กรุงเทพฯ--22 ก.พ.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการศูนย์ภูฟ้าพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีต.ภูฟ้า อ.บ่อเกลือ จ.น่าน ว่า ในปี 2538 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงเสด็จเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน ทรงเห็นความด้อยโอกาสของประชาชน จึงทรงโปรดให้ดำเนินการโครงการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่ และให้มีการสาธิตรูปแบบการเกษตรที่เหมาะสมกับพื้นที่ในรูปแบบวนเกษตร เพื่อให้มีการใช้ที่ดินอย่างถาวรเป็นต้นแบบการพัฒนาพื้นที่ต้นน้ำน่าน จึงทรงโปรดให้จัดตั้งศูนย์ภูฟ้าพัฒนาฯ ขึ้น ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 1,800 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ทรงงาน 600 ไร่ และพื้นที่ทำกินของเกษตรกรในโครงการฯ 1,200 ไร่ โดยมีเกษตรกร 127 ครัวเรือน นอกจากนี้ยังพบปัญหาในพื้นที่ของโครงการฯ คือ เกษตรกรเกือบทั้งหมดไม่สามารถผลิตข้าวให้เพียงพอต่อการบริโภคในครัวเรือน ดังนั้นเป้าหมายหลัก คือ การเพิ่มผลผลิตข้าวตามแบบเศรษฐกิจพอเพียงควบคู่กับการพัฒนาความสมดุลของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรวมทั้งยกระดับผลผลิตข้าวต่อพื้นที่ให้เพียงพอต่อการบริโภคในครัวเรือน และแก้ปัญหาเกษตรกรขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ข้าวและปัญหาด้านข้าวอื่น ๆ ตลอดจนถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านข้าวที่เหมาะสมสู่เกษตรกร ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยศูนย์วิจัยข้าวแพร่ กรมการข้าว เป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีส่วนในการพัฒนาการเพิ่มผลผลิตข้าวในโครงการดังกล่าว เพื่อใช้เป็นต้นแบบการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและเป็นพื้นที่ศึกษาดูงานด้านการเกษตรแบบครบวงจรในพื้นที่ จ.น่าน ต่อไป
ทั้งนี้ ในการลงพื้นที่โครงการฯ เพื่อมาปรึกษาหารือถึงปัญหาต้นน้ำน่าน กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นปัญหาที่มีมานานมาแล้ว โดยเฉพาะการทำลายป่าต้นน้ำ ซึ่งใน 1.8 ล้านไร่ที่เป็นพื้นที่ต้นน้ำ ได้ถูกเปลี่ยนไปเป็นพืชไร่/พืชเชิงเดี่ยว โดยจะทำอย่างไรเพื่อพลิกฟื้นกลับมาเป็นพืชที่มีลักษณะคล้ายป่า หรือวนเกษตรให้ได้อย่างไรก็ตามจากการทำงานและประสบการณ์ที่ผ่านมาจากศูนย์ศึกษาที่พระองค์ท่านทำมา รวมทั้งโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่าง ๆ โดยเฉพาะศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริจ.เชียงใหม่ ที่มีมานานที่สุด จะนำเหล่านั้นมาประยุกต์ใช้เพื่อช่วยเหลือและพัฒนาเกษตรในพื้นที่ จ.น่าน ให้เกิดผล ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่เข้ามาผลักดันพัฒนาด้านต่างๆ เพื่อสานต่อแนวพระราชดำริ ฟื้นฟูป่า รวมทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
"เราไม่ได้ดำเนินการเฉพาะลุ่มน้ำน่านเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงอีก 25 ลุ่มน้ำ โดยจะเริ่มจาก 5 ลุ่มน้ำแรก อาทิลุ่มน้ำห้วยโสมง ลุ่มน้ำป่าสัก ลุ่มน้ำปิง เป็นต้น โดยแต่ละพื้นที่จะเริ่มรวบรวมองค์ความรู้ที่มีและขยายผลไปให้เร็วที่สุด ซึ่งการลงพื้นที่ในครั้งนี้ได้เห็นถึงความก้าวหน้าของโครงการฯ ความสามัคคีของทั้งภาคประชาชนและทุกภาคส่วนที่ร่วมมือกัน อีกทั้งเชื่อมั่นว่าแนวพระราชดำริที่ทรงพระราชทานไว้จะสามารถช่วยแก้ปัญหาด้านการพัฒนาเกษตรในพื้นที่ได้" นายวิวัฒน์ กล่าว