กรุงเทพฯ--21 ก.พ.--กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ในปัจจุบัน โลกได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ออกมามากมายและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สามารถเชื่อมต่อกับโลกอินเตอร์เน็ตได้ โดยมีกลไกชิ้นส่วนและมีความทันสมัย อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลได้อย่างรวดเร็วและถูกต้อง ซึ่งเป็นอีกปัจจัยหนึ่งในการดำรงชีวิตของคนยุคดิจิทัล
โดยสิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของ Internet of Things หรือ IOT คือ "อินเตอร์เน็ตในทุกสิ่ง" หมายถึง การที่สิ่งต่างๆถูกเชื่อมโยงทุกสิ่งทุกอย่างสู่โลกอินเตอร์เน็ต ทำให้มนุษย์สามารถสั่งการควบคุมการใช้งานอุปกรณ์ต่างๆ ผ่านทางเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เช่น การเปิด-ปิด อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ โทรศัพท์มือถือ เครื่องมือสื่อสาร เครื่องมือทางการเกษตร อาคาร บ้านเรือน เครื่องใช้ในชีวิตประจำวันต่างๆ ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เป็นต้น
กพร. เล็งเห็นประโยชน์ของ IOT จึงได้นำมาใช้ในการพัฒนาฝึกทักษะฝีมือแรงงาน พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้กำชับเรื่องของนโยบาย 4.0 ที่เน้นให้ฝึกทักษะฝีมือแรงงานโดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาประยุกต์ใช้ควบคู่กับการฝึกเพื่อพัฒนาทักษะ ในปี 2561 มีผู้เข้ารับการฝึกอบรมในหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับ IOT และการสนับสนุนการใช้ชีวิตในยุค 4.0 จำนวน 654 คน ซึ่งหลักสูตรที่อบรมมีมากกว่า 20 หลักสูตร เกี่ยวกับ การติดตั้งและบริหารการใช้อินเตอร์เน็ตด้วยอุปกรณ์อัจฉริยะ (Mikrotik) การติดตั้งโฮมเน็ตเวิร์ก การทำการตลาดออนไลน์ (พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์) ในยุคประเทศไทย 4.0 การพัฒนา ระบบปฏิบัติการของโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Software) เทคนิคการจัดการคลังสินค้าด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ออนไลน์ระดับพื้นฐาน ทั้งนี้ยังมีหลักสูตรสำหรับผู้สูงอายุอีกด้วย ได้แก่ การใช้โปรแกรมสำหรับการทำงานผ่านแท็บแล็ตและมือถือ (Apps for works Go Tablet Go Mobile) สำหรับผู้สูงอายุ และการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์คบนโลกออนไลน์สำหรับผู้สูงอายุ เป็นต้น
นายสุทธิ กล่าวต่อไปว่า การฝึกทักษะฝีมือด้านโซเชียลเป็นการช่วยลดต้นทุนอย่างมาก ในอดีตการจัดคลังสินค้าต้องอาศัยกำลังคนจำนวนมาก ในการยกถ่ายสินค้าเพื่อการจัดเก็บเข้าคลังสินค้า อีกทั้งเป็นการสิ้นเปลืองเวลา และขั้นตอนต่างๆ ในการจัดเก็บ แต่หากใช้เทคนิคการจัดการคลังสินค้าด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ระดับพื้นฐาน จะสามารถช่วยลดเวลาในการจัดเก็บได้เป็นอย่างดี หรือ การใช้โซเชียลเน็ตเวิร์ค บนโลกออนไลน์สำหรับผู้สูงอายุ สามารถเพิ่มทักษะและช่วยส่งเสริมการมีงานทำให้แก่ผู้สูงอายุ หากมีเครื่องมือที่เชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตได้
จะสามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้โดยไม่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ทั้งนี้ได้ดำเนินการฝึกอบรมโดยหน่วยงานในสังกัดสถาบัน และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศ หากสนใจสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่
กองสื่อสารองค์กร 02 – 2454035 สายด่วน 1506 กด 4 หรือดูกำหนดการฝึกอบรมในสาขาอาชีพต่างๆ ได้ที่ www.dsd.go.th หัวข้อกำหนดการฝึกอบรม อธิบดี กพร. กล่าว