ประเทศไทย ทิศทางเศรษฐกิจและปัจจัยเสี่ยง

ข่าวทั่วไป Monday September 3, 2007 16:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ก.ย.--ฟิทช์ เรทติงส์
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประเทศไทย จำกัด ได้จัดงานสัมมนาประจำปี ในหัวข้อเกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจของประเทศไทยและประเทศอื่นในเอเชีย หัวข้อในการสัมมนายังรวมถึงผลกระทบของตลาดสินเชื่อด้อยคุณภาพของสหรัฐอเมริกา (US subprime mortgage) ต่อธนาคารในภูมิภาคเอเชียด้วย
ฟิทช์ได้รับเกียรติจากคุณวิสิฐ ตันติสุนทร เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ มาเป็นประธานกล่าวเปิดงานสัมมนาในครั้งนี้ โดยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการถือเป็นหนึ่งในนักลงทุนรายสำคัญในตลาดทุนไทย คุณวิสิฐกล่าวว่า “ในขณะที่ประเทศไทยย่อมต้องได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายนอกประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่สภาพเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันอยู่ในระดับที่ดีที่จะรองรับความผันผวนจากภายนอกและสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจในประเทศที่อ่อนตัวลง นอกจากนี้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศน่าจะดีขึ้นในปี 2551 เมื่อมีความชัดเจนทางการเมืองมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี เราจะเห็นได้ว่าความผันผวนของตลาดการเงินของโลกโดยรวมได้เพิ่มขึ้น ในขณะที่การยอมรับความเสี่ยงของนักลงทุนมีแนวโน้มลดลง จากที่ช่วงก่อนหน้านี้ ความเสี่ยงในตลาดการเงินและอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน ดังนั้นการสัมมนาครั้งนี้ถือเป็นจังหวะที่เหมาะสมที่เราจะมาพูดคุยกันในเรื่องการบริหารความเสี่ยง”
James McCormack หัวหน้าทีมจัดอันดับเครดิตของประเทศในเอเชีย ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับเศรษฐกิจในประเทศไทยว่า การกลับคืนสู่ภาวะปกติของการเมืองเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ “การที่ประเทศไทยมีการเติบโตของอุปสงค์ในประเทศต่ำ และดุลการค้ามีส่วนสำคัญยิ่งต่อการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ทำให้ประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความอ่อนไหวค่อนข้างสูงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจโลกที่ลดลง” อย่างไรก็ตาม Mr.McCormack ระบุว่าอันดับเครดิตของประเทศไทยในปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่เหมาะสม และยังไม่มีปัจจัยอะไรที่ส่งผลกระทบของอันดับเครดิตของประเทศ
Mr.McCormack ยังอธิบายต่ออีกว่า ประเทศไทยและประเทศอื่นๆในภูมิภาคมีความพร้อมที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดทุน เนื่องจากมีระดับเงินทุนสำรองต่างประเทศที่สูง ดุลการชำระเงินที่แข็งแกร่ง และนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนที่ยืดหยุ่น อย่างไรก็ตาม Mr.McCormack กล่าวว่าประเทศในเอเชียยังคงมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก ผู้ดูแลนโยบายทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆในภูมิภาคต้องดำเนินนโยบายอย่างระมัดระวัง เพื่อป้องกันผลกระทบหากมีการเปลี่ยนแปลงในเงินลงทุนที่เข้ามาในประเทศ
David Marshall หัวหน้าทีมวิเคราะห์สถาบันการเงินแห่งภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก พูดถึงระดับการลงทุนของธนาคารในภูมิภาคเอเชีย แปซิ ฟิก ในสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อด้อยคุณภาพในตลาดอเมริกา โดย Mr.Marshall กล่าวว่า จากการสำรวจของฟิทช์ พบว่าการลงทุนในสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับตลาดสินเชื่อด้อยคุณภาพดังกล่าวค่อนข้างกระจายตัวและอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับส่วนทุนของธนาคาร โดยธนาคารที่ลงทุนในตราสารดังกล่าวมากที่สุดเมื่อเทียบกับส่วนทุนคือไทยธนาคาร ซึ่งลงทุนคิดเป็นร้อยละ 21 ของส่วนทุนของธนาคาร ตามมาด้วย Bank of China ซึ่งลงทุนคิดเป็นร้อยละ 17 ของส่วนทุนของธนาคาร (ถึงแม้ว่าเมื่อดูเป็นจำนวนเม็ดเงิน Bank of China ลงทุนในสินทรัพย์ประเภทนี้ถึงหนึ่งหมื่นล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา ในขณะที่ไทยธนาคารลงทุนห้าสิบล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา) ระดับการลงทุนของ Bank of China ดังกล่าวอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าผลกำไรจากการประกอบการในแต่ละปีของธนาคาร และการลงทุนส่วนใหญ่ก็ลงในหลักทรัพย์ที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ ‘AAA’ หรือ ‘AA’ ซึ่งคาดว่าไม่น่าจะเกิดผลขาดทุนมากนัก
Mr.Marshall ยังกล่าวอีกว่า “ฟิทช์คิดว่าผลกระทบโดยตรงอันเนื่องมาจากการลงทุนของธนาคารเอเชียในหลักทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อด้อยคุณภาพของสหรัฐอเมริกา น่าจะมีจำกัด แต่ฟิทช์ยังมีความกังวลว่าปัญหาตลาดสินเชื่อด้อยคุณภาพในสหรัฐอเมริกาอาจส่งผลกระทบทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นการที่ธนาคารในเอเชียเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นผู้ให้วงเงินเสริมสภาพคล่องให้กับนิติบุคคลเฉพาะกิจที่ออกตราสารหนี้ระยะสั้น (conduit) ที่ลงทุนในตราสารเหล่านี้, ผลกระทบจากการขาดทุนของบริษัทหลักทรัพย์จัดการของธนาคาร และผลกระทบจากการขาดทุนเนื่องจากการด้อยค่าของตราสาร CDO หรือตราสาร structured securities อื่นๆ ที่แม้จะไม่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อด้อยคุณภาพ และเป็นสินทรัพย์ที่มีคุณภาพดี แต่มูลค่าทางการตลาดตกลงเนื่องจากการขาดสภาพคล่องในตลาด”
Vincent Milton กรรมการผู้จัดการบริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ ประเทศไทย ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “แม้ว่าผลการประกอบการของธนาคารและบริษัทภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่จะลดลงจากปีก่อนจากการเติบโตภายในประเทศที่อ่อนตัวลง แต่ส่วนใหญ่แล้วธนาคารหรือบริษัทต่างๆเหล่านี้มีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง และการบริหารความเสี่ยงที่ดีขึ้น ที่จะรับมือกับปัจจัยลบต่างๆของตลาด ในปี 2551 ที่จะถึงนี้ ถ้าการใช้จ่ายจากการบริโภคและการลงทุนเพิ่มมากขึ้นอย่างที่คาดการณ์ไว้ ย่อมทำให้ผลการประกอบการฟื้นตัวขึ้นได้” อย่างไรก็ตาม Mr.Milton กล่าวอีกว่าธนาคารและบริษัทในภาคอุตสาหกรรมที่มีขนาดเล็กกว่าจะเผชิญความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น
ติดต่อ: James McCormack, ฮ่องกง, +852 2263 9925 james.mccormack@fitchratings.com, David Marshall, ฮ่องกง, +852 2263 9911/ david.marshall@fitchratings.com, Vincent Milton, กรุงเทพฯ, +662 655 4759 vincent.milton@fitchratings.com
คำจำกัดความของอันดับเครดิตและการใช้อันดับเครดิตดังกล่าวของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ สามารถหาได้จาก www.fitchratings.com อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต ได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวตลอดเวลา หลักจรรยาบรรณ การรักษาข้อมูลภายใน ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น แนวทางการเปิดเผยข้อมูลระหว่างบริษัทในเครือ กฎข้อบังคับรวมทั้งนโยบายและกระบวนการที่เกี่ยวข้องอื่นๆของฟิทช์ ได้แสดงไว้ในส่วน ‘หลักจรรยาบรรณ’ ในเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ