กรุงเทพฯ--27 ก.พ.--ปตท.
ราคาน้ำมันเฉลี่ยรายสัปดาห์ลดลงทุกชนิด โดยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 1.75 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 63.77 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 1.52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 60.42 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 3.02 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 60.31 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 3.87 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 74.27 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลลดลง 4.25 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 74.87 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
- Baker Hughes บริษัทลูกของ General Electric Co. รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมัน (Oil Rig) ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 16 ก.พ. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 7 แท่น มาอยู่ที่ 798 แท่น สูงสุดตั้งแต่ เม.ย. 58
- Energy Information Administration (EIA) ของสหรัฐฯ รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ สัปดาห์สิ้นสุด 9 ก.พ. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า 20,000บาร์เรลต่อวัน เฉลี่ยอยู่ที่ 10.27 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์ สำหรับปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ปี พ.ศ. 2561 คาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 10.6ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2560 ที่ 9.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- รายงาน Drilling Activity Report ฉบับเดือน ก.พ. 61 ของ EIA คาดปริมาณการผลิต Shale Oil ของ 7 แหล่งสำคัญในสหรัฐฯ ในเดือน มี.ค. 61 จะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 110,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 6.76 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 9 ก.พ. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า 180,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 422.1 ล้านบาร์เรล เนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันแถบ Midwest เริ่มเข้าสู่ฤดูปิดซ่อมบำรุง
- Commodity Futures Trading Commission (CFTC) รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า NYMEX ที่นิวยอร์กและ ICE ที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุด 13 ก.พ. 61 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับสถานะถือครองสุทธิ (Net Long Position) ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 31,427 สัญญา มาอยู่ที่ 477,682สัญญา
- InterContinental Exchange (ICE) รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ Brent ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า ICE ที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุด 13 ก.พ. 61กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับ Net Long Position ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 32,054 3,209 สัญญา มาอยู่ที่ 542,935 สัญญา
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
- รายงานฉบับเดือน ก.พ. 61 ของ OPEC คาดอัตราการเติบโตของความต้องการใช้น้ำมันดิบโลกปี พ.ศ. 2561 อยู่ที่ 1.59 ล้านบาร์เรลต่อวัน (เพิ่มขึ้น 6,000 บาร์เรลต่อวันจากการคาดการณ์ครั้งก่อน) โดยมองว่าเศรษฐกิจของประเทศที่ความต้องการใช้น้ำมันสูง ยังเติบโตได้ดี
- รายงานฉบับเดือน ก.พ. 61 ของ IEA (International Energy Agency) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันของประเทศ OECD ในปี พ.ศ. 2560 ลดลง 154 ล้านบาร์เรล หรือ 420,000 บาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้ปริมาณสำรองสิ้นปีสูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี ที่ 52 ล้านบาร์เรล
- Reuters รายงานอินเดีย ประเทศผู้นำเข้าน้ำมันดิบอันดับ 3 ของโลก นำเข้าน้ำมันดิบ เดือน ม.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 12.5% และ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน13.6% อยู่ที่ 4.93 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากโรงกลั่นของรัฐเร่งอัตราการกลั่น ขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศแข็งแกร่งเนื่องจากรัฐบาลมีการลงทุนด้านระบบโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมาก
- Reuters รายงานเกาหลีใต้ ประเทศผู้นำเข้าน้ำมันดิบอันดับ 5 ของโลก นำเข้าน้ำมันดิบ ในเดือน ม.ค. 61 เพิ่มขึ้น
จากปีก่อน 7.1% มาอยู่ที่ 3.13 ล้านบาร์เรลต่อวัน
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบในตลาดซื้อขายล่วงหน้าในวันศุกร์ปิดตลาดเพิ่มขึ้น ตาม Sentiment เชิงบวกจากดัชนี Dow Jones ที่ปิดตลาดเพิ่มขึ้น โดยได้รับแรงหนุนจากข้อมูลเศรษฐกิจเชิงบวกของสหรัฐฯ อาทิ ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านและการอนุญาตก่อสร้างที่ปรับตัวสูงขึ้นในเดือน ม.ค. 61 ซึ่งสะท้อนตลาดอสังหาฯ แข็งแกร่ง ขณะที่Tanker-Tracker Oil Movement ของ Bloomberg รายงานปริมาณการส่งออกน้ำมันของ OPEC ณ วันที่ 3 มี.ค. 61 จะลดลงจากเดือนก่อน 80,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 24.55 ล้านบาร์เรลต่อวัน ด้านการผลิตน้ำมันในประเทศโคลัมเบียมีแนวโน้มลดลง จากการโจมตีท่อขนส่งน้ำมันดิบ Cano Limon-Covenas (กำลังการสูบถ่าย210,000 บาร์เรลต่อวัน) โดยกองโจร Marxist ELN ทำให้ท่อขนส่งขนาดใหญ่อันดับ 2 ของประเทศต้องหยุดดำเนินการ เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 61 ล่าสุดกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ของโคลัมเบียรายงานปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบในเดือน ม.ค. 61 ลดลงจากเดือนก่อน 1.2% มาอยู่ที่ 860,000 บาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ดีให้ติดตามปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน ด้วยการปรับปรุงท่า Louisiana Offshore Oil Port (LOOP) ที่เป็นท่ารับน้ำมันดิบนำเข้า ให้สามารถเป็นท่าส่งออกซึ่งสูบถ่ายน้ำมันลงเรือ VLCC ขนาด 2 ล้านบาร์เรล (เดิมผู้ส่งออกต้องใช้เรือขนาดเล็กขนส่งแบบ Ship to ship สู่เรือใหญ่ที่เทียบท่าไม่ได้ เพราะระดับน้ำมีความลึกไม่พอ) การขนส่งที่ลด Double Handling จะช่วยลดต้นทุนการส่งออกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ และสนับสนุนการส่งออก อนึ่งการประชุม IEA-IEF (International Energy Forum)- OPEC เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 61 ที่กรุงริยาด สมาชิก OPEC และ Non-OPEC เห็นพ้องว่ามาตรการควบคุมปริมาณการผลิตเป็นปัจจัยสนับสนุนราคาน้ำมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งซาอุดิอาระเบียและรัสเซีย แสดงความพร้อมในการให้ความร่วมมือเกี่ยวกับพลังงานด้านอื่นๆ ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 63.0 – 67.0เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 60.0 –64.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ Dubai จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 60.5 – 64.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินรายสัปดาห์ปรับลดลงตามราคาน้ำมันดิบและตลาดสิงคโปร์มีการซื้อขายน้ำมันเบนซินเบาบาง เนื่องจากเทศกาลตรุษจีน (Chinese New Year) ประกอบกับ บริษัท Essar Oil ของอินเดีย ออกประมูลขายน้ำมันเบนซิน 95 RON ปริมาณ 280,500 บาร์เรล ส่งมอบวันที่ 10-14 มี.ค. 61 และ บริษัทCNOOC ของจีน ออกประมูลขาย น้ำมันเบนซิน 92 RON ปริมาณ 272,000 บาร์เรล ส่งมอบวันที่ 15-16 มี.ค. 61ด้านปริมาณสำรองน้ำมันเบนซิน International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ของสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 13 ก.พ. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า 140,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 14.12 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 10 สัปดาห์ และ EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซิน เชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 9 ก.พ. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า 3.6 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 249.1 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม China Association of Automobile Manufacturers (CAAM) รายงานยอดขายยานพาหนะ (Vehicle Sales) ในจีน เดือน ม.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 11.6% มาอยู่ที่ 2.81 ล้านคัน เติบโตมากที่สุดในรอบ 11 เดือน และเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 และ ผู้ค้าในสิงคโปร์คาดบริษัท Pertamina ของอินโดนีเซียจะนำเข้าน้ำมันเบนซิน ในเดือน มี.ค. 61 ประมาณ 8.5 – 9.5 ล้านบาร์เรล เพิ่มขึ้นจากเดือน ก.พ. 61 ที่นำเข้าประมาณ 8.0 ล้านบาร์เรล ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซิน จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 74.0 – 78.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลรายสัปดาห์ปรับลดลงจาก Platts รายงาน Arbitrage น้ำมันดีเซล จากเอเชียสู่ยุโรปปิด ขณะที่ตะวันออกกลางและอินเดียส่งออกน้ำมันดีเซลมายังสิงคโปร์ต่อเนื่อง อีกทั้งอุปทานจากผู้ผลิตในเอเชียเหนือมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง บริษัท CPC ของไต้หวัน ออกประมูลขายน้ำมันดีเซล เป็นครั้งแรกตั้งแต่เกิดเหตุระเบิดที่ โรงกลั่น Taoyuan (กำลังการกลั่น 200,000 บาร์เรลต่อวัน) เมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว โดยออกประมูลขายน้ำมันดีเซล 0.005%S ปริมาณ 240,000 บาร์เรล ส่งมอบวันที่ 15-25 มี.ค. 61รวมถึงบริษัท JXTG Nippon Oil & Energy Corp. ของญี่ปุ่น เริ่มดำเนินการหน่วย CDU No. 3 (กำลังการกลั่น 9,000 บาร์เรลต่อวัน ) ที่โรงกลั่น Mizushima-B (กำลังการกลั่น 250,000 บาร์เรลต่อวัน) เมื่อวันที่ 9 ก.พ. ที่ผ่านมาหลังปิดซ่อมจากเหตุขัดข้องตั้งแต่วันที่ 30 ม.ค. 61 และหน่วย FCC (กำลังการผลิต 2,600 บาร์เรลต่อวัน) ที่โรงกลั่น Oita (กำลังการกลั่น 136,000 บาร์เรลต่อวัน) กลับมาดำเนินการ หลังปิดซ่อมจากเหตุขัดข้องตั้งแต่วันที่ 16 ม.ค. 61อย่างไรก็ตาม บริษัท Egyptian General Petroleum Corp. (EGPC) ของอียิปต์รายงานปริมาณส่งออกน้ำมันดีเซล เดือน ม.ค. 61 ลดลงจากเดือนก่อน 179,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 702,000 บาร์เรล ด้านปริมาณสำรอง IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ของสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 13 ก.พ.61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า 1.44 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 7.71 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 4 ปี และ EIA รายงานปริมาณสำรอง Distillates เชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 9 ก.พ. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า 400,000 บาร์เรล อยู่ที่ 141.4 ล้านบาร์เรล ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซล จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 74.5 – 79.06 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล