาในกระชังเพื่อนำไปจำหน่ายให้ประชาชนในพื้นที่นำไปบริโภคอีกทั้งยังมีการต่อยอดด้วยการนำไปแปรรูปเป็นปลาแดดเดียวและปลาส้มเพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าอีกทางหนึ่งด้วย 4.กิจกรรมเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำในแหล่งน้ำด้วย
การปล่อยปลาและเสริมอาหารธรรมชาติ เช่น ทำคอกปุ๋ยในแหล่งน้ำเพื่อช่วยเพิ่มอาหารธรรมชาตินางหนูแดง ทองใบ ประธานโครงการธนาคารผลผลิตเกษตรด้านประมงบ้านหนองซับสมบูรณ์ กล่าวในฐานะตัวแทนชุมชนว่า ชุมชนบ้านซับสมบูรณ์มีหนองซับสมบูรณ์ตั้งอยู่หมู่ที่ 7 ต.ทุ่งจังหัน อ.โนนสุวรรณ จ.บุรีรัมย์ มีพื้นที่ขนาด 40 ไร่ใกล้ชุมชน เดิมยังไม่ได้มีการนำแหล่งน้ำมาใช้ประโยชน์เท่าที่ควร แต่เมื่อปี 60 ทางชุมชนสนใจที่จะเข้าร่วมโครงการฯ เป็นอย่างมากจึงได้มีการประเมินพื้นที่ร่วมกับกรมประมง โดยในปีแรกหลังเข้าร่วมโครงการฯ ทางชุมชนได้รับสนับสนุนลูกพันธุ์ปลาและงบประมาณจากกรมประมง จำนวน 173,000 บาท เพื่อเป็นทุนในการเริ่มก่อตั้งโครงการฯ ทางชุมชนได้นำงบประมาณดังกล่าวมาสร้างโรงเรือน สร้างบ่อเลี้ยงปลา รวมถึงสร้างกระชังเพื่ออนุบาลลูกพันธุ์ปลา
ปัจจุบันธนาคารผลผลิตเกษตรด้านประมงบ้านหนองซับสมบูรณ์มีสมาชิก 58 ราย 168 หุ้น เราเริ่มมีระบบบริหารจัดการที่ดีและเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ทางชุมชนได้มีการนำปัญหาอุปสรรคต่างๆ มาพูดคุยกันผ่านเวทีประชาคมกันเป็นประจำทุกเดือน เพื่อให้สมาชิกทุกคนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาธุรกิจในชุมชน นอกจากนี้ทางกลุ่มแม่บ้านของชุมชนได้มีการร่วมกันต่อยอดด้วยการสร้างมูลคาเพิ่มให้กับสัตว์น้ำด้วยการนำมาแปรรูปเป็นปลาแดดเดียว และปลาส้มอีกด้วย ปัจจุบันทางชุมชนบ้านซับสมบูรณ์ได้เข้าร่วมโครงการธนาคารผลผลิตเกษตรด้านประมงในปี 2560 ซึ่งผลผลิตในปีแรกทางชุมชนมีรายได้จากขายปลาประมาณ 40,000 บาทและคาดว่าจะจากการพัฒนาและส่งเสริมผลผลิตในรูปแบบต่างๆ ในช่วงเดือนเมษายนนี้คาดว่าผลผลิตรอบที่1 จะสามารถสร้างรายได้ให้ชุมชนไม่ต่ำกว่า 100,000 บาทด้านการปันผลทางโครงการฯ จะปันผลให้สมาชิก 25 % จาก 100% และส่วนที่เหลือจะถูกนำไปแบ่งเป็นค่าใช้จ่ายในกองทุน เช่น ค่าปุ๋ย ค่าลูกพันธุ์สัตว์น้ำ ค่ากองอาหารสัตว์น้ำ ค่าสาธารณะประโยชน์ เช่น ค่างานฌาปนกิจศพ ทุนการศึกษาเด็กและผู้สูงอายุ เป็นต้น
นายสนธิพันธ์ ฯ กล่าวในตอนท้ายว่า ในปี 2561 กรมประมงมีนโยบายที่จะประกวดโครงการตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อาทิ โครงการเกษตรแปลงใหญ่ โครงการธนาคารผลผลิตเกษตรด้านการประมง โซนนิ่ง เกษตรอินทรีย์ ฯลฯ สำหรับโครงการธนาคารผลผลิตด้านเกษตรทั้ง 40 แห่งจะมีการตัดสินด้วยโดยจะตัดสินจากความเข้มแข็งสามัคคี การมีส่วนร่วมของคนในชุมชน การบริหารจัดการเรื่องรายได้ การแบ่งปันผลประโยชน์ ความคิดต่อยอดและพัฒนาชุมชนสำหรับกลุ่มที่ได้รับรางวัลก็จะได้เข้าไปรับโล่กับทางอธิบดีกรมประมงในงานวันสถาปนากรมประมงปี 61 ต่อไป