กรุงเทพฯ--26 ก.พ.--IR network
SCI จ่อคว้างานใหญ่ทั้งในและต่างประเทศ ดันธุรกิจเข้าสู่ปีทอง บิ๊กบอส "เกรียงไกร เพียรวิทยาสกุล"โชว์งานในมือกว่า 400 ล้านบาท จ่อเข้าประมูลงานใหม่ของภาครัฐ-เอกชนเพียบ ขณะที่โรงงานเสาส่งในเมียนมาร์ คาดเริ่มเดินเครื่องการผลิตช่วงต้น Q3/61 นี้ แย้มเตรียมจับมือกับพันธมิตรท้องถิ่นและจีน เข้าร่วมพัฒนาและประมูลงานสายส่งในเมียนมาร์ พร้อมให้ความมั่นใจโปรเจ็กต์งานรับเหมาในลาวยังเดินหน้าต่อแน่นอน ที่ช้าเนื่องจากทางการลาวอยู่ระหว่างเจรจาขายไฟเข้าระบบ หนุนรายได้-กำไร โตก้าวกระโดด ไม่ทำให้ผู้ถือหุ้นผิดหวัง
นายเกรียงไกร เพียรวิทยาสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีไอ อีเลคตริค จำกัด (มหาชน) หรือ SCI เปิดเผยว่า แผนการดำเนินงานในปี 2561 บริษัทฯยังคงมองหาลู่ทางขยายการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ เพื่อขยายฐานรายได้ให้กับบริษัทฯ โดยในส่วนของการลงทุนในประเทศปีนี้จะมีการลงทุนของบริษัทร่วมทุนคือ บริษัท ทียูทิลิตี้ส์ จำกัด หรือ TU ซึ่งเป็นบริษัทร่วมลงทุนระหว่าง SCI และบริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) หรือ PF โดย SCI ถือหุ้น45% เพื่อลงทุนในพลังงานทดแทนและสาธารณูปโภคต่างๆ
ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมา TU มีเป้าหมายรับงานโซลาร์รูฟบนหลังคาโรงงานอุตสาหกรรมขนาดกำลังการผลิต 20 เมกะวัตต์ ซึ่งได้มีการจ่ายไฟเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว ขนาดกำลังการผลิต 1 เมกะวัตต์ ที่เหลือคาดว่าจะทยอยติดตั้งแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ ส่วนโครงการอื่นๆยังคงอยู่ในขั้นตอนศึกษาความเป็นไปได้ โดยน่าจะเห็นความชัดเจนภายในปีนี้
สำหรับแผนการดำเนินงานในส่วนของธุรกิจเสาและสวิตซ์บอร์ดในปี 2561 นายเกรียงไกร กล่าวว่า คาดว่ายังเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในขณะนี้บริษัทฯพยายามจะขยายตลาดไปยังเมียนมาร์ ซึ่งรวมถึงงานรับเหมา EPC เช่นกัน หากได้งานที่เมียนมาร์ ก็จะช่วยเสริมสร้างรายได้ และกำไร ให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยเฉพาะในส่วนของรายได้ที่มาจากต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นการขยายฐานรายได้ และกระจายความเสี่ยงธุรกิจ โดยปัจจุบันมีงานในมือที่รอรับรู้รายได้จากในประเทศ (Backlog) ประมาณ 400 ล้านบาท แบ่งเป็นงานเสาของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ประมาณ 300 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นงานสวิตซ์บอร์ด
ส่วนความคืบหน้าการลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตเสาส่งแรงสูงและเสาสื่อสารโทรคมนาคม และชุบกัลป์วาไนซ์ ที่เมียนมาร์ คาดว่าจะสามารถเริ่มเปิดให้บริการได้ในช่วงไตรมาส 3/61 เพื่อขายประเทศเมียนมาร์ ซึ่งจะเริ่มรู้รายได้ตั้งแต่ไตรมาส 4/61 เป็นต้นไป
"ตลาดเสาส่งไฟฟ้าแรงสูงในเมียนมาร์มีโอกาสเติบโตได้อีกมาก เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายเร่งขยายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจ อีกทั้งภาคเอกชนก็เร่งขยายเครือข่ายโทรคมนาคมให้ครอบคลุมในทุกพื้นที่ นอกจากนี้ เราได้จับมือกับพันธมิตรในเมียนมาร์ และจีน เพื่อพัฒนาโครงการสายส่งร่วมกัน ซึ่งในขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ เราอยากจะรับงาน EPC เหมือนที่ สปป.ลาว โดยเรามุ่งหมายจะเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้รับเหมาในเมียนมาร์ ซึ่งทั้ง 2ธุรกิจนี้จะช่วยส่งเสริมกันและกัน
ส่วนผลการดำเนินงานในปี 2560 (มกราคม-ธันวาคม 2560) บริษัทและบริษัทย่อย มีรายได้รวม 1,678.29 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 19.96 ล้านบาท