ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร “กรุงเทพมหานคร” ที่ระดับ “AA+/Stable”

ข่าวทั่วไป Thursday October 25, 2007 08:02 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ต.ค.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรให้แก่กรุงเทพมหานครที่ระดับ “AA+” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงสถานภาพของเขตกรุงเทพมหานครในฐานะที่เป็นศูนย์กลางทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ รวมทั้งแหล่งรายได้จากภาษีอากรที่แน่นอนและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น การบริหารงบประมาณที่มีประสิทธิภาพภายใต้นโยบายงบประมาณแบบสมดุล และฐานะการเงินที่แข็งแกร่งจากภาวะเกือบปลอดภาระหนี้เงินกู้ นอกจากนี้ อันดับเครดิตดังกล่าวยังพิจารณาถึงภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่เติบโตอย่างต่อเนื่องด้วย อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสนับสนุนดังกล่าวถูกลดทอนโดยความต้องการในการลงทุนเป็นอย่างมากในโครงการเกี่ยวกับสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ รวมทั้งภาระทางการเงินที่อาจเพิ่มขึ้นจากการถ่ายโอนภารกิจจากรัฐบาลกลางให้แก่กรุงเทพมหานครภายใต้นโยบายการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในขณะที่กรุงเทพมหานครมีข้อจำกัดในการจัดหาแหล่งรายได้เพิ่มเติม นอกจากนั้น ปัจจัยเสี่ยงที่ควรได้รับการติดตามอย่างใกล้ชิดได้แก่ความสอดคล้องของนโยบายการบริหารราชการกับรัฐบาลกลาง และการก่อหนี้ในอนาคตซึ่งควรได้รับการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนเนื่องจากกรุงเทพมหานครยังไม่มีการกำหนดกรอบวินัยในการบริหารหนี้ที่ชัดเจน
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” ของกรุงเทพมหานครสะท้อนถึงการมีแหล่งรายได้ที่แน่นอนและนโยบายการบริหารงบประมาณแบบสมดุล ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าความสัมพันธ์กับรัฐบาลกลางจะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบในด้านลบ ในขณะเดียวกันกรุงเทพมหานครจะสามารถบริหารงบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยรักษาวินัยทางการเงินและคงความแข็งแกร่งทางการเงินในระดับสูง รวมถึงการลงทุนและการก่อหนี้ในอนาคตจะต้องได้รับการศึกษาและวางแผนอย่างระมัดระวังเพื่อให้เหมาะสมกับระดับรายได้ของกรุงเทพมหานคร
ทริสเรทติ้งรายงานว่า กรุงเทพมหานครมีฐานะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งมีหน้าที่บริหารราชการและบริหารจัดการกิจการสาธารณูปโภคเพื่อให้บริการแก่ผู้อยู่อาศัยและผู้ประกอบกิจการในเขตกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นเมืองหลวงและศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมของประเทศ กรุงเทพมหานครมีผลผลิตมวลรวมรายจังหวัดสูงที่สุดในประเทศ โดยในปี 2549 มีมูลค่า 2,190,226 ล้านบาท คิดเป็น 28% ของผลผลิตมวลรวมในประเทศ ในด้านการเงินการคลังนั้น ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมากรุงเทพมหานครมีรายได้หลักมาจากภาษีอากรโดยเฉลี่ย 96% โดยเป็นภาษีอากรทั้งที่จัดเก็บเองและส่วนราชการอื่นจัดเก็บให้ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20% และ 75% ของรายได้ประจำตามลำดับ ภาษีอากรที่กรุงเทพมหานครจัดเก็บเองกว่า 90% มาจากภาษีโรงเรือนและที่ดิน ในขณะที่ภาษีที่ส่วนราชการอื่นจัดเก็บให้ประมาณครึ่งหนึ่งมาจากภาษีมูลค่าเพิ่ม และมาจากภาษีหรือค่าธรรมเนียมรถยนต์และภาษีหรือค่าจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมอีกอย่างละ 20% ภาษีอากรนับว่าเป็นแหล่งรายได้ที่มีความแน่นอนสูงซึ่งแม้จะมีความผันผวนอยู่บ้างตามภาวะเศรษฐกิจ แต่ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยตลอด และคาดว่าน่าจะเติบโตต่อไป หากแต่ในระยะสั้น อัตราการเติบโตอาจผันผวนเล็กน้อยเนื่องจากภาวะความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ยืดเยื้อซึ่งทำให้มีการคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศลดลง นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครยังมีนโยบายการบริหารงบประมาณแบบสมดุล โดยมีการจัดทำประมาณการรายจ่ายให้อยู่ภายในวงเงินรายได้ซึ่งทำให้มีประมาณการรายจ่ายที่พอเหมาะไม่เกินตัว อีกทั้งในปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีภาระหนี้สินจากการกู้ยืมที่ต่ำมาก จึงทำให้สถานะทางการเงินของกรุงเทพมหานครมีความแข็งแกร่งและมีสภาพคล่องสูงมาก
อย่างไรก็ตาม แม้ในเขตกรุงเทพมหานครจะมีระดับการพัฒนาที่ก้าวหน้ากว่าท้องถิ่นอื่น แต่ก็ยังคงมีความต้องการในการพัฒนาด้านสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับความต้องการของประชากรจำนวนมาก รวมทั้งเพื่อพัฒนาสภาพแวดล้อมให้เอื้อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและการลงทุนในฐานะที่เป็นเมืองหลวงของประเทศ กิจการสาธารณูปโภคต่างๆ มีทั้งที่กรุงเทพมหานครริเริ่มดำเนินการเองและที่ได้รับการถ่ายโอนภารกิจมาจากรัฐบาลภายใต้นโยบายการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำให้กรุงเทพมหานครมีความต้องการเงินลงทุนและค่าใช้จ่ายผูกพันในอนาคต แม้กรุงเทพมหานครจะได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลเพื่อสนับสนุนการพัฒนาโครงการต่างๆ เหล่านี้ แต่ก็ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในกรณีที่เป็นโครงการที่ต้องการเงินลงทุนสูง เช่น โครงการระบบขนส่งมวลชน ฯลฯ กรุงเทพมหานครจึงได้ศึกษาทางเลือกในการจัดหาแหล่งเงินทุนจากตลาดทุน อย่างไรก็ตาม จากนโยบายของคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครที่อาจใช้เงินกู้เพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งหากมีการก่อหนี้ในอนาคต ก็จะมีผลให้กรุงเทพมหานครมีความเสี่ยงทางการเงินที่สูงขึ้นและจะลดทอนความแข็งแกร่งลงในระดับหนึ่ง อีกทั้งในปัจจุบันกรุงเทพมหานครยังไม่ได้มีการวางกรอบวินัยในการก่อหนี้ที่ชัดเจน ดังนั้น ทริสเรทติ้งจะติดตามและวิเคราะห์ความสามารถและระเบียบในการบริหารหนี้ในอนาคตของกรุงเทพมหานครอย่างใกล้ชิด ทริสเรทติ้งกล่าว
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด (ทริสเรทติ้ง)
โทรศัพท์ 0-2231-3011 ต่อ 500 โทรสาร 0-2231-3012
E-mail: rapee@tris.co.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ