กรุงเทพฯ--26 ก.พ.--สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน
นักศึกษาคณะสารสนเทศและการสื่อสาร ม.แม่โจ้ จ.เชียงใหม่ เจ๋ง! หันมาผลิตสื่อเพื่อสังคม ต่อยอดไอเดียจากการได้เรียนรู้ชีวิตจริงของผู้คนในสังคม ที่มีทั้งความหลากหลาย ความไม่เท่าเทียม หรือด้อยโอกาสในสังคม หวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับบุคคลไปจนถึงสังคม และประเทศชาติ อ.กริ่งกาญจน์ เจริญกุล อาจารย์คณะสารสนเทศและการสื่อสาร ม.แม่โจ้ จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาให้นักศึกษาในคณะสารสนเทศและการสื่อสาร ในการผลิตสื่อเพื่อสังคมดังกล่าว ในโครงการเยาวชนส่งเสียงเพื่อสื่อสารสังคมฯ ได้เล่าถึงเรื่องนี้ว่า
"จุดเริ่มต้นที่ให้นักศึกษาผลิตสื่อเพื่อสังคม จากการแนะนำของ 'พี่นก-เนตรดาว ยั่งยุบล' หัวหน้าโครงการเยาวชนส่งเสียงเพื่อสื่อสารสังคมฯ (สสย.) และอาจารย์พิเศษที่ม.แม่โจ้ พอได้ฟังรายละเอียดโครงการนี้จากพี่นกก็รู้สึกว่าเป็นโครงการที่ดีสำหรับนักศึกษามาก เลยลองให้นักศึกษาที่อาจารย์เป็นที่ปรึกษาอยู่จำนวน 6 คนเข้าร่วมโครงการนี้ก่อน ซึ่งจะว่าไปแล้วมันก็เป็นเหมือนโซเชี่ยแลปของอาจารย์ด้วยค่ะ ซึ่งก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการให้นักศึกษาลองผลิตสื่อเพื่อสังคม เราก็มีกระบวนการให้พวกเขาได้ค้นหาตัวเองก่อน โดยผ่านงานศิลปะ ซึ่งจากการทำงานศิลปะแล้วก็ได้พบว่า นักศึกษาปี 1 ยังค้นหาตัวเองไม่เจอ ว่าอยากเป็นอะไร อยากทำอะไร แต่นักศึกษาปี 3 ส่วนใหญ่มักจะค้นพบตัวเองแล้วว่าอยากจะไปทางด้านไหน ผลิตสื่อแบบไหน มีความชอบและความถนัดอะไร และจากกระบวนการนี้เราได้พบว่า เด็กๆ นักศึกษาต้องการพื้นที่ในการที่จะสร้างสรรค์ผลงาน และต้องการพื้นที่ในการนำเสนอตัวตน ยิ่งนักศึกษาที่เรียนทำสื่อฯ ด้วยแล้วยิ่งต้องการพื้นที่ ทางอาจารย์เองก็ใส่ในเรื่องของความเป็นพลเมืองและความเท่าทันสื่อเข้าไปให้พวกเขา ก็ยิ่งจะต้องมีพื้นที่ให้พวกเขาได้แสดงความคิดเหล่านั้นออกมา เป็นการจับเอาประเด็นทางสังคมมาให้พวกเขาได้สะท้อนสิ่งที่อยู่ข้างในออกมา"
"ถามว่าการทำโครงการนี้สามารถแก้ปัญหาอะไรกับสังคมได้ขนาดไหน สร้างการเปลี่ยนแปลงได้ขนาดไหน ตอนนี้เราเห็นการเปลี่ยนแปลงในระดับบุคคลค่ะ ยกตัวอย่างเช่น นักศึกษาปี 4 คนหนึ่งได้เลือกทำสารคดีในประเด็นทูตความดีของอดีตหัวหน้าแก๊งเอราวัณ เชียงใหม่ ระหว่างที่สารคดีชุดนี้อยู่เขาก็เปลี่ยนแปลงตัวเองเยอะมาก จากเมื่อก่อนเป็นเด็กที่พ่อแม่ต้องมานั่งเฝ้าหน้าห้องปกครองตลอด กลายเป็นเด็กที่มีความคิดและความรับผิดชอบมากขึ้น พึ่งเพื่อนน้อยลง จนกระทั่งเขาได้ถูกคัดเลือกให้ไปพูดที่งาน MIDL Week 2018 ที่กรุงเทพฯ และสารคดีที่เขาทำก็ได้ถูกนำไปฉายที่งานนั้นด้วย ทำให้เขาเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเอง ที่งานของเขาได้รับการยอมรับและได้เผยแพร่ในส่วนกลาง ซึ่งครอบครัวคนรอบข้างของเขาก็ภูมิใจไปด้วย อาจารย์เลยรู้สึกพอใจที่ได้เข้าร่วมโครงการนี้ การที่เราชวนให้เด็กๆ ไปเห็นโลกข้างนอกห้องเรียน แล้วเขาก็คิดประเด็นที่จะสื่อสารออกมา เขาได้ลงมือทำ และสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ตัวเองก่อน พอเขามั่นใจและเห็นคุณค่าของตัวเองแล้ว เขาก็จะไม่ไปยุ่งกับสิ่งที่ไม่ดี โครงการเยาวชนส่งเสียงเพื่อสื่อสารสังคมฯ เป็นโครงการที่ได้ให้นักศึกษาได้ขับพลังสร้างสรรค์ที่อยู่ในตัวเองออกมา และสื่อสารสู่สังคมในรูปแบบที่เขาดีไซน์เอง โดยเราคอยให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด แต่ไม่ตีกรอบความคิดของเขา ซึ่งตอนนี้อาจารย์ก็เอาโครงการนี้มาต่อยอดในวิชาสารคดีที่สอนอยู่ค่ะ ซึ่งก็ได้รับการตอบรับจากนักศึกษาเป็นจำนวนมาก ที่สนใจมาลงเรียนจนเกินลิมิตจากเดิมที่ตั้งใจเปิดรับแค่ 15 คน เพราะจะได้ดูแลงานนักศึกษาทุกคนได้ทั่วถึง กลายเป็นต้องขยายรับถึง 22 คน เพราะแต่ละคนที่มาก็มีความตั้งใจที่จะร่วมสื่อสารประเด็นทางสังคม ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมากค่ะ"
"โดยเป้าหมายจริงๆ ก็คือ เราไม่อยากสร้างเด็กขึ้นมาเพื่อป้อนเข้าสู่องค์กรอุตสาหกรรมสื่อขนาดใหญ่ ทั้งในยุคปัจจุบันและอนาคต แต่เราอยากสอนให้เด็กๆ เป็นนักคิด นักสร้างสรรค์ และนักพัฒนา สามารถสร้างสรรค์สื่อที่มีคุณค่า สร้างสรรค์ผลงานและอาชีพของตนเองได้อย่างมีศักยภาพในการสร้างรายได้และความภูมิใจให้ตัวเอง ในขณะเดียวกัน เขาก็จะต้องเป็นคนที่หันมามองสังคม มองผู้อื่นที่อยู่รอบๆ ตัว และลุกขึ้นมาทำอะไรเพื่อสังคมที่เขาอยู่ด้วย อาจารย์เชื่อว่ามันเป็นวิธีที่จะทำให้เขาอยู่รอดได้ในโลกอนาคตข้างหน้า"