กรุงเทพฯ--23 ก.พ.--กรมส่งเสริมการเกษตร
กรมส่งเสริมการเกษตรเตือนเกษตรกรไร่มันสำปะหลังทั่วประเทศเตรียมรับมือฤดูแล้ง เฝ้าระวังไรแดงระบาด แนะอนุรักษ์ศัตรูทางธรรมชาติช่วยป้องกันกำจัด
นายประสงค์ ประไพตระกูล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ช่วงนี้แม้อากาศจะแปรปรวน แต่ก็เป็นช่วงที่กำลังจะเข้าสู่ฤดูแล้งในเดือนมีนาคม จึงฝากเตือนเกษตรกรไร่มันสำปะหลังทั่วประเทศเฝ้าระวังไรแดงระบาด พร้อมแนะนำให้เกษตรกรหมั่นสำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง หากพบมันสำปะหลังแสดงอาการใบเหลืองซีดเป็นรอยขีด หรือจุดด่างเหลือง ใบม้วนงอ ให้เก็บใบที่เสียหายไปเผาทำลายนอกแปลง และแจ้งเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอ หรือสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้าน เพื่อดำเนินการป้องกันกำจัดทันที
รองอธิบดีฯ กล่าวถึงการป้องกันกำจัดไรแดงมันสำปะหลังด้วยชีววิธีว่า ควรอนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติ เช่น ด้วงเต่า ด้วงปีกสั้น และไรตัวห้ำ ซึ่งกินไรแดงเป็นอาหาร โดยเฉพาะไรตัวห้ำที่เกษตรกรสามารถเพาะเลี้ยงได้เอง ตามที่กรมวิชาการเกษตรแนะนำด้วยวิธีการใช้ไรแดงหม่อน (T. truncatus Ehara) เป็นเหยื่อ ทำการเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์บนถั่วฝักยาว อายุ 2 สัปดาห์ ปล่อยไว้ 1 สัปดาห์ ให้มีไรแดงหม่อนในปริมาณมาก แล้วจึงปล่อยไรตัวห้ำลงบนต้นถั่ว ในอัตราไรตัวห้ำต่อเหยื่อ 1:20 ถึง 1:50 ให้ไรตัวห้ำขยายพันธุ์เพิ่มประชากรเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ถ้าเริ่มเพาะเลี้ยงไรแดงหม่อน 1,000 ตัวบนถั่ว 180 ต้น แล้วปล่อยไรตัวห้ำในอัตราดังกล่าว สามารถผลิตตัวห้ำได้ประมาณ 28,000 ถึง 36,000 ตัว หลังจากนั้นจึงเก็บใบถั่วที่มีไรตัวห้ำนำไปปล่อย โดยวางทาบใบถั่วลงบนต้นพืช เพื่อให้ไรตัวห้ำเคลื่อนย้ายไปยังต้นพืชและกินไรศัตรูพืชต่อไป ซึ่งไรตัวห้ำ 1 ตัว สามารถดูดกินไข่ไรศัตรูพืชได้มากถึงวันละ 80 ฟอง กินตัวอ่อนได้วันละ 12-13 ตัว และมีการเจริญเติบโตเพิ่มประชากรได้รวดเร็ว โดยวางไข่ได้วันละ 3-4 ฟอง ตัวเต็มวัยมีอายุประมาณ 15 วัน
ทั้งนี้ กรณีการระบาดไรแดงมันสำปะหลังที่จำเป็นต้องใช้สารกำจัดศัตรูพืช ให้ใช้อามีทราซ ๒๐% อีซี อัตรา ๔๐ มิลลิลิตรต่อน้ำ ๒๐ ลิตร ให้พ่นเฉพาะบริเวณที่มีไรแดงทำลาย และไม่ควรพ่นสารเคมีซ้ำเกิน ๒ ครั้ง เพื่อป้องกันการดื้อยาของศัตรูพืช อย่างไรก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงการปลูกมันสำปะหลังในช่วงฤดูแล้ง หรือฝนทิ้งช่วงเป็นระยะเวลานาน