กรุงเทพฯ--23 ก.พ.--แฟรนคอม เอเชีย
มร. เจมส์ อู๋ ประธานบริหาร หัวเว่ย ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เราอาจไม่รู้แน่ชัดว่าเทคโนโลยีในปี ค.ศ. 2050 จะก้าวหน้าไปได้ไกลเพียงใด แต่การมาถึงของเทคโนโลยี 5G ก็เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่ายุคเมกะเทคได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว...
ในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว 2018 หรือพย็องชังเกมส์ เราได้เห็นการโชว์ศักยภาพการใช้งานเทคโนโลยี 5G เป็นครั้งแรก ด้วยการถ่ายทอดออนไลน์หรือไลฟ์สตรีมมิ่งการแข่งขันต่าง ๆ ผ่านระบบอัลตร้า HD ที่ให้ความคมชัดสูงในระดับที่สามารถเห็นรายละเอียดของหิมะและเกล็ดน้ำแข็งได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ ยังมีการนำโดรนที่พร้อมใช้งานอยู่ตลอดเวลามาคอยส่งข้อมูลถ่ายทอดสดแบบเรียลไทม์กลับมาให้เราได้รับชม แถมด้วยเทคโนโลยี VR ที่ให้ภาพพาโนรามาแบบ 360° ซึ่งพาผู้ชมไปสัมผัสกับประสบการณ์การรับชมกีฬาชนิดเกาะติดทุกขอบสนามกันอย่างเต็มอิ่ม ยิ่งไปกว่านั้น โดรนดังกล่าวยังสามารถบินร่อนขนาบเพื่อจับภาพนักกีฬาที่แล่นไปกับสโนว์บอร์ดได้ด้วย เมืองพย็องชังจึงนับเป็นเมืองแรกของโลกที่นำเทคโนโลยี 5G มาใช้ ซึ่งเมืองนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลทางตะวันออกเฉียงใต้ของจังหวัดคังวอน ประเทศเกาหลีใต้ เทคโนโลยีดังกล่าวเป็นพื้นฐานที่จะต่อยอดไปสู่การใช้งานเทคโนโลยีอื่น ๆ อีกมากมายในโลกที่เชื่อมโยงถึงกันหมด อาทิ รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยตัวเอง โดรน เทคโนโลยีฮอโลกราฟี หรือแม้กระทั่งสมาร์ทบ็อกซ์ที่คอยตรวจจับและขับไล่หมูป่าด้วยระบบอัตโนมัติ สิ่งเหล่านี้อาจเกิดขึ้นไม่ได้หากไร้ซึ่งเทคโนโลยี 5G
ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงการเรียกน้ำย่อยสำหรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นภายใต้โลกที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี 5G ในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) มีการพัฒนาโดยเน้นไปที่การต่อยอดเทคโนโลยีด้าน "คลื่นความถี่" นับตั้งแต่คอมพิวเตอร์เมนเฟรมในยุคแรก ๆ มาจนถึงสมาร์ทแมชชีนและอินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ในปัจจุบัน เราจะพบว่าการเข้าถึงเครือข่ายมีความรวดเร็วฉับไวขึ้น มีเครื่องยนต์หรืออุปกรณ์หลายอย่างที่สามารถเชื่อมโยงเข้ากับเครือข่ายได้มากขึ้น และเรายังสามารถมองเห็นภาพอนาคตได้ว่า เมกะเทคอันเป็นผลมาจากเทคโนโลยีคลื่นลูกใหม่นี้จะกลายเป็นยุคแห่งการใช้งานเทคโนโลยี "สายพันธุ์ใหม่" ที่งอกเงยเติบโตขึ้นจาก "ผืนดิน" แห่งการสื่อสารความเร็วสูงเป็นพิเศษนี้ด้วย
หากจะอธิบายให้เข้าใจง่ายขึ้น 5G จะมีความเร็วสูงกว่า 4G ถึงหลายสิบเท่า แล้วเทคโนโลยีใดบ้างในยุคเมกะเทคที่เราคาดหวังได้ว่าน่าจะได้เห็นในอนาคต ความจริงแล้ว เทคโนโลยีแห่งอนาคตนี้ได้เกิดขึ้นแล้ว เพียงแต่ยังไม่มีการกระจายออกไปอย่างทั่วถึงเท่านั้น ซึ่งเราอาจคาดเดาถึงความเป็นไปได้โดยอาศัยข้อมูลจากเทรนด์เทคโนโลยีสำคัญต่าง ๆ ในปัจจุบันศักยภาพแห่งโลกที่เชื่อมต่ออย่างเต็มรูปแบบ
เพื่อดึงศักยภาพของโลกที่เชื่อมถึงกันออกมาใช้ได้อย่างเต็มที่ เราจะต้องแสวงหาวิธีการที่เหมาะสมเพื่อจัดการข้อมูลจำนวนมหาศาลที่เกิดขึ้นจากชิพนับพันล้านตัวที่ฝังอยู่ในอุปกรณ์ จึงคาดว่าเทคโนโลยี 5G จะเป็นกุญแจสำคัญที่ไขไปสู่เป้าหมายดังกล่าว รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยตัวเองก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการนำเทคโนโลยีมาใช้ภายใต้โลกที่เชื่อมโยงถึงกัน ซึ่งนวัตกรรมดังกล่าวใกล้จะเป็นจริงแล้วในเร็ววันนี้ ด้วยการสื่อสารความเร็วสูงและความหน่วงต่ำของเทคโนโลยี 5G จะช่วยให้การขับขี่แบบไร้คนขับเป็นจริงขึ้นมาได้ โดยเราสามารถเพิ่มฟังก์ชั่นการทำงานแบบไร้คนขับเข้าไปในรถยนต์แบบเดิม นอกจากนี้ เรายังสามารถนำรถยนต์รุ่นใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยตัวเองมาใช้ในรูปแบบของการแชร์รถยนต์ ซึ่งรถที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตอาจพลิกโฉมสภาพการจราจร เนื่องจากผู้คนส่วนใหญ่จะไม่ต้องใช้รถส่วนตัวอีกต่อไป ทำให้สามารถนำพื้นที่จอดรถมาสร้างเป็นที่พักอาศัยหรือสวนสาธารณะได้ ตลอดจนช่วยลดจำนวนอุบัติเหตุบนท้องถนนลงได้มาก
ผู้คนในปี ค.ศ. 2050 อาจมองว่ารถยนต์ที่ใช้กันอยู่นั้นจะต้องเป็นรถที่ขับเคลื่อนได้ด้วยตัวเองแล้ว อุปกรณ์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้อย่างสมบูรณ์แบบและปัญญาประดิษฐ์จะช่วยให้รถยนต์แลกเปลี่ยนและประมวลผลข้อมูลได้อย่างถูกต้องแม่นยำ รวมถึงช่วยให้เครื่องยนต์สามารถจัดการสภาวะที่ซับซ้อนได้ดียิ่งขึ้น แม้แต่ในปัจจุบัน หากคุณลองให้นักบินปิดระบบการบินอัตโนมัติและร่อนลงจอดโดยควบคุมด้วยมือเปล่า โดยมีเพียงหมวกนิรภัยและแว่นตากันลมอย่างสมัยก่อน พวกเขาคงอยู่ในสภาวะกดดันอย่างหนักเป็นแน่
โลกที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล
การนำข้อมูลขนาดใหญ่ที่มีความล้ำหน้าจากที่ต่างๆ มาใช้ จะช่วยให้การทำงานง่ายขึ้น โดยสามารถคำนวณข้อมูลขนาดใหญ่ได้จากคลังสินค้าซึ่งตั้งอยู่ห่างออกไปจากผู้ใช้หลายร้อยกิโลเมตร ยกตัวอย่างเช่น เมื่อคุณขอความช่วยเหลือจากผู้ช่วยบนโทรศัพท์มือถือ ระบบก็จะค้นหาคำตอบในคอมพิวเตอร์ของศูนย์ข้อมูลที่อยู่อีกซีกโลกหนึ่งมาให้ ซึ่งในกรณีนี้ 5G จะทำหน้าที่เสมือนท่อส่งขนาดใหญ่ที่คอยลำเลียงข้อมูลมหาศาลนั่นเอง
สิ่งที่คนส่วนใหญ่เห็นตรงกันก็คือ ศตวรรษที่ 21 จะเป็นยุคแห่งการขับเคลื่อนด้วยข้อมูล ซึ่งอาจสืบย้อนไปถึงคำกล่าวของกาลิเลโอเมื่อปี ค.ศ. 1638 ซึ่งได้เอ่ยเอาไว้ว่า ปรากฏการณ์ธรรมชาติทุกอย่างนั้นสามารถอธิบายได้ด้วยภาษาคณิตศาสตร์ ดังนั้น เมื่อเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมต่างๆ ในโลก เราก็จะสามารถทำความเข้าใจกับมันได้ชัดเจนยิ่งขึ้นและใช้ข้อมูลเหล่านั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุด อันจะนำไปสู่ยุคใหม่นั่นเอง ทั้งเทคโนโลยีไอซีที บิ๊กดาต้า และปัญญาประดิษฐ์อันล้ำหน้าจะผลักดันให้สิ่งเหล่านี้เกิดเป็นจริงขึ้นมาได้
ยกตัวอย่างเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น เมื่อถามว่าเราจะวินิจฉัยและรักษาโรคกันอย่างไรในอนาคต บางทีฐานข้อมูลอาจเป็นคุณหมอที่เก่งที่สุดในโลกก็เป็นได้ด้วยความสามารถในการจดจำข้อมูลแต่ละเคส เมื่อผนวกกับข้อมูลวิเคราะห์ด้านพันธุกรรม ฐานข้อมูลจะสามารถระบุรูปแบบการรักษาที่ได้ผลสูงสุดโดยวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของการรักษาและผลที่เกิดขึ้น ซึ่งทั้งการวินิจฉัย การวางแผนทางการแพทย์ใหม่ๆ และการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ ล้วนต้องพึ่งพาระบบบิ๊กดาต้า อีกตัวอย่างกับคำถามที่ว่า เราจะศึกษาเล่าเรียนกันอย่างไรในอนาคต คำตอบคือ เราจะใช้ข้อมูลเพื่อติดตามผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนและของครู พิจารณาดูเนื้อหาที่เหมาะจะนำมาสอนมากที่สุด เพื่อออกแบบแนวทางการสอนให้เหมาะกับนักเรียนแต่ละคน อันจะช่วยทดแทนข้อด้อยของโรงเรียนรัฐบาลที่ใช้การสอนรูปแบบเดียวสำหรับเด็กทุกคน
การหลอมรวมโลกแห่งความเป็นจริงเข้ากับโลกเสมือนจริง
ผู้คนได้เห็นการมาของเทคโนโลยี VR กันไปแล้วอย่างน้อยๆ ก็เมื่อ 25 ปีก่อน แต่มีเพียงผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีส่วนน้อยเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ และถึงแม้จะเข้าถึงได้ ก็ยังต้องรอโมเด็มเพื่อโทรเข้าไปเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ ทว่าในศตวรรษต่อๆ มา เราอาจกลับพบว่าการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์ก็ได้กลายเป็นอดีตไปแล้ว ในโลกที่สรรพสิ่งมีความอัจฉริยะ เด็กๆ อาจสงสัยกันว่า คอมพิวเตอร์คืออะไรกันแน่ เมื่อทุกสิ่งรอบๆ ตัวเรามีศักยภาพเช่นเดียวกับคอมพิวเตอร์
การหลอมรวมโลกแห่งความเป็นจริงและโลกเสมือนเข้าด้วยกันสามารถเกิดขึ้นได้ผ่านการใช้งานจำลองแบบ immersive ของเทคโนโลยี VR รวมไปถึงเทคโนโลยี AR ที่นำไปประยุกต์ใช้กับสิ่งต่างๆ อย่างกระจกรถยนต์ หรือแว่น Google Glass ซึ่งความฝันของเหล่าผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีในยุคแรกๆ จะกลายเป็นจริงได้ก็ด้วยการมาถึงของเทคโนโลยี 5G โดยเครือข่ายความเร็วสูงที่สามารถเชื่อมข้อมูลมหาศาลจะสามารถรองรับการใช้งานเทคโนโลยี VR และ AR และมีความหน่วงต่ำที่จำเป็นสำหรับการประมวลผลความเร็วสูง อย่างเช่น การแสดงผลวิดีโอในรูปแบบโฮโลกราฟีในภาพยนตร์ Sci-Fi ซึ่งเทคโนโลยี AR จะต้องเข้าใจและเชื่อมโยงเข้ากับโลกกายภาพ รับรู้มิติทั้งในด้านลึกและด้านกว้าง วิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ทำความเข้าใจและระบุการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมและผู้คน ก่อนจะแสดงผลที่แม่นยำในตำแหน่งที่ถูกต้อง เมื่ออุปกรณ์มีความคล่องตัวมากขึ้น ก็จำเป็นที่จะต้องสื่อสารกับคอมพิวเตอร์ระยะไกลที่ทรงพลังในแบบเรียลไทม์ และเมื่อใดที่ข้อมูลในปัจจุบันสามารถถ่ายโอนถึงกันได้ผ่านท่อลำเลียงท่อเดียว เมื่อนั้นความลึกและความกว้างของข้อมูลก็จะแผ่ขยายขอบเขตออกไปราวกับมหาสมุทรแปซิฟิคเลยทีเดียว
เมื่อมองไปยังอนาคตข้างหน้า เรายังสามารถเปิดกว้างจินตนาการเพื่อนำไปสู่การค้นพบที่ยิ่งใหญ่ในขอบเขตอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นฟิสิกส์พื้นฐาน เทคโนโลยีชีวพันธุกรรม พลังงานใหม่ วัสดุใหม่ หรือแม้แต่การท่องอวกาศ แม้อนาคตยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นแน่ ๆ ก็คือ เทคโนโลยีไอซีทีจะกลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับการใช้งานเทคโนโลยีใหม่ ๆ และแทรกซึมอยู่ทุกหนทุกแห่งเช่นเดียวกับอากาศ และเป็นเสมือนผืนดินที่โอบอุ้มทุกสิ่งให้เติบโตงอกงามต่อไปนั่นเองโลกดิจิทัลจะกลายเป็นสิ่งที่ทุกคน ทุกบ้าน และทุกองค์กรเข้าถึงได้ มาร่วมผนึกกำลังและก้าวไปด้วยกันเพื่อสร้างสรรค์โลกอัจฉริยะที่เชื่อมต่ออย่างเต็มรูปแบบ