กรุงเทพฯ--5 ม.ค.--กระทรวงยุติธรรม
ยุติธรรมให้บริการเชิงรุก จัดศูนย์บริการทางกฎหมายช่วยเหลือเหยื่อสึนามิ 3 แห่ง ในจังหวัดพังงา กระบี่ และภูเก็ต จับมือคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหน่วยงานในสังกัดจัดคาราวาน 80 ชีวิต ลงพื้นที ให้คำแนะนำการเริ่มต้นชีวิตใหม่ และคำแนะนำทางด้านกฎหมาย พร้อมประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ
นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วยรศ.ธงทอง จันทรางศุ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านเสริมสร้าง ความยุติธรรม จัดการแถลงข่าวการจัดตั้งศูนย์บริการทางกฎหมายผู้ประสบภัย กระทรวงยุติธรรมในเหตุการณ์ ธรณีพิบัติจากคลื่นใต้น้ำ (TSUNAMI) ณ ห้องประชุมกระทรวงยุติธรรม ชั้น 28 อาคารกระทรวงยุติธรรม ถนนแจ้งวัฒนะ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี โดยมีผู้บริหารจากหน่วยงานในสังกัด อาทิ กรมราชทัณฑ์ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก
ปลัดกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า จากกรณีการเกิดภัยทางธรรมชาติธรณีพิบัติใน 6 จังหวัด ภาคใต้ ได้แก่ พังงา ระนอง สตูล ภูเก็ต กระบี่ และตรัง ซึ่งกระทรวงยุติธรรมดำเนินการให้ความช่วยเหลือ อย่างเร่งด่วนไปแล้ว ทั้งในด้านการพิสูจน์หลักฐานกรณีผู้เสียชีวิต โดยทีมงานจากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ การค้นหาและการเก็บศพผู้เสียชีวิตจากแรงงานผู้ต้องขัง กรมราชทัณฑ์ ซึ่งสามารถบรรเทาความเดือดร้อน ของประชาชนได้แล้วในระดับหนึ่ง แต่หลังจากที่สถานการณ์ต่าง ๆ เริ่มคลี่คลายนั้น ยังมีภาระงาน ด้านกฎหมายที่กระทรวงยุติธรรมจะต้องเข้าไปมีบทบาทในการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนในลำดับต่อไป เพราะเรื่องกฎหมายเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิต ความเป็นอยู่ของประชาชนทุกคน
กระทรวงยุติธรรมจึงได้จัดตั้งศูนย์บริการทางกฎหมายผู้ประสบภัย กระทรวงยุติธรรม ในเหตุการณ์ธรณีพิบัติจากคลื่นใต้น้ำขึ้น ทั้งหมด 3 แห่ง ซึ่งตั้งอยู่ ณ ที่ว่าการอำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดภูเก็ต และศาลากลางจังหวัดกระบี่ เนื่องจากเป็นจังหวัดที่ได้รับความเสียหายรุนแรงมากที่สุด ซึ่งการให้บริการดังกล่าวนับเป็นส่วนหนึ่งของมิติใหม่แห่งการทำงานในเชิงรุกซึ่งแสดงออกถึงความมีน้ำใจที่มีต่อเพื่อนมนุษย์ที่ประสบความเดือดร้อน ทั้งการสูญเสียทรัพย์สิน ญาติพี่น้องและบุคคลอันเป็นที่รัก เด็กและเยาวชนที่ขาดผู้อุปการะเลี้ยงดู เอกสารสิทธิ์ต่าง ๆ ที่สูญหาย การขอจัดการมรดกของผู้เสียชีวิต การออกใบมรณะบัตร การจัดการทรัพย์สินของผู้เสียชีวิตทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ
“กระทรวงยุติธรรมตระหนักถึงความเดือดร้อนของพี่น้องดังกล่าว ซึ่งมีความทุกข์ร้อน จึงขออาสาทำหน้าที่เป็นดวงประทีปให้แสงสว่างกับผู้ที่เดือดร้อนโดยแนะนำการเริ่มต้นชีวิตใหม่ซึ่งได้รับความร่วมมือจากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้ส่งนิสิตคณะนิติศาสตร์และคณาจารย์ ประมาณ 30 คน พร้อมด้วยนิติกร นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ จากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และกรมราชทัณฑ์ ประมาณ 50 คน เข้าไปให้ความช่วยเหลือและให้คำแนะนำด้านกฎหมายแก่ประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งทำหน้าที่ประสานงานกับพนักงานอัยการ ทนายความ แล้วส่งต่อข้อมูลไปยังหน่วยงาน อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่วันที่ 4 — 11 มกราคม 2548 โดยจะปฏิบัติหน้าที่ระหว่างเวลา 08.00 — 18.00 น.” ปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าว
ส่วนประชาชนที่ไม่สะดวกในการเดินทางมายังศูนย์ ฯ ดังกล่าว กระทรวงยุติธรรมจะจัดหน่วยรถให้บริการด้านกฎหมายเคลื่อนที่ไปยังบริเวณที่ประชาชนได้รับความเดือนร้อน เช่น ตำบล บ้านน้ำเค็ม ตำบลเขาหลัก จังหวัดพังงา ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลต่าง ๆ โดยจะประสานงานกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรมส่วนท้องถิ่นเพื่ออำนวยความสะดวกต่อไป--จบ--