กรุงเทพฯ--23 ก.พ.--กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
กระทรวงดิจิทัลฯ เดินหน้า 5 โครงการสำคัญ หลังคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 วงเงินกว่า 2,254 ล้านบาท เน้นการพัฒนาพื้นที่ EEC หนุนการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม S-Curve ของประเทศ พร้อมต่อยอด "เน็ตประชารัฐ" ขยายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต เชื่อมต่อโครงข่ายไฟเบอร์ออปติก สู่ 3,196 โรงเรียน 812 โรงพยาบาล ในพื้นที่ห่างไกล เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนในพื้นที่ห่างไกล คาดแล้วเสร็จภายใน ก.ย. 61
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ประชุมมีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 งบกลางรายการค่าใช้จ่ายส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจภายในประเทศ (บิ๊กร็อก) ครั้งที่ 4 ให้กับกระทรวงดิจิทัลฯ เพื่อใช้ในการดำเนินงาน 5 โครงการสำคัญ วงเงิน 2,254.96 ล้านบาท ประกอบด้วย
1) โครงการขยายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต วงเงินกว่า 598 ล้านบาท โดยจะขยายเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และปรับปรุงโครงข่ายอินเทอร์เน็ตที่เป็นเทคโนโลยีแบบเก่าให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นด้วยไฟเบอร์ออฟติกไปยังโรงเรียนที่ยังไม่มีโครงข่ายไฟเบอร์ออฟติกไม่น้อยกว่า 3,196 แห่ง รวมถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลและสุขศาลาพระราชทาน 812 แห่ง รวมทั้งขยายความจุอินเทอร์เน็ตให้กับโรงพยาบาล เพื่อรองรับการตรวจรักษาทางไกล จำนวน 5 คู่ (10 แห่ง) และคัดเลือกคู่โรงพยาบาลแม่ข่ายและสุขศาลาพระราชทาน จำนวน 5 คู่ (10 แห่ง) รวมเป็นโรงพยาบาล 20 แห่ง ตามที่กระทรวงสาธารณสุขพิจารณาคัดเลือก
2) โครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) วงเงินกว่า 788 ล้านบาท สนับสนุนนโยบายในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม S-Curve ของประเทศ พร้อมทั้งการสร้างให้เกิดธุรกิจบริการรูปแบบใหม่ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ตลอดจนยังสนับสนุนให้มีโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในพื้นที่ EEC อันจะนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับประเทศ การยกระดับคุณภาพชีวิตและความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัย นักท่องเที่ยว ส่งเสริมการคมนาคมและขนส่งที่สะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสร้างการเชื่อมโยงข้อมูลของเมืองให้เป็นระบบนิเวศข้อมูลของเมืองและต่อยอดใช้ประโยชน์จากข้อมูล เช่น ข้อมูลการเดินทาง ข้อมูลวิถีชีวิตเพื่อการพัฒนานวัตกรรมที่เหมาะสมตามนโยบายของ EEC รวมถึงการจัดให้มีศูนย์ปฏิบัติการ EEC Operation Center เพื่อนำข้อมูลมาบริหารจัดการเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ
3) โครงการพัฒนาสภาพแวดล้อมและส่งเสริมการเติบโตของดิจิทัลสตาร์ตอัพ (Digital Startup) วงเงินกว่า 414 ล้านบาท เป็นโครงการส่งเสริมการเติบโตของดิจิทัลสตาร์ตอัพ โดยการส่งเสริม สนับสนุนให้ผู้ประกอบการดิจิทัลในระยะเริ่มต้น (Digital Startup) สามารถจัดตั้งดำเนินธุรกิจได้จริงในตลาด และยังเป็นการสร้างโอกาสและเครือข่าย Digital Startup ระดับนานาชาติ (Digital Startup International Network Events) ผ่านกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งการสร้างศูนย์ Digital Startup Maker Space ร่วมกับพันธมิตรภาคการศึกษา ภาครัฐ และภาคเอกชน ตลอดจนขยายโอกาสทางการตลาดสำหรับ Digital Startup ในการพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลเพื่อตอบโจทย์ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ซึ่งผู้ประกอบการ Digital Tech Startup สามารถจดจัดตั้งธุรกิจได้ในประเทศไทย อันก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น ตลอดจนเป็นกลไกและเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาประเทศด้วยดิจิทัล พร้อมทั้งสามารถเพิ่มการลงทุนและสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนและอุตสาหกรรมดิจิทัลของประเทศ
4) โครงการ Coding Nation วงเงินกว่า 236 ล้านบาท เพื่อการพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ระดับประเทศ ให้เป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนากำลังคนและบุคลากรด้านดิจิทัล รวมถึงการสร้างกำลังคนคุณภาพด้านดิจิทัลในระดับ Digital Professional และกำลังคนที่เป็น Digital Specialist ป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการยกระดับอุตสาหกรรมดิจิทัลของประเทศไทยสามารถพัฒนาและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล กิจกรรมโครงการจะมีการพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ระดับประเทศผ่านระบบ Coding Nation ประกอบด้วย ระบบการประเมินทักษะตนเอง การอบรมด้านทักษะดิจิทัล ในรูปแบบออนไลน์
5) โครงการจัดตั้งสถาบันไอโอที (IoT Institute) เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลแห่งอนาคต วงเงินกว่า 217 ล้านบาท เพื่อใช้ในการเตรียมความพร้อมและออกแบบ ทั้งนี้สถาบันไอโอทีจะตั้งขึ้นภายในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (ดิจิทัลพาร์ค ไทยแลนด์) โดยในช่วงของการจัดตั้งและก่อสร้างสถาบันจะมีกิจกรรมต่าง ๆ ดำเนินไปพร้อมๆ กัน ซึ่งโครงการนี้จัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0 (Industry 4.0) เพิ่มมูลค่าและขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับประเทศไทย รองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมใหม่ ที่สามารถตอบโจทย์ของประเทศด้าน New S-Curve อาทิ หุ่นยนต์ การบิน ยานยนต์ หรือแม้แต่ธุรกิจบริการ การปรับการดำเนินธุรกิจจากการพึ่งพาแรงงานที่ไทยกำลังจะประสบปัญหาจำนวนแรงงานจากภาวะการเข้าสู่สังคมสูงอายุ ไปสู่การผลิตบนฐานของระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีการผลิตยุคใหม่ จำเป็นต้องนำเข้าเทคโนโลยีทั้งเครื่องมือ อุปกรณ์ ระบบอัตโนมัติ รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ หากจะทำให้ไทยมีความได้เปรียบในการแข่งขันที่แท้จริง จะต้องมีการลงทุนเพื่อพัฒนาไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม (Innovation-Driven Economy) ทดแทนการลดลงของความได้เปรียบเรื่องกำลังแรงงาน ซึ่งต้องมีการลงทุนพัฒนาคุณภาพโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาทักษะแรงงาน การพัฒนาศักยภาพทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อจะสามารถสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศไทยในอนาคต
สำหรับ 5 โครงการข้างต้น เป็นส่วนหนึ่งที่กระทรวงดิจิทัลฯ พยายามผลักดันประเทศไทยสู่การเป็น "ไทยแลนด์ 4.0" เพื่อเป็นการวางโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล ที่ทำให้ทุกส่วนได้รับประโยชน์มากที่สุด รวมทั้งต้องการผลักดันให้ประเทศสามารถเติบโตได้จากภายในประเทศ ด้วยความยั่งยืนและขยายตัวอย่างต่อเนื่องสอดคล้องกับภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจะกลายเป็นศูนย์กลางการเติบโตของโลกในอนาคต โดยทั้ง 5 โครงการข้างต้น จะดำเนินการให้สำเร็จในปีงบประมาณนี้