กรุงเทพฯ--27 ก.พ.--สถาบันการบินพลเรือน
วันนี้ (26 กุมภาพันธ์ 2561) นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ด้านการพัฒนาบุคลากรด้านการบิน ระหว่าง สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) และ AGP Corporation (AGP) โดยมี Mr. Shiro Sadoshima เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ร่วมเป็นสักขีพยาน โดย พลเรือตรี ปิยะ อาจมุงคุณ ผู้ว่าการ สบพ. และ Mr. Eiichi Yamaguchi, President and CEO, AGP Corporation เป็นผู้ร่วมลงนามใน MOU ครั้งนี้ ณ ห้องประชุมชั้น 3 อาคารสโมสรและหอประชุม กระทรวงคมนาคม กรุงเทพฯ
สบพ. เป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคม และสมาชิกประเภท Full Member โครงการ ICAO TRAINAIR PLUS ขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization : ICAO) ผลิตบุคลากรด้านการบินมาแล้วกว่า 35,000 คน จาก 78 ประเทศทั่วโลก และ AGP ซึ่งเป็นผู้ให้บริการสนับสนุนงานด้านการบริการภาคพื้นในท่าอากาศยานของประเทศญี่ปุ่น มีสำนักงานตั้งอยู่ที่เมือง Tokyo ประเทศญี่ปุ่น มีความเชี่ยวชาญในการให้บริการอุปกรณ์สนับสนุนภาคพื้น และอุปกรณ์ในอาคารผู้โดยสาร มีผลงานเป็นที่ยอมรับระดับสากล อาทิเช่น ระบบ Ground Support Equipment, Airport Facilities, Aircraft Ground Handling เป็นต้น ในการนี้ สบพ. และ AGP เห็นพ้องร่วมกันถึงความสำคัญในการพัฒนาหลักสูตรช่างบำรุงรักษาอุปกรณ์ภาคพื้น (Ground Support Equipment) ให้กับสบพ. โดยมีแผนที่จะจัดทำหลักสูตรร่วมกัน โดยในเบื้องต้น AGP ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญมาร่วมทำ workshop กับคณะทำงานกองวิชาอากาศยานและเครื่องยนต์ของ สบพ. เพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดทำหลักสูตร รวมถึงการพัฒนาบุคลากร ในส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะส่งผลให้ สบพ.มีบุคลากร และมีหลักสูตรที่หลากหลายและครอบคลุมงานบริการภาคพื้นแบบครบวงจรและเป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยจะมีการขอรับการรับรองมาตรฐานหลักสูตรภายใต้มาตรฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ International Civil Aviation Organization (ICAO) ต่อไปด้วย การจัดตั้ง ศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบินและอวกาศอู่ตะเภา ของ สบพ.ตามนโยบายของรัฐบาล นั้น จึงเป็นการช่วยขับเคลื่อนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economics Corridor)
ที่สามารถเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตบุคลากรด้านการบินที่มีคุณภาพ และมีจำนวนเพียงพอสำหรับการรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ของประเทศไทยและภูมิภาคในอนาคต โดยเฉพาะธุรกิจการซ่อมบำรุงและการผลิตชิ้นส่วนอากาศยานให้มีประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากล อาทิ องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ( International Civil Aviation Organization - ICAO) คณะกรรมการและหน่วยงานความปลอดภัยการบินยุโรป (European Aviation Safety Agency -EASA) และสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐอเมริกา ( Federal Aviation Administration - FAA) เป็นต้น
หลักสูตรที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือในครั้งนี้ ยังเป็นการเพิ่มโอกาสให้แก่นักศึกษา สบพ. และผู้สำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพขั้นสูง (ปวส.) ในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องจากสถาบันอาชีวศึกษาทั่วประเทศ ให้สามารถเข้ามาศึกษาต่อในหลักสูตรช่างบำรุงรักษาอุปกรณ์ภาคพื้น (Ground Support Equipment) โดยมีระยะเวลาฝึกอบรม 1 ปี ส่งผลให้นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาหลักสูตรดังกล่าว มีความรู้ ความสามารถ ด้านการบำรุงรักษาอุปกรณ์ภาคพื้นในท่าอากาศยาน ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานในอุตสาหกรรมการบินมากขึ้นอีกด้วย
ในส่วนของรัฐบาลญี่ปุ่นโดย Mr. Shiro Sadoshima เอกอัคราชฑูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยได้กล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ได้มีความร่วมมือกันระหว่าง 2 หน่วยงาน ในการร่วมกันพัฒนาและผลิตบุคลากรด้านการบินให้กับนักศึกษาในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงของไทยให้ได้รับความรู้จาก AGP Corporation ซึ่งเป็นบริษัทที่มีความรู้ความสามารถในการดำเนินงานในด้านงานบริการภาคพื้นแบบครบวงจร ได้รับการยอมรับว่าเป็นบริษัทที่มีนโยบายการดำเนินงานที่ให้ความสำคัญในเรื่องมาตรฐาน ความปลอดภัย และมีการบริการที่ดีเยี่ยม เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกถึงคุณภาพที่ได้มาตรฐานในระดับสากล ด้วยความสัมพันธ์อันดีของรัฐบาลไทยและญี่ปุ่นที่มีมายาวนาน เราได้รับทราบว่า รัฐบาลไทยได้เชิญชวนให้ชาวต่างชาติเข้ามาร่วมลงทุนและดำเนินงานในพื้นที่ EEC ด้วยแล้วนั้น แต่การดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่ายังมีบริษัทจากประเทศญี่ปุ่นจำนวนไม่มากนักแสดงความสนใจเข้ามาร่วมลงทุนในพื้นที่ EEC ดังนั้น ความร่วมมือระหว่าง AGP และ สบพ.ในครั้งนี้ จึงถือเป็นการดำเนินงานร่วมกันภายใต้การสนับสนุนจากรัฐบาลของทั้ง ๒ ประเทศ และถือเป็นตัวอย่างความร่วมมือที่ดีที่แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จจากความสัมพันธ์อันดีของทั้ง ๒ ประเทศ ในฐานะผู้แทนรัฐบาลญี่ปุ่น ขอเรียนว่าเราพร้อมยินดีให้การสนับสนุนและส่งเสริมความร่วมมือของทั้ง ๒ หน่วยงานนี้ในทุกๆด้าน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศไทย ด้วยความเชื่อมั่นว่า นโยบายการดำเนินงานตามโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(Eastern Economics Corridor) นั้นไม่ใช่โครงการสำคัญของประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นโครงการสำคัญในภูมิภาคเอเชีย ถือเป็นโอกาสดีที่ประเทศไทย ประเทศญี่ปุ่นและประเทศต่างๆในอาเซียนจะสามารถเข้ามาร่วมลงทุนดำเนินงานในกิจการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมการบิน และในนามรัฐบาลญี่ปุ่น จึงขอเชิญชวนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนของญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในภาคอุตสาหกรรมใหม่ในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกของประเทศไทยต่อไป