กรุงเทพฯ--23 ก.พ.--พีอาร์ วัน เน็ทเวิร์ค
EGA หนุนโมเดลจังหวัดอุบลราชธานีสู่นครอัจฉริยะภาคอีสาน ปี 2020 สอดรับปีแห่งข้อมูลภาครัฐ "Year of Data 2018" เร่งขยายจุดติดตั้ง "ตู้บริการอเนกประสงค์ภาครัฐ" (Government Smart Kiosk) ให้ประชาชน "เช็คได้ทุกสิทธิ์ รู้ทุกสวัสดิการรัฐ" ง่ายๆ เปิดให้บริการฟรี! แล้ววันนี้ ณ บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จังหวัดอุบลราชธานี พร้อมโชว์ไฮไลท์บริการภาครัฐ จัดเต็มในงานสัมมนา GovChannel Roadshow 2018 : Digital Local Government ขับเคลื่อนราชการทันสมัย บริการประชาชนรวดเร็ว ทันใจ"
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดย สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EGA (อีจีเอ) เดินเกมรุกเพื่อตอบโจทย์ "ประชาชนได้อะไร จากรัฐบาลดิจิทัล" สนับสนุนการยกระดับขีดความสามารถเชิงดิจิทัลภาครัฐให้สามารถทำงานอย่างบูรณาการ เพื่อนำไปสู่การบริการประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ ทั่วถึง และเท่าเทียม ผ่านช่องทาง GovChannel ศูนย์กลางบริการภาครัฐสำหรับประชาชน ไปยังส่วนภูมิภาคเพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับองค์กรท้องถิ่นร่วมกันขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัลในระดับภูมิภาค จึงได้จัดงานสัมมนา "GovChannel Roadshow 2018 : Digital Local Government ขับเคลื่อนราชการทันสมัย บริการประชาชนรวดเร็ว ทันใจ" โดยผนึกกำลังร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กรมวิชาการเกษตร และสำนักงานประกันสังคม มาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 ซึ่งล่าสุดจัดขึ้นที่จังหวัดอุบลราชธานี
นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ประธานในพิธีฯ เปิดเผยว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้เร่งดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล โดยส่งเสริมและวางรากฐานด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมให้เริ่มขับเคลื่อนได้อย่างจริงจัง ซึ่งภารกิจเร่งด่วนด้านโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีดิจิทัล ล่าสุดได้มีการติดตั้งโครงการเน็ตประชารัฐแล้วเสร็จครบทั้ง 24,700 หมู่บ้าน ตามเป้าหมายปี พ.ศ. 2560 และได้จัดอบรมวิทยากรแกนนำเพื่อให้ขยายต่อยอดความรู้การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลไปยังหมู่บ้านและชุมชนต่างๆ แล้วโดยมีเป้าหมาย 100,000 คน ภายในปีนี้ ส่วนอีกโครงการที่เป็นหัวใจสำคัญในการก้าวสู่รัฐบาลดิจิทัล คือ โครงการ Big Data หรือ ศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ ที่กำลังวางกรอบแนวทางให้ทุกหน่วยงานรัฐเตรียมความพร้อมในการจัดทำ Big Data เพื่อส่งเสริมให้มีการบูรณาการข้อมูลร่วมกัน ในอนาคตหากศูนย์ข้อมูลกลาง Big Data สามารถนำมาใช้ได้เร็วจะยิ่งส่งผลดีเพราะจะทำให้มีแหล่งข้อมูลที่ใช้ในการพัฒนาประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม
นี่คือส่วนหนึ่งของความสำเร็จในโครงการต่างๆ ที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนสู่ Smart People ดังนั้นการร่วมกันผลักดันให้เกิด Digital Local Government จึงเป็นการขับเคลื่อนผ่านนวัตกรรมด้านเทคโนโลยี เพื่อนำพาประเทศสู่ Thailand 4.0 ให้เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง
ด้าน ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวถึง เป้าหมายในปีนี้คือ "Year of Data ปีแห่งข้อมูลภาครัฐ" จึงได้เร่งขยายจุดติดตั้ง "ตู้บริการอเนกประสงค์ภาครัฐ" (Government Smart Kiosk) ให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลของตนเองได้ง่ายๆ ใกล้บ้าน สามารถ "เช็คได้ทุกสิทธิ์ รู้ทุกสวัสดิการรัฐ" โดยไม่ต้องเตรียมเอกสารให้ยุ่งยากหรือรอติดต่อเวลาราชการ ซึ่งได้นำมาติดตั้งอย่างเป็นทางการแล้ว ณ บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ สาขาอุบลราชธานี
สำหรับการจัดงานสัมมนา GovChannel Roadshow 2018 ที่จังหวัดอุบลราชธานีเป็นจังหวัดแรกในปีนี้ EGA ได้นำบริการด้านเทคโนโลยีดิจิทัลภายใต้โครงการ "GovChannel ศูนย์กลางบริการภาครัฐสำหรับประชาชน" เป็นโครงการสำคัญที่ช่วยสร้างราษฎร์ เสริมรัฐได้ชัดเจนที่สุด เนื่องจากเป็นช่องทางหลักในการเข้าถึงบริการภาครัฐสำหรับประชาชน ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐทุกภาคส่วน ในการนำบริการดิจิทัลของแต่ละหน่วยงานมารวมกันเพื่อบริการประชาชน ณ จุดเดียว สามารถตอบคำถามได้ว่า ประชาชนได้อะไร จากรัฐบาลดิจิทัล? ได้อย่างแท้จริง อาทิ GNews แอปพลิเคชัน แจ้งข้อมูลข่าวสารบริการภาครัฐมาช่วยให้ประชาชนไม่พลาดทุกข้อมูลข่าวสารภาครัฐได้อย่างทันการณ์ แม่นยำ เชื่อถือได้ และ ภาษีไปไหน? (Thailand Government Spending) ระบบสืบค้นข้อมูลการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐในรูปแบบเว็บไซต์ govspending.data.go.th และแอปพลิเคชันภาษีไปไหน ที่จะช่วยให้ทราบว่าภาครัฐนำภาษีไปใช้จ่ายในการพัฒนาประเทศอย่างไรบ้าง เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานพันธมิตรนำบริการอัจฉริยะภาครัฐมาให้แบบจัดเต็ม อาทิ โครงการเน็ตประชารัฐ, โครงการ Smart City, แอปพลิเคชัน รู้จริงเรื่องพืชกับกรมวิชาการเกษตร, การตรวจสอบสิทธิ์บัตรสุขภาพ และตรวจสอบสิทธิ์บัตรทอง, บริการ E-Payment การชำระเงินสมทบกองทุนประกันสังคม ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์, แอปพลิเคชัน EMS 1669 รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน และ ระบบร้องเรียนผู้ตรวจการแผ่นดินผ่านแอปพลิเคชัน เป็นต้น
ด้าน นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เปิดเผยว่า จังหวัดอุบลราชธานีมีการวางรากฐานการพัฒนาเมืองในระยะยาว ภายใต้วิสัยทัศน์ "เมืองน่าอยู่ทันสมัย ประตูสู่การค้าการลงทุน ท่องเที่ยวหลายมิติ เกษตรสู่สากล" โดยกำหนดยุทธศาสตร์ ดังนี้ 1. การพัฒนาเมืองน่าอยู่ทันสมัยและเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของประชาชน 2. การส่งเสริมการค้าการลงทุน 3. การส่งเสริมและการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ 4. การยกระดับการผลิตและแปรรูปสินค้าเกษตรสู่สากล 5. การสร้างความมั่นคงและความปลอดภัยของประชาชน และได้เข้าร่วมลงทุนโครงการเมืองอัจฉริยะ Ubon Ratchathani's Smart City 2020 โดยนำนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้าไปสนับสนุนการพัฒนาจังหวัดในหลายมิติ ซึ่งได้ดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องหลายโครงการ ได้แก่ โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมจังหวัดอุบลราชธานี สู่ Industry 4.0 เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการแข่งขันให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม และส่งเสริมให้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้น อีกโครงการคือ การสร้างโมเดลปฏิรูปเกษตรอุตสาหกรรมจังหวัดอุบลราชธานีสู่ Smart Industry 4.0 เพื่อให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปของจังหวัดอุบลราชธานี ได้ใช้งานแอปพลิเคชัน Smart Industry 4.0 จังหวัดอุบลราชธานีในอนาคตอันใกล้นี้ ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกในการรับทราบและเชื่อมโยงข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์เกี่ยวกับอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป
การที่ภาครัฐผนึกกำลังสนับสนุนทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีที่สำคัญและนำบริการอัจฉริยะภาครัฐมาสนับสนุนในครั้งนี้ มั่นใจว่าจังหวัดอุบลราชธานีจะสามารถก้าวสู่โมเดล Ubon Ratchathani: Digital Local Government ได้อย่างยั่งยืน และสามารถยกระดับรายได้ต่อหัวประชากรสูงขึ้นในอนาคต