กรุงเทพฯ--26 ก.พ.--ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาตร์
หลังจากทีมนักวิจัยจากศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โดยการสนับสนุนของ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ ทีเซลส์ (TCELS) ประสบความสำเร็จจากการถอดรหัสพันธุกรรมคนไทยคนแรกเมื่อเดือนมิถุนายน 2554 หรือ 8 ปีที่ผ่านมา โดยได้มีการขยายเครือข่ายเภสัชพันธุศาสตร์และจีโนมทางการแพทย์ไปยังกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่ปี 2555 โดยมีการประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนและอัพเดทความก้าวหน้าในการใช้นวัตกรรมบริการของแต่ละประเทศ กระทั่งล่าสุดปี 2560 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสถานบันจีโนมริเก้น ประเทศญี่ปุ่น ได้ร่วมกันสนับสนุนทุนวิจัยแก่ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ฯ เพื่อถอดรหัสพันธุกรรมยีนที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยา 100 ยีนในประชากรภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำนวน 1,000 คน
สามหน่วยงานพันธมิตร นำโดย ทีเซลส์ (TCELS) สานพลังร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมแถลงข่าว ถึงความสำเร็จของนักวิจัยที่ถอดรหัสจีโนมคนไทยเพื่อตรวจหาพันธุกรรมการแพ้ยาก่อนวางแผนการรักษาโรคเฉพาะบุคคล จนขยายผลไปสู่การตรวจประชากรในกลุ่มอาเซียน ณ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมา
ดร.ศิรศักดิ์ เทพาคำ รองผู้อำนวยการด้านวิชาการและนวัตกรรม ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ กล่าวว่า "ทีเซลส์ จับมือร่วมกับ รพ.รามาธิบดี จัดตั้งเครือข่ายเภสัชพันธุศาสตร์ระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ South East Asian Pharmacogenomics Research Network (SEAPHARM) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 เป็นต้นมา และได้มีการประชุมร่วมกันเพื่อระดมความคิดเห็นในการพัฒนางานวิจัยเพื่อเสริมความแข็งแกร่งด้านเภสัชพันธุศาสตร์และจีโนมทางการแพทย์ในระดับภูมิภาค โดยได้สลับสับเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพในแต่ละปี และในปีนี้ก็มีการประชุมขึ้นระหว่างวันที่ 22 – 23 กุมภาพันธ์ 2561 เพื่อร่วมระดมสมองในการสร้างเครือข่ายฯ โดยปีนี้พิเศษกว่าทุกปี คือ มีการประชุมนักวิจัยประเทศในกลุ่มอาเซียน เพื่อร่วมมือกันในโครงการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของประชากรไทย และอีก 8 ประเทศอาเซียนควบคู่ไปกับการถอดรหัส 100 ยีนที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยาที่เริ่มไปก่อนล่วงหน้า โดยการดำเนินการภายใต้โครงการดังกล่าวนี้คาดว่าจะสามารถส่งผลให้เกิดการพัฒนาแบบก้าวกระโดดสนับสนุนอุตสาหกรรม S-Curve ของประเทศไทยในด้านอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ"
ศาสตราจารย์ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิล กล่าวว่า "โครงการดังกล่าวเริ่มต้นจากศูนย์จีโนมทางการแพทย์ฯ ได้ทำการถอดรหัสจีโนมของคนไทยรายแรก ที่มีบรรพบุรุษอาศัยอยู่ในประเทศไทย 4 ชั่วอายุคน ด้วยการตรวจหาพันธุกรรมการแพ้ยา ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2554 กระทั่งประสบความสำเร็จจนขยายผลไปสู่การถอดรหัสพันธุกรรมยีนที่เกี่ยวข้องกับการให้ยาจำนวน 100 ยีน ในประชากรในประเทศสมาชิกอาเซียน ได้แก่ ไทย บรูไน พม่า ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ลาว เวียดนาม สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย โดยการสนับสนุนจากสถาบันวิจัยจีโนมริเก้น ประเทศญี่ปุ่น (RIKEN Center for Integrative Medical Sciences (IMS)) พร้อมไปกับการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมจากตัวอย่างดีเอ็นเอของชาติอาเซียนอีกจำนวนหนึ่งจากโครงการความร่วมมือกับสถาบันจีโนมปักกิ่ง (Beijing Genomics Institute) สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาสำคัญในด้านการรักษาด้วยยา 3 ประการคือ 1. ยาที่บางคนใช้แล้วจะเกิดแพ้อย่างรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต 2. ยาที่ใช้ไม่ได้ผลในบางบุคคล และ 3. การปรับปริมาณยาที่ใช้ในแต่ละบุคคลเพื่อให้ได้ผลการรักษาสูงสุด ร่วมไปกับการดำเนินโครงการย่อยด้านเภสัชพันธุศาสตร์อีก 6 โครงการ
"ซึ่งหากการวิจัยแล้วเสร็จ ก็จะกลายเป็นทางเลือกใหม่ ให้แพทย์ทั่วทั้งอาเซียนนำไปทดลองใช้ เพราะการรักษาแบบเดิมที่ต้องเลือกใช้ยากับผู้ป่วยแบบลองผิดลองถูก บางรายจำเป็นต้องยาราคาแพงต่อเนื่องแต่กลับเป็นยาที่ไม่ได้ผลทำให้ไม่หาย บางรายหายช้าเพราะขนาดยาที่ใช้น้อยหรือมากเกินไป และบางรายเกิดอาการแพ้ยา โดยบางกรณีไม่ใช่แค่ผื่นขึ้น แต่รุนแรงถึงขั้นพิการหรือเสียชีวิต หากปรับมาสู่การรักษาที่มุ่งเน้นการใช้ยาเฉพาะบุคคล ที่สอดคล้องกับพันธุกรรมของผู้ป่วย ก็จะปลอดภัยและเป็นมาตรฐานในการรักษาต่อไปในอนาคต" ศาสตราจารย์ ดร.วสันต์ กล่าว
ด้าน รศ.ดร.นพ. พงศกร ตันติลีปิกร ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านเครือข่ายวิจัยนานาชาติและวิเทศสัมพันธ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย กล่าวว่า "เป้าหมายของการสนับสนุนโครงการเครือข่ายวิจัยนานาชาติ หรือ IRN (The International Research Network) คือ การสร้างความเข้มแข็งด้านการวิจัย และแก้ปัญหาสำคัญของประเทศ อันจะนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพ และขีดความสามารถในการวิจัยของประเทศตามนโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัยของชาติ มีการจัดสรรทุนวิจัย ทุนพัฒนาเครือข่ายวิจัยนานาชาติ ทุนผู้ช่วยวิจัยระดับปริญญาเอก และนักวิจัยหลังปริญญาเอกให้กับแต่ละเครือข่ายฯ และการประชุม SEAPharm ในครั้งนี้ถือเป็นกิจกรรมแรกของเครือข่ายฯ การดำเนินการภายใต้โครงการดังกล่าวนี้คาดว่า จะสามารถส่งผลให้เกิดการพัฒนาแบบก้าวกระโดดสนับสนุนอุตสาหกรรม S-Curve ของประเทศไทยในด้านอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ นอกจากนี้ยังสร้างความแข็งแกร่งและความยั่งยืนให้กับการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมบริการและผลิตภัณฑ์ด้านเภสัชพันธุศาสตร์ และจีโนมทางการแพทย์ นอกจากนั้นยังเป็นการผลักดันให้ประเทศไทยได้เข้าไปมีบทบาทสำคัญในการเป็นประตูสู่อาเซียนด้านเภสัชพันธุศาสตร์และจีโนมทางการแพทย์ (Asian corridor of pharmacogenomics and genomic medicine) และเป็นการยกระดับการพัฒนางานวิจัย ด้านเภสัชพันธุศาสตร์ให้พัฒนาทัดเทียมนานาอารยะประเทศต่อไป"