กรุงเทพฯ--23 ก.พ.--ธพว.
SME Development Bank ผนึกกำลัง มจธ.- สวทน. ช่วยเหลือ "SME-Startup" ใช้ไอที-นวัตกรรมสร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยพิเศษ โครงการเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชนและสินเชื่อสำหรับคนตัวเล็ก วงเงินรวม 58,000 ล้านบาท
ในวันนี้ (23 กุมภาพันธ์ 2561) ได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมกัน 3 สถาบันภาครัฐ ประกอบด้วย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว. หรือ SME Development Bank) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และ สำนักงานคณะกรรมการโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) "โครงการพัฒนาผู้ประกอบการ Startup และ SMEs ก้าวไกลครบวงจร" เพื่อช่วยยกระดับความสามารถทางการแข่งขันของ SMEs ให้แข็งแกร่ง โดยติดอาวุธเทคโนโลยีและนวัตกรรม พร้อมสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำเพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs และ Startup สามารถเติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นกลไกสำคัญช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เข้มแข็ง และก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 ต่อไป
นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธพว. กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้เป็นอีกก้าวหนึ่งของความร่วมมือที่ชัดเจนของหน่วยงานภาครัฐที่จะประสานจุดแข็งของแต่ละองค์กรเพื่อช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ให้ครบวงจร โดยสถาบันการศึกษาอย่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นผลงานด้านวิจัยเป็นจำนวนมาก ที่สามารถเข้าไปพัฒนาช่วยผู้ประกอบการ SME และ Startup สามารถเชื่อมโยงบูรณาการงานด้าน Eco-System ให้เกิดการเรียนรู้และสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยมีศูนย์บ่มเพาะและการเตรียมความพร้อมในการดำเนินธุรกิจ และมีบุคลากร คณาจารย์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน นอกจากนี้ยังมีศูนย์ "KX Knowledge Exchange" ซึ่งเป็นศูนย์แลกเปลี่ยนการเรียนรู้และลงมือทำผลงานด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมโดยตรง ที่จะช่วยผู้ประกอบการทั้งที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญ สร้างความสามารถทางการแข่งขัน สร้างต้นแบบอุปกรณ์ทางผลิตภัณฑ์ให้มาปรับใช้เชิงพาณิชย์ อีกทั้ง สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ สวทน. จะมาช่วยสนับสนุนเงินทุน ภายใต้โครงการ TM หรือ Talent Mobility ที่จะส่งเสริมบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากสถาบันวิทยาศาสตร์และหน่วยงานภาครัฐ เชื่อมต่อความช่วยเหลือไปสู่ผู้ประกอบการ SMEs โดย ธพว ช่วยสนับสนุนความฝันของผู้ประกอบการให้กลายเป็นจริง ด้วยแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ เช่น โครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน Local Economy Loan วงเงินรวม 50,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยพิเศษ 3 ปีแรก 3% ต่อปี วงเงินกู้สูงสุดต่อรายไม่เกิน 5 ล้านบาท ฟรีค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 4 ปี และ
โครงการสินเชื่อเพื่อ SMEs คนตัวเล็ก วงเงินรวม 8,000 ล้านบาท มุ่งเน้นช่วยผู้ประกอบที่เรียกว่า จุลเอสเอ็มอี สามารถกู้ได้สูงสุด 1 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยพิเศษเพียง 1% ต่อปี ตลอดระยะเวลา 7 ปี และปลอดชำระเงินต้น 3 ปีแรกด้วย เพื่อให้โอกาสผู้ประกอบการตัวเล็ก ที่มีปัญหาทางการเงินไปใช้ลงทุนขยาย ปรับปรุงกิจการ หรือเป็นเงินทุนหมุนเวียนต่อไป
รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่จะขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของประเทศที่เข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 มุ่งเน้นสนับสนุน Startup SMEs และ Social Enterprise โดยผลักดันและส่งเสริมการนำงานวิจัย นวัตกรรมและเทคโนโลยีไปพัฒนาผู้ประกอบการ โดยสร้างความเชื่อมโยงและบูรณาการในด้านต่างๆ ทำอย่างเป็นระบบและครบทุกด้าน ทั้งนี้ มจธ. ได้พัฒนาศูนย์ KX ให้เป็นพื้นที่สำหรับการแลกเปลี่ยนและร่วมเรียนรู้ระหว่างภาคเอกชน ชุมชน และมหาวิทยาลัย โดยจะนำความรู้ความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมและการออกแบบ ทั้งจากภายใน มจธ. และสถาบันเครือข่ายต่างๆ ร่วมสร้างให้ผู้ประกอบการมีสมรรถนะความสามารถสูงขึ้นเพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าและมูลค่าสูงขึ้น ความร่วมมือครั้งนี้จึงเป็นมิติใหม่ของการยกระดับการสนับสนุน SMEsไทยอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน
ดร.กิติพงค์ พร้อมวงศ์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ว่า ความร่วมมือครั้งนี้สอดคล้องกับนโยบายและการดำเนินงานของ สวทน. ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่จะส่งเสริมบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมจากมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของภาครัฐไปปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในภาคเอกชน (Talent Mobility) โดยปัจจุบันมีนักวิจัยและผู้ช่วยนักวิจัยจากเครือข่าย Talent Mobilityจำนวน 21 มหาวิทยาลัย เคลื่อนย้ายไปปฏิบัติงานในภาคเอกชนกว่า 1,000 คน และในสถานประกอบการกว่า 300 แห่ง ซึ่งพบว่าประเภทอุตสาหกรรมที่เข้าร่วมโครงการมากที่สุด คือ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร คิดเป็น 37% จากจำนวนสถานประกอบการทั้งหมดที่เข้าร่วมโครงการ และเป็นกิจกรรมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมในสถานประกอบการมากถึง 61% ทั้งนี้การลงนามความร่วมมือดังกล่าว จึงเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย ที่จะส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจประเทศไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไป
ทั้งนี้ จากความร่วมมือดังกล่าว ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อแก่ธุรกิจ SMEs ที่ทำได้จริง โดยมีจำนวนธุรกิจที่ผ่านการพิจารณาแล้ว 12 ราย วงเงิน 27 ล้านบาท ซึ่งเป็นสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน (Local Economy Loan) และสินเชื่อ SMEs Transformation Loan โดยมีการอนุมัติสินเชื่อไปแล้ว 12 ราย วงเงินรวม 27 ล้านบาท โดยเป็นประเภทธุรกิจผลไม้อบแห้ง วงเงิน 1 ล้านบาท, ธุรกิจอาหารแปรรูป (โจ้กฮาลาล) วงเงิน 1 ล้านบาท , ธุรกิจดินเผาจานชาม วงเงิน 0.5 ล้านบาท, ธุรกิจเครื่องสำอาง วงเงิน 1 ล้านบาท, ธุรกิจจัดหาซอฟต์แวร์ วงเงิน 1 ล้านบาท, ธุรกิจจำหน่ายเบเกอรี่ รวม 2 ราย วงเงินรายละ 5 ล้านบาท, ธุรกิจผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติก วงเงิน 3 ล้านบาท, ธุรกิจรับจัดอีเวนท์ วงเงิน 1 ล้านบาท, ธุรกิจจำหน่ายกระเป๋าแฟชั่น วงเงิน 5 ล้านบาท, ธุรกิจจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ วงเงิน 3 ล้านบาท และธุรกิจแฟรนไชส์กาแฟดอยหล่อ วงเงิน 0.5 ล้านบาท ซึ่งจากทั้งหมดมีธุรกิจที่ผ่านกระบวนการคัดเลือกและนำส่งรายชื่อเพื่อพิจารณาจาก KX ทั้งสิ้น 6 ราย วงเงิน 9.5 ล้านบาท