กรุงเทพฯ--11 ก.ย.--DEK-PR
จากงานประชุมวิชาการประจำปี การแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ทางเลือก ในงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติครั้งที่ 4 ที่จัดโดยกรมพัฒนาแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข และองค์กรภาคี ระหว่างวันที่ 29 สิงหาคม — 2 กันยายน 2550 ได้มีการนำเสนอผลงานวิจัยในเรื่องการส่งเสริมสมาธิโดยการฝึกชี่กง ดนตรีและสุวคนธบำบัด สามารถช่วยให้ผู้ติดบุหรี่เลิกบุหรี่ได้ ส่งผลให้จิตใจผ่อนคลาย ลดอาการเครียด อารมณ์แจ่มใส สุขภาพดีขึ้น รวมทั้งสุขภาพปอดและหัวใจก็ดีขึ้นด้วย
จากผลงานวิจัยของ อาจารย์ธมลวรรณ ส่วนอรุณสวัสดิ์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์ คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยรังสิต และคณะที่ได้นำอาสาสมัครสูบบุหรี่อายุมากกว่า 40 ปี อาชีพรับจ้าง สูบบุหรี่นาน 5-30 ปี สูบบุหรี่ทุกวัน วันละ 10-30 มวน เข้ารับการฝึกชี่กง ดนตรี และสุคนธบำบัด 3 วันต่อสัปดาห์ และเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับการฝึก เป็นระยะเวลา 4 เดือน พบว่าการฝึกชี่กง ดนตรี และสุวคนธบำบัด สามารถช่วยให้เลิกสูบบุหรี่ได้ตั้งแต่เดือนที่ 2 ที่เข้าฝึก และสามารถเลิกสูบบุหรี่จนจบโครงการ นอกจากนี้ผู้ที่ได้รับการฝึกชี่กง ดนตรี และสุคนธบำบัด จะมีอารมณ์ที่แจ่มใส สุขภาพปอดและหัวใจก็ดีขึ้นตามลำดับอีกด้วย
การสูบบุหรี่มีปัจจัยสำคัญที่สุด คือ ความเครียดและขาดสมาธิ การสูบบุหรี่จะรู้สึกสบายผ่อนคลายและมีความสุข ทำให้การเลิกบุหรี่ทำได้ยาก เพราะสารนิโคตินจากการสูบบุหรี่จะทำให้เกิดการกระตุ้นสารเอ็นโดรฟิน(สารแห่งความสุข) ทำให้เกิดความผ่อนคลาย ถึงแม้จะพยายามเลิกด้วยวิธีต่างๆ แต่ก็ไม่สำเร็จ เนื่องจากผู้สูบบุหรี่ขาดพลังใจและไม่มีสมาธิ
“การฝึกชี่กง ดนตรีและสุวคนธบำบัดจะส่งผลให้เกิดการกระตุ้นให้เกิดการหลั่งของสารเอ็นโดรฟิน(สารแห่งความสุข) ได้เช่นเดียวกันกับนิโคตินจากการสูบบุหรี่ ดังนั้นการฝึกชี่กง ดนตรี และสุวคนธบำบัด เป็นประจำและต่อเนื่อง จะสามารถลดความอยากบุหรี่ และทำให้สามารถเลิกบุหรี่ได้ในที่สุด
นอกจากนั้น การฝึกชี่กง ดนตรีและสุวคนธบำบัด ยังช่วยสร้างหัวใจและปอดแข็งแรง งานวิจัยชิ้นนี้เป็นเพียงหนึ่งในผลวิจัยที่น่าสนใจ ในงานมหกรรมสุมนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 4 ที่ผ่านมา ท่านสามารถพบกับงานวิจัยใหม่ๆ ที่น่าสนใจเกิดขึ้นมากมาย ในงาน มหกรรมสุมนไพรแห่งชาติครั้งหน้า